ตำบลสิงห์ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

ความเป็นมา

วัดหนองแสง สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ตั้งอยู่เลขที่ ๖๗ หมู่ที่ ๖ ตำบลสิงห์ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ปัจจุบัน พระมหาธานี ญาณวิสุทฺโธ (พระมหาเข้ม) เป็นเจ้าอาวาส ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ เป็นวัดปฏิบัติพระป่ากรรมฐานสายองค์หลวงปู่เสาร์ กันฺตสีโล และ องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต โดยมีศิษย์องค์สำคัญที่ได้มาพักปฏิบัติธรรมและเผยแผ่ธรรมะ อาทิ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ฝั่น อาจาโร หลวงปู่ดี ฉันโน หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมฺปันฺโณ  หลวงปู่บุญช่วย ธัมฺมวโร หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร และหลวงปู่มหาอุทัย ปภัสสโร เป็นต้น วัดหนองแสงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๗ กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร 

พระพุทธวิหารเจดีย์
ประดิษฐานพระพุทธสิริสัตตราช หรือ หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์องค์จริง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บุญบารมีขององค์หลวงปู่สอ พันฺธุโล และจัดเก็บอัฐบริขารขององค์หลวงปู่ด้วย สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒

เสนาสนะสำคัญ

๑. อุโบสถ กว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙
๒. ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๕ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และได้บูรณะขยายเพิ่มอีกเป็นขนาดกว้าง ๑๖.๕๕ เมตร ยาว ๓๓ เมตร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด

พระพุทธสิริสัตราช หรือ พระหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ (องค์จริง) ขนาดสูง ๑๕ นิ้ว อายุ ๙๐๗ ปี (เนื้อสัมฤทธิ์) พระหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ (องค์จำลอง) หน้าตัก ๙๙ นิ้ว (เนื้อโลหะ) สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ รุ่นแรก

มีตำนานเกี่ยวกับองค์หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ว่า มีกษัตริย์ ๗ พระองค์เป็นมิตรสหายกันและเป็นศิษย์ร่วมสำนักครูอาจารย์เดียวกัน เมื่อทั้ง ๗ พระองค์ ทรงศึกษาวิชาความรู้จนอาจารย์จนแตกฉานแล้วต่างนำวิชาความรู้นั้นมาปกครองพระนครของตน ประชาชนในพระนครต่างสงบสุขมีความมั่งไพบูลย์ด้วยความเลื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์มีความดำริเห็นพ้องกันว่าจะต้องสร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องระลึกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมศาสดาผู้ประเสริฐและให้มนุษย์ตลอดจนทวยเทพอารักษ์ทั้งหลายได้กราบไว้บูชาเป็นมิ่งมงคลในบวรพระศาสนาสืบไป กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ได้กำหนดพุทธลักษณะองค์พระปฏิมานั้นเป็นแบปางสมาธินาคปรก มีพุทธลักษณะที่สำคัญยิ่งคือ มีพญานาค ๗ ตัว ๗ เศียร แต่มีหาง ๖ หาง ซึ่งมีความหมายว่า แทนกษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ที่ปรารถนาพุทธภูมิและมีเพียงกษัตริย์องค์ที่ ๗ เท่านั้นที่ปรารถนาสาวกภูมิเมื่อได้แบบองค์พระพุทธปฏิมาแล้ว กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ ได้สละทรัพย์ส่วนพระองค์คือ ทองคำแท้บริสุทธิ์ พระองค์ละ ๗ กิโลกรัมเพื่อสร้างองค์พระครั้งนี้ (โลหะส่วนผสมที่เหลือไม่มีข้อมูล) วันหล่อพระได้กำหนดเป็นเสาร์ที่ ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ ปี ๗ (นับตามปีนักกษัตริย์คือปีมะเมีย) โดยกษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ เป็นประธานจำนวนการสร้างไม่ทราบแน่นอน แต่ตามคำบอกเล่าของ องค์หลวงปู่สอ พันธุโล ท่านบอกว่าในประเทศไทยนี้มีอยู่ ๒ องค์ หนึ่งองค์อยู่ภายในองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม อีกหนึ่งองค์อยู่กับหลวงปู่สอ พันธุโล ซึ่งเป็นพระคู่บารมีขององค์ท่านพระนามของพุทธปฏิมานี้มีพระนามอันเป็นอุดมมงคลอย่างยิ่งว่า หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์

หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์พระคู่บารมีหลวงปู่สอ พันฺธุโล ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๒ ขององค์หลวงปูสอ พันฺธุโล ขณะนั้นหลวงพำนักอยู่ที่เสนาสนะป่า อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ในตอนเย็นวันหนึ่งขณะที่องค์หลวงปู่กำลังนั่งสมาธิภาวนาได้เกิดนิมิตเห็นงูใหญ่ตัวสีทองเลื่อยเข้ามาดันตัวองค์หลวงปู่ขึ้นในลักษณะขดลำตัวให้องค์หลวงปู่นั่ง ต่อมาในปี พ.ศ ๒๕๐๖ ขณะนั่นองค์หลวงปูพำนักอยู่ที่ป่าช้าคนจีน (วัดอรัญญิกาวาสในปัจจุบัน) วันหนึ่งขณที่องค์หลวงปู่เดินดูบริเวรป่าที่พักได้บังเกิดเสียงดังขึ้นภายในองค์หลวงปู่ว่าสัญลักษณ์ของท่านอาจารย์นั่นจะตกจากอากาศในพรรษาที่ ๘ ขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๔ บางทีคนเขาเก็บไว้ถวายภายหลัง

การบริหารการปกครองวัดหนองแสง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม ดังนี้
๑. พระจันทรา ขันเงิน ปี พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๗๒
๒. พระทองสุข ปี พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๘๐
๓. พระวา ปี พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๒
๔. พระสิงห์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๓
๕. พระนู ปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖
๖. พระล้วน ปี พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๙
๗. พระอธิการบุญมี ปริปุนฺโณ ปี พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๐๑
๘. พระอธิการสอ พันฺธุโล ปี พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๔
๙. พระอธิการสวาท โฆสิโต ปี พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๒๔
๑๐. พระครูปัญญาวรกิจจาภรณ์ (ผดุง ปัญญาวโร) ปี พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๔
๑๑. พระมหาธานี ญาณวิสุทฺโธ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ – ปัจจุบัน

ประวัติพระครูภาวนากิจโกศล
องค์หลวงปู่สอ พันฺธุโล นามสกุล ขันเงิน ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ที่บ้านทุ่งมน ตำบลทุ่งมน อำเภอลุมพุก (คำเขื่อนแก้ว) จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธร) เมื่อได้อายุ ๒๐ ปีเศษ องค์หลวงปู่ได้แต่งงานกับนางบับ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๓ คน หลังจากแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ชีวิตก็หาความสุขแทบไม่ได้เลย สุดท้ายชีวิตก็ตามหลักสัจธรรม การมครอบครัวทำให้หมดอิสรภาพแทบทุกอย่าง จิตใจหมกมุ่นในกิจการงาน จนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง อง์หลวงปู่จึงได้ตัดบอกความประสงค์ของท่านต่อภรรยาว่ามีความปรารถนาที่จะออกบวช แต่ภรรยาไม่เห็นด้วย องค์หลวงปู่ก็ไม่ละความพยายาม จนในที่สุดภรรยาก็ต้องยินยอมให้ออกบวชในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ขณะองค์หลวงปู่มีอายุ ๓๒ ปี ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็นครั้งแรก ณ พัทธสีมา วัดสร่างโศก (วัดศรีธรรมาราม) ตำบลในเมือง จังหวัดยโสธร โดยมีพระครูปลัดบุญสิงห์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสังฆรักษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสาย เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า พันธุโล องค์หลวงปู่อยู่ในเพศบรรพชิตได้ ๒ พรรษา จึงได้ลาสิขา ต่อมาองค์หลวงปู่ได้อุปสมบทอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ขณะมีอายุได้ ๓๗ ปี ณ พัทธสีมา วัดสร่างโศก (สถานที่ฉายาเดิม) หลังจากอุปสมบทแล้วองค์หลวงปู่ได้ฝึกฝนอบรมตนเองด้วยการทำข้อวัตรปฏิบัติและฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอเพราะองค์หลวงปูได้ตั้งใจอย่างแรงกล้าว่าในการบวชครั้งนี้จะต้องให้รัฐธรรมเห็นธรรมให้ได้ เมื่อมีอุปสรรคปัญหาใดๆในการภาวนา องค์หลวงปู่จะเข้าไปกราบเรียนขอคำแนะนำจากครูบาอาจารย์ผู้ที่เคารพนับถืออยู่เสมอ อาทิ องค์หลวงปู่เทสก์ เทสรังฺสี หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ องค์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม องค์หลวงปู่ขาว อนาลโย องค์หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ องค์หลวงปู่มหาบัว ญาณสัมฺปันฺโน และองค์หลวงปู่บัว สิริปุณโณ นอกจากนี้ยังมีครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยได้ร่วมธุดงค์ด้วยกัน อาทิองค์หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ องค์หลวงปู่สอ พันฺธุโล ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ เวลา ๑๕.๕๐ นาฬิกา สิริอายุ ๘๘ ปี ๓ เดือน ๒ วัน ๕๒ พรรษา ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงถวายแก่สรีระสังขาร องค์หลวงปู่เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

พระสถูปเจดีย์พระหลวงปู่สอ พันธุโล
สร้างครอบเมรุพิเศษพระราชทานเพลิงสรีระสังขารองค์หลวงปู่สอ พันฺธุโล สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ กุฏิสังฆประชานุกูล สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เมรุและศาลาเมรุ กุฏิสงฆ์อีก ๑๙ หลัง ศาลาโรงไฟ ศาลาโรงทาน ๕ หลัง หอไตร โรงน้ำดื่ม สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ ศาลาโรงครัว สร้างเมื่อปี พ.ศ ๒๕๔๕


มณฑปพระครูภาวนากิจโกศล (หลวงปู่สอ พันฺธุโล) พ.ศ. ๒๕๕๐