ตำบลน้ำตก อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน

Wat Pao

Namtok Subdistrict, Na Noi District, Nan Province

วิสัยทัศน์ เป็นองค์กรแห่งการบริการจัดการด้านศาสนาได้อย่างครบสรรทุกภารกิจ มุ่งหวังสู่ประชาชนให้นำหลักธรรมมาสร้างคุณภาพชีวิตและมีจิตสำนึกต่อสังคม

พันธกิจ สนองงานคณะสงฆ์ ทำนุบำรุงส่งเสริมและพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแลรักษาจัดการศาสนาสมบัติวัด รวมทั้งให้สนับสนุนส่งเสริมพัฒนาบุคคลในระดับวัด

กลยุทธ์            ส่งเสริมพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาและสนองงานคณะสงฆ์

ประเด็นยุทธศาสตร์ คุ้มครองพระพุทธศาสนา สนับสนุนการนำหลักพุทธธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาวัดให้พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางชุมชน  ส่งเสริมการศึกษาทางพระพุทธศาสนาแก่เยาวชนและประชาชน  การจัดกิจกรรมที่เอื้อต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  สงเคราะห์ทางการศึกษา อุบาสก อุบาสิกา ในชุมชน

ด้านพระภิกษุ – สามเณร ได้ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรม แผนกบาลี

๑. ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรม แผนกบาลี พระนวกะทุกรูปต้องเรียนพระธรรมวินัย ให้เข้าเรียนบาลีในสำนักที่มีการสอนประโยคสูงกว่าสำนักเดิม

๒. มีการอบรมพระภิกษุ – สามเณร เป็นประจำ

วิธีการส่งเสริมการศึกษา

๑. จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาของพระภิกษุสามเณรไว้ เพื่อมอบให้แก่พระภิกษุ     สามเณรที่ตั้งใจเรียนพระปริยัติธรรม

๒. จัดตั้งรางวัลไว้ เพื่อมอบให้แก่พระภิกษุสามเณรที่สอบนักธรรมและบาลีได้

๓. จัดหาอุปกรณ์การเรียนพระปริยัติธรรมให้สำนักเรียนและพระภิกษุ  สามเณร

๔. ส่งเสริมและสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรให้ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมบาลี และแผนกสามัญ  

๕. จัดส่งพระภิกษุเข้าไปสอนวิชาพระพุทธศาสนา และอบรมจริยธรรม ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา อุบาสก อุบาสิกา ในชุมชน

ประวัติวัดเปา

วัดเปา ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๔ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๐๐ มีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา โดยมีนายหลักธิ เป็นหัวหน้าในการสร้าง มีพระภิกษุจำพรรษารูปแรก คือ ครูบาก๋ารินทร์ สมัยนั้นหมู่บ้านมีทั้งหมด ๑๖ ครัวเรือน ต่อมามีครูบาป่าหรือครูบาเสนา ซึ่งเดินธุดงค์มาจากบ้านเหมืองหม้อ จังหวัดแพร่ ก็ได้มาจำพรรษาที่วัดเปา (ไม่ทราบวัน เดือน ปี จำพรรษา) ต่อมามีพระกาวิชัย (ตุ๊ลุงก๋า) มาจากบ้านปงสนุก อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ได้อพยพมาพร้อมกับญาติ จำนวน ๓ ครอบครัว มาอยู่ที่บ้านเปา และตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออก (หน้าวัด) และทิศใต้ ชาวบ้านนิยมเรียกท่านว่า “ตู๊ลุงก๋า” ท่านจำพรรษาอยู่หลายพรรษามีผู้เข้ามาบวชและเป็นศิษย์มากมาย เมื่อบ้านเปาและหมู่บ้านใกล้เคียงได้เจริญขึ้น จึงได้สร้างวิหารไม้ขึ้นหลังหนึ่ง ท่านได้สร้างพระประธานก่ออิฐถือปูน หน้าตักกว้าง ๑ เมตร สูง ๑.๓๐ เมตร โดยมีช่างพม่า เป็นผู้ปั้น (สล่าม่าน) เมื่อพระก๋าวิชัยมรณภาพแล้ว ก็มีพระลูกศิษย์ขึ้นมาเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสสืบ ๆ กันมา ต่อมาได้มีการสร้างวิหารหลังใหม่แทนหลังเก่าซึ่งทรุดโทรมตามกาล ได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๓๑ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๗ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๗  ได้ทำพิธีฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้สร้างกุฏิครึ่งปูน ครึ่งไม้ แทนหลังเก่า  โดยมีพระมหาเทวินทะ ปญฺญาวโร (ปัจจุบัน พระครูสุธีปัญญากร) เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑๕ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ และได้ทำการบูรณะอุโบสถหรือวิหารอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๒ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘   

ด้านปูชนียวัตถุ มีพระประธานปูนปั้น ปางมารวิชัย ทรงแบบพม่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ โดยมีนายยะ ก๋าอิน เป็นประธานผู้อุปถัมภ์ (พ่อออก) ปั้นโดยช่างชาวพม่า (สล่าม่าน) ซึ่งเป็นช่างผู้ติดตามมากับพระก๋าวิชัย  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นายบุญเลิศ – นางศรีมุ๋ย ถาตุ้ย ได้นำพระพุทธชินราชทองสำริดมาถวาย และในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ คณะศรัทธาวัดเปาได้เดินทางไปรับ พระพุทธรูปพระองค์ดำ ปางมารวิชัย ที่จังหวัดกรุงเทพมหานครมาประดิษฐานในอุโบสถ และภายในอุโบสถยังมีพระพุทธรูปไม้เก่าแก่อีกองค์หนึ่ง ลงรักปิดทอง ซึ่งชาวบ้านได้ให้ข้อมูลว่า นำมาจากวัดร้างครูบาป่าตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน ปัจจุบันเป็นที่ถูกครอบครองไปแล้ว 

ลำดับเจ้าอาวาส มีดังนี้
๑. ครูบาเสนา (ครูบามหาป่า ชวนภิกขุ)
๒. ครูบาลังก๋า (ครูบาเต๋)
๓. พระก๋าวิชัย วิชโย 
๔. พระพรหมมินทร์ ญาณสาโร
๕. พระสว่าง กตปุญฺโญ
๖. พระบุญเดช ปภากาโร
๗. พระเสถียร อนาลโย 
๘. พระมหาเทวินทะ ปญฺญาวโร (ปัจจุบัน พระครูสุธีปัญญากร) พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๓๙
๙. พระอินสวน กตปุญฺโญ พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๓
๑๐. พระครูสุธีปัญญากร (เทวินทะ ปญฺญาวโร) พ.ศ. ๒๕๔๕ – ปัจจุบัน

แผนพัฒนาวัด

– สร้างหอระฆัง งบประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท 

– สร้างกุฏิสงฆ์ ๑ หลัง งบประมาณ ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท 

– บูรณะหลังคาอุโบสถ์ งบประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ บาท  

– สร้างศาลาเอนกประสงค์ งบประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท 

– สร้างกำแพง งบประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท 

ขอเรียนเชิญพุทธศาสนิกขน ร่วมเป็นเจ้าภาพ วัสดุ อุปกรณ์ สร้างกุฏิวัดเปา ตามจิตศรัทธา

ชื่อบัญชี วัดเปา ธนาคาร กรุงไทย เลขบัญชี ๙๘๖ – ๘๐๕๔๐๒ – ๘  

โทร : ๐๘-๑๗๘๔-๙๑๑๗, ๐๘-๐๖๕๓-๕๑๕๓