ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดเวตวันวิทยาราม

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2478 มีพระธุดงค์หลายรูปมักมาปักกรดพักแรมอยู่เป็นประจำในบริเวณป่าหวาย และป่าไม้ก่ออันร่มรื่น อันเป็นที่ตั้งของวัดในปัจจุบันซึ่งในสมัยนั้นเป็นที่ร้างว่างเปล่า นายทัน พวงแก้ว ได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านเห็นควรตั้งวัดประจำหมู่บ้าน และที่เหมาะในการตั้งวัดควรจะเป็นที่พระธุดงค์มักมาพักแรมจึงได้สงวนที่ไว้เป็นเขตสำหรับการตั้งวัดต่อมาได้พากันปลูกเพิ่งพัก (คล้ายเพิงหมาแหงน) ไว้สำหรับเป็นที่นิมนต์พระให้พักอาศัยชั่วคราวเมื่อถึงเทศกาลทำบุญ ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2482 นายทัน พวงแก้ว ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ได้พร้อมใจกันกับชาวบ้านสร้างกุฏิถาวร ขึ้น 1 หลัง ทำด้วยไม้ตะเคียนมุงด้วยสังกะสี (ซึ่งยังปรากฎในปัจจุบัน) แล้วไปรื้อศาลาการเปรียญที่วัดร้าง (วัดหลวงเมืองเก่าในปัจจุบัน ไม่มีพระอยู่) มาปลูกเป็นศาลากลางเปรียญเป็นการถาวร และได้ตั้งชื่อว่า”วัดเวตวันวิทยาราม” ตามชื่อปาหวาย”เวตตะ” แปลว่า ต้นหวาย “วนะ” แปลว่าป่า ขณะนั้นบ้านป่าก่อ บ้านเมืองเก่า ไม่มีโรงเรียนประชาบาล จึงขอใช้ศาลาการเปรียญเป็นโรงเรียนสอนเด็กนักเรียนโดยนิมนต์เจ้าอาวาสมาเป็นครูสอน ฉะนั้นวัดเวตะวัน จึงมีคำว่า “วิทยา” มาต่อท้ายเพราะเหตุที่มีโรงเรียนในวัด เมื่อสร้างกุฏิได้นำความไปปรึกษา พระครูอุดมเดชบริหาร (เกษม นทปัญโญ)เจ้าคณะอำเภอเดชอุดม ในขณะนั้น เพื่อขอพระมาอยู่ประจำจึงได้พระสินทร ยสินธโร มาเป็นเจ้าอาวาส แต่พระสินทรก็อยู่ได้เพียงพรรษาเดียวทางวัดแสงเกษมจึงส่งพระอธิการเสรี สารปัญโญเจ้าคณะตำบลเมืองเดช มาเป็นเจ้าอาวาสระยะนี้ได้มีบูรณะวัดหลายด้านพร้อมทั้งสร้างกุฏิขึ้นอีก 1 หลัง พ.ศ. 2500 สร้างขึ้นอีกหนึ่งหลัง แล้วพระอธิการเสรี ก็ได้ลาไปจำพรรษาที่วัดสระแก้ว อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี ชาวบ้านจึงได้ไปนิมนต์พระสัญญา สารธัมโม วัดแสงเกษม มาเป็นเจ้าอาวาส พระสัญญา ได้ต่อเติมกุฏิใหญ่จนเสร็จสมบูรณ์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2506 พระสัญญาสารธัมโม ก็ลาสิกขาบทเมื่อเจ้าอาวาสว่างลงอีกชาวบ้านได้ไปนิมนต์ พระอาจารย์อ้วน สุนทโร(พระครูพิพิธพัฒนโกศล) จากบ้านหนองบัวฮีใหญ่อำเภอพิบูลมังสาหารมาเป็นเจ้าอาวาสและในปี พ.ศ. 2507 ได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญขึ้นแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2514 – 2515 ได้ก่อสร้างอุโบสถขึ้น 1 หลังโดยใช้เวลานานถึง 12 ปีเต็ม สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงินจำนวน 3,253,795.00 บาท

อุโบสถ

ในการดำเนินการก่อสร้างอุโบสถ ที่ใช้ระยะเวลาอันยาวนานถึง 12 ปีนั้นกว่าจะสำเร็จลงได้ ก็ด้วยความศรัทธาอันบริสุทธิ์ของเราชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลายด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวบ้านก่อบ้านหนองแสงใต้ต้องใช้ผู้นำคือผู้ใหญ่บ้านถึง 3-4 ท่านด้วยกันเริ่มจากผู้ใหญ่บ้าน คือ (1)นายอ่อน แสงคำ(25 15) (2)นายประดิษฐ์ บุญอนันต์ (3) นายกอง จันทร์พันธ์ แล้วกลับมาเป็น (4) นายประดิษฐ์ บุญอนันต์ อีกวาระหนึ่งผู้ใหญ่บ้านหนองแสงใต้ คือนายประศาสน์ รักผลดี (ช.ปลา) นายมโน สาหมาน (2 สมัย) และ นายบัญชา สายเสมา ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน

เจดีย์อนุสรณ์สถานพระครูพิพิธพัฒนโกศล

ประวัติเจ้าอาวาส

พระครูเวตวันวรกิจ (จรัส สารธมฺโม)

เจ้าคณะอำเภอเดชอุดม ชั้นเอก เจ้าอาวาสวัดเวตวันวิทยาราม

  • เกิดเมื่อ วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2501 มีนามว่า จรัส นามสกุล บุญใจรักษ์ บิดาชื่อ นายค่า มารดาชื่อ นางประเทือง บุญใจรักษ์ บิดามารดามีอาชีพทานา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน ส่วนท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของครอบครัว
  • อุปสมบท เป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเวตวันวิทยาราม ตำบลเมืองเดชอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูพิพิธพัฒนโกศล (อ้วน สุนทโร) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวรสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระบุญมา กลยาโณเป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ได้รับฉายาว่า สารธมฺโม ซึ่งแปลว่า “ผู้มีธรรมเป็นแก่นสาร”
  • ด้านการปกครอง
    • พ.ศ. 2528 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเวตวันวิทยาราม ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ตราตั้งที่ 10/2528 วันที่ 5 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2528
    • พ.ศ. 2529 ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
    • พ.ศ. 2535 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเวตวันวิทยาราม ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
    • พ.ศ. 2539 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเวตะวันวิทยาราม ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานีตราตั้งที่ 10/2539 วันที่ 29 เดือนมกราคม พ.ศ. 2539
    • พ.ศ. 2545 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท (จร.ชท) ราชทินนามที่”พระครูเวตวันวรกิจ”
    • พ.ศ. 2546 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตตำบลเมืองเดช เขต 2 อำเภอเดชอุดมจังหวัดอุบลราชธานี ตราตั้งที่ 61/2546วันที่ 13 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546
    • พ.ศ. 2547 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเมืองเดช เขต 2 อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
    • พ.ศ. 2547 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอเดชอุคม อำเภอเดชอุดมจังหวัดอุบลราชธานี ตราตั้งที่ 3/2547นที่ 16 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2547
    • พ.ศ. 2553 ได้รับประทานเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการจากพระครูสัญญาบัตรรองเจ้าคณะอำเภอชั้นโทเป็น ชั้นเอก (รจอ.ชอ) ราชทินนามเดิม
    • พ.ศ. 2554 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเดชอุดม ชั้นโท (จอ.ชท.) วันที่ 11 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554 พ.ศ. 2557 ได้รับประทานเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการ พระครูเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก (จอ.ซอ.) วันที่ 5 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน
โรงเรียนวัดเวตวันวิทยาราม

ประวัติหมู่บ้านป่าก่อ

วัดเวตวันวิทยาราม ตั้งอยู่ที่ ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อปีพ.ศ. 2471 มีราษฎรจากบ้านเมืองเก่า5-6 ครอบครัว นำโดย นายดี สระแผง นายอัน พลรักษ์ นายธรรม พลรักษ์ นายทอน พรมรินทร์ และนายสา นารินทร์ ได้อพยพครอบครัวออก จากบ้านเมืองเก่า มาแผ้วถางป่าบริเวณด้านทิศใต้ของลำห้วยตลาดเพื่อตั้งรกรากอยู่อาศัย เพราะเป็นทำเลที่เหมาะสม มีน้ำท่าบริบูณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก หลังจากนั้นได้มีชาวบ้านจากถิ่นใกล้เคียงและอำเภอต่างๆ ได้อพยพมาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทางการเห็นว่าควรตั้งเป็นหมู่บ้านได้อีกหมู่บ้านหนึ่งและบริเวณนี้มีต้นก่อขึ้นอยู่หนาแน่น ไม้ก่อเป็นไม้เนื้ออ่อน ผลรับประทานได้ ชาวบ้านจึงขนานนามหมู่บ้านนี้ “ป่ากอ” ทางราชการจึงได้ตั้งชื่อตามที่ชาวบ้านพากันเรียกเป็นหมู่บ้านที่ 13 ขึ้นต่อตำบลเมืองเคชในสมัยนั้น และแต่งตั้ง นายชม พันธ์ธัง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก นายทัน พวงแก้ว นายสมศักดิ์บุญต่อ นายทัน พวงแก้ว นายอ่อน แสงคำนายกอง จันทร์พันธ์ นายประดิษฐ์ บุญอนันต์ (2539) นายนิยม ถิ่นขาม (2542)นายสมศรี วิปันโน (2547) นายไสว ทองงอกผู้ใหญ่บ้านคนสุดท้าย ปัจจุบัน เป็นเทศบาลเมืองเดชอุดม จึงไม่มีผู้ใหญ่บ้าน