ปราสาทเนียงอุมา เมืองโบราณบ้านระโยง หมู่ที่ 10
ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านระโยง หมู่ที่ 10 ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ตำนานเล่าขานของการสร้างเมืองโบราณที่มีคุ้งน้ำล้อมรอบหมู่บ้าน และที่ตั้งของปราสาท “เนียงอุมา” ธิดาเมืองลาวที่หนีสงครามมาสร้างเมือง และปราสาทไว้อยู่บนที่สูงที่สุดใจกลางหมู่บ้าน และถือเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านแถบนี้มายาวนาน
“ระโยงเมืองโบราณ ตำนานปราสาทเนียงอุมา
ศาลปู่ตาหลวงอุดม ชมแหล่งน้ำรอบเมือง
ลือเลื่องวัฒนธรรม น้อมนำภูมิปัญญา
พัฒนาเกษตรอินทรีย์ มีแหล่งดอกบัวงาม”
บ้านระโยง ในอดีตนั้นทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านได้มีต้นไทรที่มีขนาดใหญ่มาก มีกิ่งก้านสาขาเป็นบริเวณกว้างติดกับริมฝั่งหนองโชค มีรากแทรกตามกิ่งก้านยาวย้อยลงมาสู่พื้นดิน มีลักษณะยาวระโยงระยาง ชาวบ้านที่ไปเลี้ยงวัวควายจึงอาศัยร่วมไทรนี้เป็นที่พักผ่อน และย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งนี้หลายชั่วอายุคน เมื่อมีต้นไทรเป็นจุดเด่น คนเก่าแก่สมัยก่อนจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “จรึยระโยง” หรือเรียกว่า “ไทรระโยง” จนกลายมาเป็นหมู่บ้าน “ระโยง” ในปัจจุบัน
บ้านระโยง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในที่เนินสูง มีคูน้ำล้อมรอบ เป็นเมืองโบราณคล้ายเมืองเก่าในอดีต จากการขุดพบโครงกระดูกและมีเศษเครื่องปั้นดินเผาที่ปรากฏอยู่มากมาย การขุดพบไหกระดูกส่วนมากจะเรียงกัน 3 – 5 ไห แต่ไม่สามารถขุดนำไหออกมาได้ในสภาพสมบูรณ์ เนื่องจากมีการฝังอยู่ในดินหลายพันปี จากการประมาณการได้จากสภาพของกระดูกและสิ่งของในไหที่ค้นพบ เช่น ลูกปัด ที่มีลักษณะเหมือนลูกแก้วในปัจจุบันแต่มีขนาดใหญ่กว่า บริเวณรอบหมู่บ้านมีหนองน้ำล้อมรอบถึง 9 แห่ง ได้มีการขุดลอกไปแล้ว 5 แห่ง คงเหลืออีก 4 แห่ง ซึ่งยังเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีนกและเต่า รวมสัตว์อื่น ๆ อาศัยอยู่
“เนียงอุมา” ปราสาทที่ตั้งอยู่ใจกลางของหมู่บ้านระโยง ซึ่งเป็นเนินสูงสุดของหมู่บ้าน ลักษณะเป็นพนมดินสูงท่วมศีรษะคนยืน ปราสาทหลังเดิมทำด้วยไม้ทำด้วยไม้คาดว่ามีอายุหลายร้อยปีมาแล้ว และสถานที่ตั้งดังกล่าวเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์มาก โดยมีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า “เนียงอุมา” นั้น เป็นธิดาของเจ้าเมืองลาว ซึ่งสันนิษฐานว่าในสมัยนั้นอาจมีการสู้รบกับข้าศึกและเกิดการแพ้สงคราม ท่านเจ้าเมืองจึงให้องครักษ์หรือทหารเอก ที่มีชื่อว่า “ขุนจง” พาธิดาที่มีชื่อว่า “อุมา” และน้องสาวอีกคนหลบหนีออกจากเมือง มาพร้อมด้วยบริวารและทหารบางส่วนเพื่อรักษาความปลอดภัย มีการหลบหนีมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้มาตั้งเมืองขึ้นใหม่ ณ สถานที่บ้านระโยงแห่งนี้ โดยมี “เนียงอุมา” เป็นเจ้าเมือง และมีท่านขุนจงคอยช่วยปกครองบ้านเมือง มีการเกณฑ์ทหารและข้าทาสบริวารขุดทำคูน้ำและกำแพงดินล้อมรอบเมืองถึงสองชั้น โดยมีลักษณะเป็นค่ายกลในการป้องกันเมืองจากข้าศึกและศัตรู ตลอดจนป้องกันสัตว์ร้ายที่อาจเข้ามาทำร้ายราษฎรได้
“บ้านระโยง” ถือเป็นชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดสุรินทร์ ที่ยังคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม ประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ รวมไปถึงวิถีชีวิตเรียบง่ายของคนในชุมชน ถือเป็นมนต์เสน่ห์
ที่สัมผัสและพบเห็นได้ในทุกครั้งที่ได้มาเยือน…