ตั้งอยู่บ้านจังเกา หมู่ที่ ๑๐
ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
วัดสว่างอารมณ์
วัดสว่างอารมณ์
วัดสว่างอารมณ์ เดิมชื่อวัดบ้านจังเกา เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ภาค ๑๑ ตั้งอยู่บ้านจังเกา หมู่ที่ ๑๐ ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
ประวัติการตั้งวัด
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ พระอาจารย์สุข สุมาลุย์ ได้นำชาวบ้าน มีนายบุญจันทร์ สิมาจารย์ เป็นผู้ใหญ่บ้านจังเกา เริ่มทำการก่อสร้างวัดบ้านจังเกา สร้างกุฏิไม้หลังเล็กๆ เพื่อให้พระอยู่จำพรรษาต่อมาปี พ.ศ.๒๔๒๐ พระอาจารย์ลุ สิมาจารย์ ได้นำชาวบ้าน สร้างศาลาการเปรียญไม้ขนาดใหญ่หลังคามุงสังกระสี ๑ หลัง สร้างหอระฆังไม้ ๑ หลัง สร้างอุโบสถก่ออิฐถือปูนเสาไม้หลังคามุงสังกระสี ๑ หลัง และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๓ ในสมัยนั้นวัดบ้านจังเกาถือว่าเป็นวัดที่มีความเจริญมากที่สุดในเขตตำบล มีเสนาสนะครบถ้วนสมบูรณ์กว่าทุกวัด จึงมีพระภิกษุสามเณรมาอยู่อาศัยเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม นักธรรมตรี-โท-เอก เป็นจำนวนมากเป็นร้อยรูป จึงได้สร้างกุฏิไม้ขนาดใหญ่หลังคามุงสังกระสีเพิ่มขึ้นอีก ๑ หลัง
ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๐๕ สมัยพระอาจารย์วันคำ เป็นเจ้าอาวาส เห็นว่าอุโบสถหลังเก่าชำรุดทรุดโทรม และพื้นที่วัดเป็นพื้นที่ต่ำน้ำท่วมขัง ไม่สามารถบูรณปฏิสังขณ์ได้ จึงได้ปรึกษาชาวบ้านและเจ้าคณะผู้ปกครอง ทำการรื้อโครงหลังคาอุโบสถหลังเดิมออก ยังคงรักษาองค์พระประธานเก่าไว้ และก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นครอบเฉพาะในเขตอุโบสถเก่าเท่าเดิมทั้งหมด เพียงแต่ถมที่ดินให้สูงขึ้น เมื่อการก่อสร้างอุโบสถแล้วเสร็จได้จัดงานฉลอง ๗ วัน ๗ คืน โดยได้ปรึกษาเจ้าคณะผู้ปกครองแล้วไม่ให้ทำการสวดถอนสีมาเดิมและไม่ต้องทำการสวดผูกสีมาใหม่ จึงยังคงใช้สีมาเดิมตลอดมา ส่วนศาลาไม้หลังเดิมและกุฏิไม้หลังเดิมทุกหลังได้รื้อถอนและสร้างหลังใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นทดแทนทั้งหมด
เนื่องจากหลักฐานใบวิสุงคามสีมาฉบับเดิมสูญหาย ในสมัย พระครูสุจิตรธรรมานุรักษ์ (สงวน) เป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะตำบลศรีสุข ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ ๑๒๓ ตอนที่ ๑๒๕ ง ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙ สำนักงานพระพุทธศาสนา
ลักษณะพื้นที่วัดและบริเวณโดยรอบ
ที่ตั้งวัดเป็นพื้นที่ราบลุ่ม อยู่ติดกับหมู่บ้านจังเกาและโรงเรียนบ้านจังเกา มีซุ้มประตูใหญ่ ๒ ประตู มีกำแพงวัดล้อมรอบด้านทิศใต้ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตามแนวกำแพงวัดมีเจดีย์บรรจุอัฐิของบรรพบุรุษชาวบ้าน และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเรื่อยมาตามลำดับ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ทำนาและปลูกพืชผักสวนครัวรับประทานและนำไปขายตามชุมชนและตลาดสำโรงทาบ ปัจจุบันมีครอบครัวอยู่อาศัยจำนวน ๒๔๐ หลังคา มีประชากรชายหญิงรวม ๑,๑๕๖ คน มีโรงเรียน ๑ แห่ง มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๑ แห่ง มีพื้นที่ทำการเกษตร ๕,๒๕๓ ไร่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอสำโรงทาบประมาณ ๕ กิโลเมตร
ประวัติความเป็นมาของวัดและหมู่บ้าน
บ้านจังเกาก่อตั้งขึ้นโดยนายขุน สุริวงศ์และพวก ซึ่งเป็นชาวกูยที่ย้ายมาจากบ้านศิริ ต.กระออม ใช้ภาษาท้องถิ่นคือกูยหรือส่วยเป็นภาษาหลัก ก่อตั้งครั้งแรกมีจำนวน ๗ หลังคาเรือนเมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๐ อยู่ทางทิศตะวันตกของสระน้ำประจำหมู่บ้านในปัจจุบัน ซึ่งพื้นที่บริเวณเดิมนี้เป็นป่าล้อมรอบและเป็นที่อยู่อาศัยของหมีที่มาหากินน้ำในสระของหมู่บ้าน และชาวกุยเรียกหมีว่า จังเกา จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านจังเกา ต่อมาได้เกิดโรคระบาดร้ายแรงประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก และชาวบ้านมีความเชื่อว่าที่ตั้งหมู่บ้านตรงนี้มีภูตผีปีศาจมารบกวนมาก ตกกลางคืนไม่มีใครกล้าออกจากบ้าน ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.๒๓๙๗ จึงได้ย้ายบ้านเรือนจากด้านทิศตะวันตกสระน้ำมาตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของสระน้ำในปัจจุบัน และได้ก่อสร้างวัดขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน โดยการบริจาคที่ดินของชาวบ้านรวมกันได้เนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ จึงได้มีการตั้งชื่อวัดใหม่ เป็นวัดสว่างอารมณ์ ซึ่งเมื่อครั้งยังไม่แยกเขตการปกครองเป็นอำเภอสำโรงทาบ วัดบ้านจังเกา สังกัดหมู่ที่ ๙ ตำบลตรึม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
เกียรติประวัติของวัด
วัดสว่างอารมณ์ เป็นวัดที่มีพระประธานอุโบสถที่เก่าแก่ที่สุดกว่าร้อยปีของอำเภอสำโรงทาบ และ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖-พ.ศ.๒๔๘๕ ได้มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษามากถึง ๑๕0 รูป เพราะมีการเปิดสำนักเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น สอนนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก มีผู้ที่สำเร็จสอบได้นักธรรมจากวัดแห่งนี้ไปออกไปช่วยพัฒนาวัดดำรงตำแหน่งทางการปกครองสงฆ์ หรือสิกขาไปสอบเป็นข้าราชการจำนวนมากจึงทำให้วัดมีชื่อเสียงโด่งดัง มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาไม่เคยขาดทุกปี และมีผู้สอบได้นักธรรมทุกปี ชุมชนชาวบ้านมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง อุปถัมภ์บำรุงวัดและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเป็นอย่างดียิ่ง ดังนั้น วัดสว่างอารมณ์ จึงเป็นศูนย์รวมในการให้บริการสถานที่จัดกิจกรรมของส่วนราชการและคณะสงฆ์ เช่น จัดโครงการอบรมพระธรรมทูตของคณะสงฆ์ตำบลหนองไผ่ล้อมเป็นประจำตลอดมาทุกปี
อาณาเขต
ทิศเหนือจรดที่นาชาวบ้านปัจจุบันขยายที่ออกถึงคลองสาธารณะ
ทิศใต้จรดทางสาธารณะและโรงเรียนบ้านจังเกา (สุสิมาลุวิทยาคาร)
ทิศตะวันออกจรดที่นาชาวบ้าน
ทิศตะวันตกจรดทางสาธารณะ
อาคารเสนาสนะต่างๆ
ภายในวัดแบ่งออกเป็นเขตใช้สอย ๔ เขตดังนี้
๑. เขตพุทธาวาส ประกอบด้วยอุโบสถ ๑ หลัง อุโบสถหลังแรกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ ทรงอีสานโบราณ วัสดุก่ออิฐฉาบปูนเสาไม้หลังคามุงสังกระสี พระประธานสร้างด้วยปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑.๙๐ เมตร สูงวัดจากแท่นถึงยอดพระเมาลี ๒.๔๕ เมตร ฐานสูง ๒ เมตร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ ต่อมาอุโบสถหลังเดิมชำรุดทรุดโทรมและไม่สามารถบูรณะซ่อมแชมได้ จึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นครอบที่เดิม ใช้เขตสีมาเดิม และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ ขนาดกว้าง ๒0 เมตร ยาว ๔0 เมตร
๒. เขตธรรมมาวาส ประกอบด้วย ศาลาการเปรียญทรงอีสานโบราณ วัสดุไม้มุงสังกระสี สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ ได้รื้อถอนหมดแล้ว และได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้นทดแทน ๒ หลัง หลังที่หนึ่ง เป็นอาคารทรงไทย วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคือมุงกระเบื้อง ประตูหน้าต่างกระจก ปูพื้นกระเบื้อง ขนาดกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๒ เมตร หลังที่สอง เป็นอาคารทรงไทยประยุค วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงสันไทย ปูพื้นกระเบื้อง ขนาดกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๘ เมตร หอระฆัง ๒ หลัง หลังที่หนึ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ วัสดุไม้ หลังที่สองเป็นทรงไทย วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก โรงครัว ๑ หลัง โรงเก็บพัสดุครุภัณฑ์ ๑ หลัง
๓. เขตสังฆาวาส ประกอบด้วย กุฏิสงฆ์ทรงอีสานโบราณ วัสดุไม้มุงสังกระสี สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ ได้รื้อถอนหมดแล้ว และได้สร้างกุฏิสงฆ์หลังใหม่ทดแทน ๑ หลัง เป็นอาคารทรงไทยประยุควัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง ขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๕ เมตร กุฏิอดีตเจ้าอาวาส ๑ หลัง กุฏิกรรมฐาน เป็นอาคารทรงไทยประยุค วัสดุไม้ จำนวน < หลัง และห้องน้ำ ๒๓ ห้อง
๔. เขตบำเพ็ญกุศลศพและสาธารณะทั่วไป ประกอบด้วย เมรุ ๑ หลัง ศาลาธรรมสังเวช ๑ หลัง เจดีย์อัฐิอดีตเจ้าอาวาส ๑ หลัง ศาลปูตา ๑ หลัง พื้นที่เหลือนอกนั้น เป็นลานคอนกรีตที่จอดรถและการจัดกิจกรรมทั่วไป มีต้นพระศรีมหาโพธิ์อายุร้อยปี ๓ ต้น ปัจจุบันเหลือ ๑ ต้น และปลูกไม้ประดับ สวนหย่อม ลานธรรม สวนป่า และชาวบ้านได้ร่วมบริจาคที่ดินให้วัดเพิ่มเติมด้านทิศเหนือวัดเพื่อขุดสระน้ำและปลูกป่าให้เกิดความร่มรื่นต่อไป
ปูชนียวัตถุและโบราณวัตถุของวัด
๑. พระพุทธรูปประธานในอุโบสถ อายุ ๑๓๕ ปี ปางมารวิชัย วัสดุปูนปั้น ศิลปะช่างชาวบ้าน หน้าตักกว้าง ๑.๙๐ เมตร สูง ๒.๔๕ เมตร ฐานพระเดิมสูง ๒.๐๐ เมตร แต่เมื่อสร้างอุโบสถใหม่ครอบได้ถมส่วนฐานไว้ทั้งหมด
๒. พระพุทธรูปโบราณอายุร้อยกว่าปี วัสดุไม้แกะสลัก ปางมารวิชัย ศิลปะช่างชาวบ้าน เดิมอยู่ในอุโบสถเก่า มีตั้งแต่ขนาดหน้าตักกว้าง ๙ นิ้ว ๗ นิ้ว ๕ นิ้ว และ ๓ นิ้ว รวมจำนวนสิบกว่าองค์
๓. หอระฆังเก่า ๑ หลัง
รายนามเจ้าอาวาส
๑. พระอาจารย์สุข พ.ศ.๒๔๑๖- พ.ศ.๒๔๒๐
๒. พระอาจารย์ลุ พ.ศ.๒๔๒๐- พ.ศ.๒๔๓๖
๓. พระอาจารย์สุรีย์ พ.ศ.๒๔๓๖- พ.ศ.๒๔๘๕
๔. พระอาจารย์สาลี พ.ศ.๒๔๘๗- พ.ศ.๒๔๙๐
๕. พระอาจารย์ทองใส พ.ศ.๒๔๙๐- พ.ศ.๒๔๙๔
๖. พระอาจารย์บุญมี พ.ศ.๒๔๙๕- พ.ศ.๒๔๕๐๐
๗. พระอาจารย์ด้วง พ.ศ.๒๕๐๐- พ.ศ.๒๕๐๔
๘. พระอาจารย์วันคำ พ.ศ.๒๕๐๕- พ.ศ.๒๕๔๕
๙. พระครูสุจิตรธรรมานุรักษ์ (สงวน) พ.ศ.๒๕๔๖- พ.ศ.๒๕๕๙
๑๐. พระอภัย ปภสุสโร พ.ศ.๒๕๖๐ รักษาการแทนเจ้าอาวาส ถึงปัจจุบัน
เกียรติประวัติของเจ้าอาวาส
รูปที่ ๑ พระอาจารย์สุข มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านขอนแก่น ตำบลหนองฮะ อำเภอสำโรงทาบ วุฒิ นธ.ตรี ๑๖ พรรษา
รูปที่ ๒ พระอาจารย์ลุ มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านจังเกา ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอสำโรงทาบ วุฒิ นธ.ตรี ๓๐ พรรษา
รูปที่ ๓ พระอาจารย์สุรีย์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ วุฒิ นธ.เอก ๓๐ พรรษา
รูปที่ ๔ พระอาจารย์สาลี มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอโนนนารายณ์ วุฒิ นธ.เอก ๒0 พรรษา
รูปที่ ๕ พระอาจารย์ทองใส มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านจาน อำเภอสนม วุฒิ นธ.เอก ๑๕ พรรษา
รูปที่ ๖ พระอาจารย์บุญมี มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านโนนสั้น อำเภอโนนนารายณ์ วุฒิ นธ.เอก ๑๐
รูปที่ ๗ พระอาจารย์ด้วง มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอสนม วุฒิ นธ.เอก ๑๓ พรรษา
รูปที่ ๘ พระอาจารย์วันคำ มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหนองแปน อำเภออุทุมพรพิสัย วุฒิ นธ.เอก ๑๐ พรรษา ท่านเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาวัดโดยทำการก่อสร้างอุโบสถหลังใหมในปัจจุบัน
รูปที่ ๙ พระครูสุจิตรธรรมานุรักษ์ (สงวน สนฺตจิตโต) มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านสะโนน้อย ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอสำโรงทาบ วุฒิ นธ.เอก ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลศรีสุข เป็นพระครูสัญญาบัตรรูปแรกของวัดสว่างอารมณ์ และได้เลื่อนชั้น สัญญาบัตรพัดยศพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นเอก ท่านได้นำพัฒนาวัดจัดสร้างเสนาสนะ เช่น ศาลาการเปรียญใหม่ กุฏิสงฆ์ใหม่ และอื่นๆทุกหลังทั้งหมดที่เห็นอยู่ปัจจุบัน มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๙ โดยท่านได้มอบร่างกายเป็นครูใหญ่ ให้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อการศึกษาทางการแพทย์
รูปที่ ๑๐ พระอภัย ปภสสโร นธ.โท ๕ พรรษา เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
คลิกเพื่อนำทาง