ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
Wat Warinthararam Warin Chamrap Subdistrict, Warin Chamrap District, Ubon Ratchathani Province
ความเป็นมา
วัดวารินทราราม เดิมคือวัดคำน้ำแซบ ตั้งริมฝั่งตะวันออกของลำน้ำคำน้ำแซบ บ้านคำน้ำแซบ ตำบลธาตุ อำเภอทักษิณูปนิคม ในสมัยนั้น (เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอวารินชำราบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓) โดยการนำของพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร) วัดทุ่งศรีเมือง เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี
วัดวารินทราราม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ปัจจุบันตั้งอยู่ เลขที่ ๘๕ ถนนทหาร ตำบล วารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๔ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยยาว ๒ เส้น กว้าง ๒ เส้น และได้สร้างพระอุโบสถขนาดกว้าง ๙.๓๑ เมตร ยาว ๒๒.๖๔ เมตร สูง ๑๐.๓๐ เมตร ตรงกับวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นศุภฤกษ์ โดยพระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นผู้วางอิฐทองก้อนแรกลงในฐานรากพระอุโบสถ
ลำดับเจ้าอาวาส
ตั้งแต่ปีก่อตั้งวัดจนถึงปัจจุบัน มีเจ้าอาวาส จำนวน ๑๘ รูป เฉพาะรูปที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ดังนี้
๑๒. พระครูวุฒิกรพิศาล (ทุย ธมฺมทินโน ๒๔๗๒ – ๒๕๐๑)
๑๓. พระครูกมลวิสุทธิ์ (โชติ มหปฺผโล ๒๕๐๑ – ๒๕๑๒)
๑๔. พระครูวิรุฬสุตการ (ลุน ญาณสาโร ๒๕๑๓ – ๒๕๒๓)
๑๕. พระครูสุพจน์อุบลรัตน์ (สุข สุวโจ ๒๕๒๓ – ๒๕๒๙)
๑๖. พระวิบูลสิทธิคุณ (คำ จนฺทสาโร ๒๕๓๐ – ๒๕๕๓)
๑๘. พระศรีรัตโนบล (สุริโย อุตฺตมเมธี ป.ธ.๙, พธ.บ., Ph.D. ๒๕๕๕ – ปัจจุบัน)
ด้านการศาสนศึกษา ได้สืบต่อการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลีจนมีนักเรียนสอบได้อันดับต้น ๆ ของจังหวัดทุกปี และในปี ๒๕๖๓ มีสามเณรสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค (นาคหลวง) ในนามโรงเรียนบาลีพรหมกวีศึกษา สำนักศาสนศึกษาวัดวารินทราราม คือ สามเณรณัฐวุฒิ บรรพชาติ และเป็นศูนย์การเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประโยค ป.ธ. ๖ – ๙ ประจำภาค ๑๐ และได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญชื่อโรงเรียนวารินทร์พรหมสิทธิวิทยา เปิดสอนระดับ ม. ๑ – ๖
ด้านการสาธารณูปการ
ได้ปรับปรุงบูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างเสนาสนะภายในวัดให้เพียงพอสำหรับพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาพักอาศัยเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม จำนวน ๑๒๐ รูปขึ้นไปในแต่ละปี และพิเศษกว่านั้น ทางวัดได้มีโครงการสร้างพระมหาธาตุวาริน ประจำอำเภอวารินชำราบ ขนาดกว้าง ๔๕ เมตร สูง ๘๐ เมตร รวม ๖ ชั้น โดยคาดประมาณ ๖๐ ล้านบาท เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและสำหรับสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ซึ่งอยู่ในระยะแรกถมดิน จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนผู้ใจบุญ ได้ร่วมกันสร้างมหากุศลอันยิ่งใหญ่เพื่อเป็นอนุสรณ์มงคลชีวิตแก่ตนเองในครั้งนี้โดยทั่วกัน.