องค์การบริหารส่วนตำบลอิตื้อ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ได้รับการยกฐานะจากสภา
ตำบลอิตื้อเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลอิตื้อ ตาม พรบ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 เมื่อวันที่ 30 เดือน มีนาคม 2539 โดยมีนายบุญนาค ภูจักรเพ็ชร กำนันตำบลอิตื้อ เป็นประธานกรรมการบริหารโดยตำแหน่งคนแรก ต่อมามีนายบัวเรียน ภูจักรเพชร เป็นประธานกรรมการบริหารคนที่สองและเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอิตื้อ คนแรก ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2547 นายประเทือง บุตรวงค์ ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอิตื้อ นับเป็นผู้บริหารคนที่ 3 และได้ขอยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลอิตื้อ เมื่อวันที่18 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
วิสัยทัศน์ ( Vision)
เทศบาลตำบลอิตื้อจะเป็นองค์กรที่มีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสร้างสรรค์สังคมให้มีคุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม อันดีงาม ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร บุคลากรมีความรู้ ความสามารถ
เต็มใจให้บริการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
พันธกิจ (Mission)
- พัฒนาระบบบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล
- ส่งเสริมการพัฒนาสังคมที่มีคุณธรรม จริยธรรมและสมานฉันท์
- ส่งเสริมประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน
- รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงาม และวัฒนธรรมไทย
- พัฒนาระบบเทคโนโลยี สารสนเทศและบริการ Internet ตำบล
- ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ
ที่ตั้ง
เทศบาลตำบลอิตื้ออยู่ในเขตการปกครองของอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากอำเภอยางตลาดประมาณ 18 กิโลเมตรห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ประมาณ 31 กิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเทศบาลตำบลอิตื้อมีเขตติดต่อพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดกับ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลกุดโดน อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์
ทิศตะวันตก ติดกับ เขตเทศบาลตำบลโนนสูง อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ทิศตะวันออก ติดกับ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ทิศใต้ ติดกับ เขตเทศบาลตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ข้อมูลทั่วไป
เทศบาลตำบลอิตื้อมีพื้นที่โดยประมาณ 31 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 12 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 8,857 คน แยกเป็นชาย 4,372 หญิง 4,486 คน มีความหนาแน่นเฉลี่ย 285.74 คน/ตารางกิโลเมตร ข้อมูล ณ เดือน สิงหาคม พ.ศ.2563 ประชากรมีอาชีพหลักคือการทำนา อาชีพรองคือ การทำไร่มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ทำสวนผลไม้ และเลี้ยงสัตว์