ตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ
Wat Duan Yai
Duan Yai Subdistrict, Wang Hin District, Sisaket Province



ความเป็นมา
เรื่องการตั้งวัดบ้านดวนใหญ่ขึ้นนี้ ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าตั้งขึ้นตั้งแต่ วัน เดือน ปี หรือ พ.ศ. ใด แต่ตามคตินิยมของชาวพุทธหรือพุทธศาสนิกชน เมื่อไปตั้งถิ่นฐานบ้านช่องขึ้น ณ ที่ใด ชาวบ้านทำมาหากินสร้างหลักฐานได้ดีพอสมควรแล้ว ก็จะพากันสร้างวัดขึ้นควบคู่กับหมู่บ้าน หรือประจำหมู่บ้านเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระรัตนตรัย เพื่อเป็นที่เคารพกราบไหว้ยึดถือป็นที่พึ่งทางใจและเพื่อสะดวกในการทำบุญ บำเพ็ญกุศล และประกอบกิจในทางพระศาสนา วัดดวนใหญ่นี้ต้องได้รับการสร้างขึ้นหลังจากตั้งหมู่บ้านแล้วหลายสิบปี จากเอกสารหลักฐานค้นพบมีผู้ทำบัญชีสำรวจใว้ระบุว่าวัดดวนใหญ่ตั้งหรือสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๑ ถ้านับถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๔๘ ก็จะได้ ๓๘๗ ปี แต่ผูกพัทธสีมา(ขอดสิม) เมื่อวันที่ ๒๒ – ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ (เชื่อว่าผูกพัทธสีมาครั้งที่ ๒ เพราะวัดตั้งมา ๓๐๐ กว่าปี) แล้วต้องเคยมีโบสถ์หรือสีมามาก่อน แต่เป็นโบสถ์หรือสิมโบราณ เมื่อถูกรื้อถอนสร้างอุโบสถขึ้นใหม่จึงผูกพัทธสีมาอีกครั้งหนึ่ง





ดังที่กล่าวมาแล้วว่า วัดบ้านดวนใหญ่นี้ต้องตั้งหรือสร้างขึ้นมาหลังจากตั้งหมู่บ้านขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นประเพณีของชาวพุทธหรือพุทธศาสนิกชนทั่วไป คือ เมื่อมีหมู่บ้านขึ้นแล้วต้องสร้างวัดขึ้นมาควบคู่กับหมู่บ้าน เพื่อสะดวกในการทำบุญให้ทานหรือประกอบศาสนกิจ ตลอดใช้เป็นสถานที่ให้การศึกษาเล่าเรียนในสมัยก่อนโน้น คนที่จะรู้หนังสืออ่านออกเขียนได้หรือมีความรู้ในด้านต่าง ๆ ต้องได้บวชเรียนจากวัดทั้งนั้น เพราะยังไม่มีโรงเรียนสอนหนังสือ
วัดดวนใหญ่ตั้งอยู่ในชุมชนใหญ่และมีหัวหน้าผู้นำหมู่บ้านเข้มแข็ง คือ ตากะจะและเชียงขันจึงต้องได้รับความอุปถัมภ์บำรุงและพัฒนากว่าวัดอื่นๆและก็เป็นวัดเดียวประจำหมู่บ้านดวนใหญ่นี้แรกๆทีเดียวคงจะมีสีมาน้ำ(สิมน้ำ) แห่งใดแห่งหนึ่งใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม เช่น ลงอุโบสถ์สวดพระปาฏิโมกข์ และให้การบรรพชาอุปสมบท ต่อมาจึงได้สร้างโบสถ์(สิม) แบบโบราณขึ้นในวัด ต่อมาหมู่บ้านได้ขยายตัวใหญ่ขึ้นหลายร้อยหลังคาเรือน จึงในประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๘ คณะกรรมการและชาวบ้านได้พากันสร้างวัดขึ้นใหม่อีกวัดหนึ่งทางทิศตะวันตกหมู่บ้าน และให้ชื่อว่า วัดนิวาสสุวรรณาราม (วัดใหม่) ที่ตั้งชื่อนี้เข้าใจว่าเพื่อให้เกียรติแก่พระครูนิวาสพัฒนาการ (พันธ์ สุวณฺโณ) มาจนทุกวันนี้


ปัจจุบันที่ยอมรับกันว่า วัดดวนใหญ่ มีความเป็นมาเก่าแก่หรือนานมาก สร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.๒๑๖๑ ถ้านับจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๘) ก็มีอายุถึง ๓๘๗ ปีผูกพัทธสีมา (ขอดสิม) เมื่อวันที่ ๒๒-๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ (เข้าใจว่าครั้งที่ ๒ เพราะก่อนหน้านี้ ปรากฎหลักฐานว่าเคยมีการให้บรรพชาอุปสมบทที่วัดดวนใหญ่นี้มาแล้ว) มีที่ดินที่ตั้งวัด ๑๓ ไร่ ๓๐ วา มีกุฏิหลังใหญ่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก บรรจุพระภิกษุสามเณรได้หลายสิบรูป มีกุฏิทรงไทยที่อยู่ของเจ้าอาวาสและใช้เป็นสำนักงานของเจ้าคณะอำเภอวังหิน มีอุโบสถขนาดใหญ่ มีศาลาการเปรียญขนาดใหญ่และมาตรฐานถาวรสวยงาม มีหอระฆัง เมรุเผาศพ ศาลาบำเพ็ญกุศล สร้างกำแพงรอบวัด มีซุ้มประตู ๔ ด้าน มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรม-บาลีและสามัญศึกษา มีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดเป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์อำเภอวังหิน เป็นสถานที่ให้บริการกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและสังคมของชาวอำเภอวังหิน


ทำเนียบการปกครองวัด
- พระโพธิญาณ (ไม่มีเอกสารหลักฐาน)
- พระสังฆฮาดพรหม (ไม่มีหลักฐาน)
- พระหลวงตาลา (ไม่มีหลักฐาน)
- พระอุปัชฌาย์วงศ์ (ไม่มีหลักฐาน)
- พระอาจารย์บุญมา (ไม่มีหลักฐาน)
- พระอุปัชฌาย์เกษ (ไม่มีหลักฐาน)
- พระครูนิวาสวัฒนาการ (พันธ์ สุวณฺโณ) (๒๔๖๔-๒๕๐๑)
- พระครูนวกิจวิบูลย์ (โกวิโท) (๒๕๐๑-๒๕๑๖)
- พระครูพัฒนวรกิจ (บุญกอง) (๒๕๑๘-๒๕๓๖)
- พระครูวรธรรมคณารักษ์ (นิคม สีลสํวโร)(๒๕๓๗-ปัจจุบัน)

ประวัติพระครูวรธรรมคณารักษ์
พระครูวรธรรมคณารักษ์ (พระมหานิคม สีลสํวโร) นอกจากจะเป็นเจ้าอาวาสวัดดวนใหญ่แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอวังหินด้วย และอาศัยว่าเป็นผู้มีความสนใจในงานคณะสงฆ์ พยายามศึกษาการงานคณะสงฆ์อยู่ตลอดเวลาประกอบด้วยเป็นคนเสียสละ มีมนุษย์สัมพันธ์ มีความตรงไปตรงมา มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่ จึงมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานและสมณะศักดิ์อย่างรวเร็ว เป็นเจ้าคณะตำบลดวนใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะอำเภอวังหิน เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นโท เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ ในพระบรมมหาราชวัง ปี พ.ศ.๒๕๔๗ ได้ประทานเลื่อนชั้นเป็นคณะอำเภอชั้นเอก
พระครูวรธรรมคณารักษ์ (พระมหานิคม สีลสํวโร) ได้สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่วัดดวนใหญ่ แก่ชาวบ้านดวนใหญ่ และชาวอำเภอวังหินมากมาย โดยเฉพาะที่วัดดวนใหญ่ได้รับการพัฒนาชนิดที่เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งบุรณะซ่อมแซมและสร้างขึ้นใหม่หลายอย่าง เอาแค่ศาลาการเปรียญหลังเดียวก็น่าอัศจรรย์แล้ว การศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณรก็จัดขึ้นได้อย่างน่าภาคภูมิใจช่วยเหลืองานทางราชการและสงเคราะห์ชาวบ้านเกือบทุกอย่าง จนวัดดวนใหญ่ได้รับการยกย่องเป็นพัฒนาตัวอย่าง
