ตำบลบ้านโป่ง อำเภองาว จังหวัดลำปาง
Wat Na Chae
Ban Pong Subdistrict, Ngao District, Lampang Province
ความเป็นมา
วัดนาแช่ ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๓๒ หมู่ที่ ๒ บ้านใหม่นาแช่ ตำบลบ้านโป่ง อำเภองาว จังหวัดลำปาง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พิกัดสถานที่ตั้งวัด ละติจูด (๑๘.๗๒๘๓๔๘๔,๙๙.๙๒๔๙๙๑๘) อยู่ในเนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๗๙ ตารางวา มีเนื้อที่ ๖ ไร่ ๒ งาน ๖๐ ตาราวา วัดนาแช่ เป็นวัดที่ได้รับอนุญาตสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ และมีชื่ออยู่ในทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้ว และปัจจุบันก็ให้ขึ้นเป็นที่ธรณีสงฆ์
ในสมัยนั้น วัดนาแช่ ตั้งอยู่ ณ กลางหมู่บ้าน (เป็นที่ทุ่งนาในปัจจุบัน) ซึ่งในสมัยก่อนชาวบ้านก็มักจะปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่ใกล้กับทุ่งนาของตนเอง เพื่อสะดวกต่อการดูแลพืชพรรณในทุ่งนา เพราะอาชีพหลักในสมัยนั้น คือ การเกษตร ทำนาปลูกข้าว เป็นหลัก โดยอาศัยพื้นที่ใกล้กับแม่น้ำลำคลอง เพียงเพราะคิดว่าที่ไหนอยู่ใกล้น้ำก็จะสะดวกต่อการดำรงชีพ ต่อมาในช่วงฤดูฝน ก็มักจะมีฝนตกลงมาอย่างหนักทำให้น้ำในลำคลองเอ่อล้นเข้าท่วมวัดท่วมบ้านท่วมทุ่งนาของชาวบ้าน และการท่วมในแต่ละครั้ง น้ำก็จะท่วมแช่อยู่หลายวัน เพราะเป็นพื้นที่ราบลุ่มกลางทุ่งนา น้ำจึงค่อนข้างระบายออกยาก จึงเป็นที่มาของคำว่า ทุ่งนาแช่ เพราะทุ่งนา มีน้ำแช่อยู่ จึงนำมาเป็นชื่อของหมู่บ้านคือ บ้านนาแช่ และเมื่อประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้ชาวบ้านดำรงชีพลำบากมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการสำรวจพื้นที่ใหม่เพื่อที่จะได้ทำการอพยพขึ้นไปปลูกบ้านสร้างเรือนในพื้นที่ใหม่ ที่สูงกว่าระดับน้ำท่วม แล้วทิ้งให้พื้นที่เดิมเป็นเฉพาะทุ่งนาสำหรับทำการเกษตร โดยการอพยพย้ายที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ในสมัยนั้น มี พระอ้าย จิตปลื้ม เป็นเจ้าอาวาส ผู้ใหญ่มูล ปันแกว่น เป็นผู้ใหญ่บ้าน พ่อปั๋น จิตปลื้ม เป็นไวยาวัจกรวัด และพ่อหนานปวน อุตยานะ เป็นมัคนายกหรืออาจารย์วัด ร่วมกับชาวบ้าน ช่วยกันหาพื้นที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ ต่อมาเมื่อพบเจอพื้นที่ทำเลที่ตั้งใหม่แล้วที่เหมาะกับการตั้งวัดและหมู่บ้าน (คือสถานที่ตั้งวัดและหมู่บ้านในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขึ้นไป จากพื้นที่เดิม จึงได้ทำการย้ายวัดนาแช่และหมู่บ้านนาแช่ มาอยู่ที่ตั้งใหม่ โดยย้ายหมู่บ้านขึ้นไปปลูกสร้างก่อน และส่วนของวัดก็ตั้งเวรยามชาวบ้านให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปนอนเฝ้าดูแลวัด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านนานไป ชาวบ้านก็เห็นว่าการเดินทางสัญจรไปเฝ้าดูแลวัดในแต่ละวันนั้นเริ่มลำบาก ต้องเดินทางเท้าลัดทุ่งนาข้ามลำน้ำโดยมีสะพานเป็นไม้ท่อนเดียว ระยะทางจากที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ไปวัดเก่าก็ไกลพอสมควร ดังนั้นชาวบ้านจึงเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรให้ย้ายวัดขึ้นไปอยู่ในที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ด้วย จึงได้ร่วมใจกันย้ายวัดนาแช่ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ จนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ใหม่นาแช่ โดยเพิ่มคำว่า ใหม่ เข้ามา เพราะว่าย้ายจากที่ตั้งเก่ามาที่ตั้งใหม่ จึงชื่อว่า บ้านใหม่นาแช่ แต่วัดยังคงใช้ชื่อเดิมตามทะเบียนประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เพราะไม่มีการยื่นเรื่องของเปลี่ยนชื่อวัดในสมัยนั้น จึงชื่อ วัดนาแช่ เหมือนเดิม ในครั้งย้ายวัดมาที่ตั้งใหม่นั้นคณะกรรมการและคณะศรัทธาได้ร่วมกันทำการรื้อถอนกุฏิไม้ที่อยู่วัดนาแช่เดิม ขึ้นมาสร้างใหม่ในพื้นที่ตั้งวัดใหม่ด้วย ถือว่าเป็นกุฏิเสนาสนะหลังแรกในการลงหลักปักฐานสร้างวัดในพื้นที่ใหม่ (ปัจจุบันได้ชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว และกุฏิที่เห็นทุกวันนี้ คือเป็นกุฏิหลังที่ ๓ นับจากการสร้างวัดในพื้นที่ใหม่) และเมื่อย้ายขึ้นมายังที่ตั้งใหม่แล้วจึงไม่ค่อยมีใครได้สนใจวัดนาแช่เดิมที่อยู่กลางทุ่งนา ช่วงหลังพบว่ามีการจุดไฟเผาเพื่อเพี้ยวถางพื้นที่เตรียมทำการเกษตรของชาวบ้าน แล้วปรากฏว่าไฟได้ลุกลามเข้าไปไหม้ภายในวัดที่รกร้างทำให้ ไหม้วิหาร และหอกลอง (หอระฆัง) ในส่วนที่เป็นไม้จนหมดสิ้น โดยเฉพาะหลังคาวิหาร พระพุทธรูปหลายองค์ที่แกะสลักจากไม้ โต๊ะหมู่บูชา ธรรมาสน์ทรงโขง ก็ถูกไฟไหม้จนหมด จะมีแค่เพียงบางส่วนที่ขนย้ายมาไว้วัดใหม่ก่อนหน้าที่จะถูกไฟไหม้ และยังคงได้เก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยพระพุทธรูปเนื้อโลหะสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยเชียงแสน รูปทรงเป็นพระสิงห์สาม ที่พระผู้ก่อตั้งวัดนาแช่สมัยก่อนได้อัญเชิญมาเมื่อครั้งตั้งวัดแรกๆ พร้อมด้วยพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้อีกหลายขนาดหลายองค์ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ โดยบางส่วนได้รับมาจากชาวบ้านที่ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่บ้านก่อน ในครั้งที่วัดใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ และปัจจุบันนี้ก็ได้รวบรวมมาไว้ที่วัดทั้งหมดแล้ว และได้จัดให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำวัดนาแช่ ที่ควรค่าแก่การเก็บดูแลรักษาไว้ให้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาตลอดไป
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ จรดกับโรงเรียนบ้านใหม่
ทิศใต้ จรดกับบ้านชาวบ้าน
ทิศตะวันออก จรดกับทุ่งนา
ทิศตะวันตก จรดกับไร่นา
เสนาสนะและถาวรวัตถุ ดังนี้
๑. อุโบสถ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๕ เมตร จำนวน ๑ หลัง
๒. กุฏิ กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
๓. ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๑๖ เมตร จำนวน ๑ หลัง
๔. ห้องน้ำ กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร จำนวน ๑ หลัง
๕. ห้องน้ำ กว้าง ๔ เมตร ยาว ๘ เมตร จำนวน ๑ หลัง
๖. กุฏิรับรอง กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๒ เมตร จำนวน ๑ หลัง
๗. หอสรงน้ำพระ กว้าง ๔ เมตร ยาว ๔ เมตร จำนวน ๑ หลัง
๘. แท็งก์น้ำ กว้าง ๓ เมตร ยาว ๖ เมตร จำนวน ๑ หลัง
๙. ศาลาปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบุญ กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๔ เมตร จำนวน ๑ หลัง
๑๐. ซุ้มประตู กว้าง ๔ เมตร ยาว ๑๒ เมตร จำนวน ๑ หลัง