วัดปราสาทแก้ว หรือ บ้านพระปืด

บ้านพระปืด แต่เดิมชื่อ บ้านประปืด ซึ่งสันนิษฐานว่า “ประปืด” คงเพี้ยนมาจากคำว่า “เปรียะปืด” ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างภาษาเมืองเขมรกับกูย คำว่า บ้านประปืด ได้เรียกกันมานานแล้ว แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็น “บ้านพระปืด”

สร้างมาแต่เมื่อใด ใครเป็นผู้สร้างไม่อาจจะค้นคว้าหาหลักฐานได้ เพราะไม่พบศิลาจารึกหรือการจดลายลักษณ์อักษรไว้แต่ใด แต่สันนิษฐานว่า คงสร้างรุ่นราวคราวเดียวกับเมืองปทายสมันตในอดีต (เมืองสุรินทร์) ประมาณ 2,000 ปีเศษมาแล้ว ยังมีชุมชนโบราณรอบ ๆ ที่เป็นเมืองบริวารอีก 4 แห่ง กล่าวคือ

  1. ชุมชนโบราณบ้านสลักได
  2. ชุมชนโบราณบ้านแสลงพัน
  3. ชุมชนบ้านพระปืด
  4. ชุมชนบ้านแกใหญ่

ลักษณะการก่อสร้างคล้ายคลึงเมืองสุรินทร์ แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีคูน้ำ มีกำแพงดินแบบเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้มีการอนุรักษ์ไว้ และคงรูปเดิมมากที่สุด เชื่อแน่ว่า ในอดีตคงจะเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่ง เคยมีถนนโบราณออกจากเมืองสุรินทร์ ทางทิศตะวันออกขนาดกว้าง 12 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร ผ่านบ้านแสตง บ้านหนองตะครอง บ้านภูดินไปถึงบ้านพระปืดและเลยไปบ้านแสรออ ที่มีปราสาทโบราณ (ปราสาททอง) อยู่ด้วย 1 แห่งแต่บัดนี้ได้ถูกทำลายไปหมดสิ้นแล้ว จากตำนานคำบอกเล่าที่เป็นที่มาของ บ้านพระปืด

ตำนานที่ 1 

 นานมาแล้วมีชาวกวยบ้านจอมพระไปขุดเผือก ขุดมันในป่า แล้วมีตัวอะไรมาเลียแผ่นหลังชาวบ้านคนนั้นตกใจจึงขว้างเสียมไปถูกสัตว์นั้นวิ่งหนีไป มองไว ๆ เห็นเป็นกวางขนทอง (บ้างเล่าว่ามีกระดิ่งทองผูกคอด้วย) จึงวิ่งตามไป ทว่าเห็นแต่รอยเลือด เมื่อแกะรอยไปเรื่อย ๆ ผ่านไปหลายหมู่บ้าน (เช่น บ้านแสรออ) จนใกล้เที่ยงจึงหยุดกินข้าว (ต่อมาได้ชื่อ บ้านฉันเพล) แล้วตามไปจนถึง “บ้านเมืองที”  จากนั้นรอยเลือดนั้นก็หายไปบริเวณป่าแห่งหนึ่ง เขาก็ไม่ย่อท้อสู้บุกฟันฝ่าเข้าไป ในที่สุดก็พบปราสาท เมื่อเห็นพระพุทธรูปที่อยู่ข้างใน เขาก็พลันร้องขึ้นด้วยความประหลาดใจว่า “เปรี๊ยะ!!ปืดๆๆ” เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ เขาเห็นเลือดซึมออกมาจากพระชงฆ์ (แข้ง) ขวา จึงเชื่อว่า กวางทองก็คือพระพุทธรูปองค์นั้นเอง

เปรี๊ยะปืด เป็นภาษากูย แปลว่าพระใหญ่ เชื่อกันว่าคำอุทานของชาวกวยนี้เองคือที่มาของชื่อหมู่บ้านพระปืด

ตำนานที่ 2 

เมื่อราว พ.ศ. 2300 “เชียงปุม” กับ”เชียงปืด” สองพี่น้องชาวกูยได้มาตั้งหมู่บ้านเมือง ที่ต่อมาเชียงปุมจับช้างเผือกส่งคืนให้กษัตริย์กรุงศรีอยุธยากระทั้งได้รับบำเหน็จเป็นเจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก เมื่อหมู่บ้านเมืองที่มีคนหนาแน่นมากขึ้น ตาพรหม(สันนิษฐานว่าเป็นลูกของเชียงปืด) จึงนำครอบครัวบางส่วนอพยพมาอยู่บริเวณปราสาทพระปืด ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนมาก่อนนั่นเอง ดังนั้นชุมชนปัจจุบันน่าจะสืบเนื่องมาจากคนรุ่นตาพรหม คะเนอายุน่าจะตกประมาณ 200 – 500 ปี เป็นอย่างต่ำ บ้านพระปืดจึงอาจจะมาจากชื่อ “เชียงปืด” อีกทางหนึ่งด้วย

ปัจจุบันพระปืด เหลือแต่คนพูดภาษาเขมร ในขณะที่ชื่อหมู่บ้านและชื่อวัดเป็นภาษากวย ส่วนโบราณสถานภายในวัดกลับร่วมขนบของศิลปะลาวและ จากปากคำของคนปัจจุบันที่รุ่นคุณปู่เคยอพยพครอบครัวมาอยู่ที่บ้านแห่งนี้เล่าว่า บ้านเมืองแถบนี้มีลาวอาศัยอยู่ก่อนแล้ว บ้านพระปืดนี้มีโบราณสถานคือ ปราสาทแก้ว ถือว่าเป็นชุมชนโบราณอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์

การขุดพบกระดูกมนุษย์โบราณบ้านพระปืด  เมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งมีไหทำด้วยภาชนะดินเผาตามความเชื่อของคนโบราณจะนำไปฝังอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน และร่องรอยการขุดพบมีให้เห็นถึงปัจจุบัน โดยครั้งก่อนนี้มีการพบเทวรูป เครื่องประดับที่เป็นกำไล อยู่เป็นเนือง

 วัดบ้านพระปืด หรือ วัดปราสาทแก้ว ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองชั้นใน ริมคูเมือง ด้านตะวันออก ที่ตั้งของวัดค่อนไปทางทิศเหนือของหมู่บ้าน องค์ปราสาทโบราณ (ปราสาทแก้ว) สร้างด้วยศิลาแลง แต่ไม่มีลวดลายใดๆ ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นสมัยใด ณ องค์ปราสาทแห่งนี้มีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่ 1 องค์ ซึ่งมีลักษณะสวยงามมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ถูกมารศาสนามาลักลอบ ตัดเอาเศียรไป เมื่อ พ.ศ. 2523 ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสได้ให้ช่างสร้างเศียรใหม่ เล่ากันว่า เมื่อได้ทำการถางบริเวณรอบๆปราสารทนั้น มีพระพุทธรูปเล็กๆเรียงรายอยู่รอบปราสาทเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบัน หายหมดแล้ส นอกจากพระพุทธรูปในองค์ปราสาทแล้ว ยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีก 1 องค์ ซึ่งมีขนาดพอคนที่ยกสบายๆ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ อยู่ที่การเสี่ยงทาย ยกองค์ท่าน ผู้เสี่ยงทายต้องอธิฐานเสียก่อน เช่น จะประกอบกิจการสิ่งใด หากสำเร็จดังปรารถนา ก็จะสามารถยกองค์พระพุทธรูปได้ ซึ่งเจ้าอาวาสและชาวบ้านก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกัน

ปราสาทแก้ว(วัดพระปืด)

โบราณสถานปราสาทแก้ว ตั้งอยู่ในวัดปราสาทแก้ว บ้านพระปรือ ตำบลบ้านแร่ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เป็นอุโบสถเป็นแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้าง ๖.๕ มตร ยาว ๑๐.๕ เมตร ยกพื้นสูง ๑.๖ เมตร ส่วนฐานอุโบสถถมด้วยดิน มีการก่ออิฐที่ผนังด้านนอกโดยด้านล่างสุด รองรับด้วยแท่งศิลาแลง ด้านหน้าทางทิศตะวันออก มีขั้นบันไดทางขึ้น ๒ ข้าง ทางเดินปูด้วยแท่นศิลาแลงอยู่โดยรอบ ที่ขอบนอกสุดมาเสารองรับหลังคาปีกนกที่คลุมอาคารไว้ทุกด้าน

ผนังอุโบสถทำเป็นไม้ระแนง ปูพื้นด้วยแผ่นกระเบื้องดินเผา มีเสาไม้รองรับหลังคา ๒ ชั้น ภายในอุโบสถมีอาคารที่เรียกว่า อูบมุง ตั้งอยู่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง ถัดขึ้นมาเป็นส่วนเรือนธาตุ ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปผนังด้านทิศตะวันออกทำเป็นซุ้มทางเข้า ที่ผนักด้านนอกประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ ผนังด้านทิศตะวันออกปรากฏร่องรอยปูนฉาบไว้ค่อนข้างมาก ส่วนยอดซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปคล้ายทรงกระโจม โบราณสถานหลังนี้สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบศิลปะลาว ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔

DCIM100MEDIADJI_0035.JPG

สำนักศิลปากร ที่๑๐ นครราชสีมา

โทร ๐๔๔ ๔๗๑๕๑๘