ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
Wat SAmrong Kao
Bak Dong Subdistrict, Khunhan District,
Sisaket Province
ประวัติวัดสำโรงเก่า
วัดสำโรงเก่า ตั้งอยู่ เลขที่ ๔๐๓ หมู่ที่ ๙ ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ คำว่า สำโรง เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง บ้านสำโรงจึงหมายความว่า กลุ่มคนหรือชุมชนที่มีต้นสำโรงเป็นสัญลักษณ์ บ้านสำโรงเก่า เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ดั้งเดิมหมู่บ้านหนึ่งในเขตอำเภอขุนหาญ ประชากรในหมู่บ้านนับถือพระพุทธศาสนามาแต่เดิม เมื่อถึงฤดูกาลทำบุญตามประเพณีต่าง ๆ ชาวบ้านก็มักจะไปร่วมทำบุญที่วัดสำโรงเกียรตินั้นเอง จนเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงได้สร้างวัดขึ้นซึ่งตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปประมาณ ๓๐๐ เมตร ไปทางทิศใต้ของหมู่บ้าน แต่เดิมที่ดินดังกล่าวนี้เป็นเนินดินเล็ก ๆ ประมาณ ๓ งาน เป็นของคุณตาโกฏิ จึงเป็นเหตุให้คนในสมัยนั้นเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดตาโกฏิ ภายหลังทางวัดได้ขอขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑๙ ไร่ เศษ ต่อมาภายหลังจึงเรียกตามชื่อของหมู่บ้านว่า วัดบ้านสำโรงเก่า หลังจากนั้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงได้มีการเสนอขออนุญาตสร้างวัดขึ้นโดยการนำของ นายวัฒนา น้ำนวล ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น จึงเป็นเหตุให้ได้รับหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดอย่างเป็นทางการขึ้น เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และต่อมาจึงได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีนามว่า วัดสำโรงเก่า ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ที่พักสงฆ์บ้านสำโรงเก่ามีพระภิกษุทำหน้าที่เป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์ดูแลตามลำดับดังนี้
๑. หลวงพ่อทอง
จากปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐
๒. หลวงพ่อเศษ สทฺธาทิโก
จากปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๕
๓. หลวงพ่ออิน ปภสฺสโร
จากปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๔
๔. หลวงพ่ออิฐ ปญฺญาธโร (มาศศรี)
จากปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๒
๕. หลวงพ่อเพียร จกฺกวโร
จากปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๔
๖. พระธนพล เขมนนฺโท (บุญขาว)
จากปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๓
วัดสำโรงเก่า ได้รับประกาศตั้งเป็นวัดอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ดังกล่าวข้างต้น จึงต้องมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังนี้
๑. พระอธิการธนพล เขมนนฺโท (พระครูเกษมวีรานุวัตร) จากปี พ.ศ. ๒๕๕๓ จนถึงปัจจุบัน
ประวัติโดย พระครูเกษมวีรานุวัตร เจ้าคณะตำบลบักดองเขต ๒ เจ้าอาวาสวัดสำโรงเก่า ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
ประวัติการสร้างอุโบสถ
อุโบสถวัดสำโรงเก่า เป็นอุโบสถเอนกประสงค์ทรงไทยสองชั้น ขนาดความกว้าง ๑๕ เมตร ความยาว ๔๘.๔๐ เมตร ความสูง ๒๗.๒๐ เมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการก่อสร้าง คือ ชั้นบนใช้เพื่อเป็นที่สำหรับทำสังฆกรรมตามพระธรรมวินัย ส่วนชั้นล่างจะใช้เป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนผู้ใฝ่ธรรม เพื่อรองรับข้อปฏิบัติของชาวพุทธในไตรสิกขา คือ ทาน ศีล ภาวนา ให้เป็นสัปปายะสภาสถาน เป็นการใช้พื้นที่ของวัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและจะเป็นอนุสรณ์การบูชาพระรัตนตรัยของชาวพุทธสืบไป
บันทึกการดำเนินการ
ข้อ ๑ คณะกรรมการได้ดำเนินการทำสัญญาจ้างกับผู้รับเหมาเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐
ข้อ ๒ ได้ดำเนินการทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ข้อ ๓ ผู้รับเหมาได้นำวัสดุอุปกรณ์ มีเหล็กเป็นต้นมาลงเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ข้อ ๔ ผู้รับเหมาได้นำเสาเข็มมาลงเพื่อเตรียมพร้อมใน
การตอกเสาเข็มเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐
ข้อ ๕ เริ่มลงมือตอกเสาเข็มเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ใช้เวลาในการตอกเสาเข็ม ๔ วัน จึงเสร็จ
ข้อ ๖ เริ่มขุดหลุมเพื่อตัดเสาเข็มสร้างฐานแพเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐
ข้อ ๗ เริ่มเทคานคอดินเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ข้อ ๘ ดำเนินการเทคานคอดินเสร็จเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
กำลังดำเนินการมุงหลังคาอุโบสถ ติดตั้งใบระกา ทาสี
รายละเอียดตามหนังสือสัญญาจ้าง งวดที่ ๖/๖.๑
บันทึก ณ วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
พิธีวางศิลาฤกษ์อุโบสถ
พระโคตมศากยมุนีศรีสำโรงสัมมาสัมพุทธเจ้า (หลวงพ่อศิลา)
พระประธานประจำอุโบสถวัดสำโรงเก่า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อิงศิลปะยุคคันธาระ ขนาดหน้าตักกว้าง ๘๐ นิ้ว ความสูง ๒.๕๑ เมตร (สูงรวมฐาน ๓.๘๖ เมตร) องค์พระมีน้ำหนัก ๔ ตัน ฐานองค์พระมีน้ำหนัก ๑๓ ตัน เป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากหินหยกเขียวอินเดีย โดยเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ คณะกรรมการวัดได้ดำเนินการทำสัญญาจ้างช่างแกะสลักหินฝีมือดีจากจังหวัดเชียงราย,อำเภอแม่สาย ให้ดำเนินการแกะสลักพระพุทธรูปโดยมีต้นความคิดจากเจ้าอาวาสที่มีความประสงค์ให้พระพุทธรูปองค์นี้มีความเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด พระพักตร์มีความเป็นชนชาวอินเดีย สื่อถึงความสุขุมลุ่มลึกและเปี่ยมด้วยพระเมตตา ครองจีวรแบบยุคแรกของการสร้างพระพุทธรูป กล่าวคือ ยุคคันธาระ ได้ดำเนินการแกะเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๔ แล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ใช้เวลาในการดำเนินการแกะสลักนานถึง ๑ ปี กับอีก ๘ เดือน จึงเสร็จสมบูรณ์และได้ประกอบพิธีอันเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ แท่นบัลลังก์ในโรงอุโบสถวัดสำโรงเก่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ บันทึก ณ วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
บันทึกการจัดสร้างรอยพระพุทธบาท
ปรารภสร้างรอยพระพุทธบาทที่ทรงคุณค่าเพื่ออุทิศบูชาแด่พระรัตนตรัย คณะกรรมการได้ดำเนินการหาหินที่มีลักษณะตามต้องการเป็นเวลาหลายเดือน จนเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นายช่างได้แจ้งว่าพบหินที่มีลักษณะตามต้องการเป็นหินแม่น้ำโขง หินธรรมชาติที่มีความงดงามและทรงคุณค่ายิ่ง หินมีขนาดความกว้าง ๑๕๐ เซนติเมตร ความยาว ๒๓๘ เซนติเมตร ความหนา ๙๐ เซนติเมตร มีน้ำหนัก ๘.๗ ตัน จึงได้ดำเนินการซื้อเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ในราคา ๒๑๗,๕๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖ คณะกรรมการได้ดำเนินการทำสัญญาจ้างให้นายช่างแกะสลักหินดำเนินการแกะสลักหินเป็นรอยพระพุทธบาทมีขนาดความกว้าง ๙๐ เซนติเมตร ความยาว ๑๘๘ เซนติเมตร ตามแบบที่แนบในสัญญา ในราคา ๔๐๐,๐๐๐ บาท โดยกำหนดให้แล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๖๖
บันทึก ณ วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๖
วัตถุมงคลที่วัดจัดสร้างในโอกาสฉลองตราตั้งวัด
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มี ๒ รุ่น คือ ๑. พระกริ่งนะโม เป็นพระกริ่งเนื้อสัมฤทธิ์ ขนาดฐานกว้าง ๑๓ มิลลิเมตร สูง ๒๖ มิลลิเมตร สร้างเพียง ๓๐๐ องค์
๒. พระสมเด็จว่าน ๑๐๘ รุ่นกระทู้เจ็ดแบก เป็นพระผงปูนเปลือกหอยผสมว่าน ๑๐๘ มีขนาดความกว้าง ๒๓ มิลลิเมตร สูง ๓๕ มิลลิเมตร จัดสร้างประมาณ ๖,๐๐๐ องค์
วัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่ระลึกให้กับผู้ที่มาร่วมในงานฉลองตราตั้งวัดนั้นเอง วัตถุมงคลที่วัดจัดสร้างในโอกาสงานประกอบพิธีอันเชิญพระประธานเพื่อประดิษฐานในโรงอุโบสถ พระโคตมศากยมุนีศรีสำโรงสัมมาสัมพุทธเจ้า(หลวงพ่อศิลา) ณ โรงอุโบสถ วัดสำโรงเก่า ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นพระเครื่องที่จำลองมาจากลักษณะ พระประธานโดยมีขนาดฐานกว้าง ๑๙ มิลลิเมตร ความสูง ๒๗ มิลลิเมตร มี ๒ เนื้อ คือ ๑. เนื้อเงินแท้ สร้างเพียง ๑๕๐ องค์
๒. เนื้อทองฝาบาตรรมดำ สร้างจำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์
วัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจในการได้มีส่วนร่วมสร้างพระประธานที่แกะสลักจากหินหยกเขียวอินเดียซึ่งมีขนาดหน้าตักถึง ๘๐ นิ้ว (๒ เมตร)
มีน้ำหนักรวมฐานถึง ๑๗ ตัน และจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของวัดสำโรงเก่าสืบไป
ประวัติ พระครูเกษมวีรานุวัตร
พระครูเกษมวีรานุวัตร ฉายา เขมนนฺโท
สังกัด มหานิกาย
ชื่อเดิม นายธนพล นามสกุล บุญขาว เกิดเมื่อวันที่ ๑ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ณ บ้านเลขที่ ๕๑/๑ บ้านสำโรงเก่า หมู่ที่ ๙ ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบุตรคนที่ ๒ ของพ่อสน บุญขาว แม่ลิม บุญขาว(น้อยศรี) มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา ทั้งหมด ๔ คน
บรรพชาอุปสมบท
บรรพชา ณ วัดบักดอง ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
พระอุปัชฌาย์ พระครูวีรปัญญาภรณ์ วัดบ้านด่าน ตำบลสิ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
อุปสมบท ณ อุโบสถวัดบักดอง ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
พระอุปัชฌาย์ พระครูวีรปัญญาภรณ์ วัดบ้านด่าน ตำบลสิ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
พระกรรมวาจาจารย์ พระสมุห์คีรี รตนสาโร วัดอารางสุทธาวาส ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
พระอนุสาวนาจาจารย์ พระใบฎีกาสมัย สมฺปนฺโน วัดบ้านตาหมื่น ตำบลโพธิ์วงศ์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
ใบสุทธิเลขที่ ๒๕/๒๕๔๒ ออก ณ วันที่ ๒๒ เดือนสิงหาคมพ.ศ. ๒๕๔๒
วิทยฐานะ – จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ – นักธรรมชั้นเอก
ด้านการศึกษา เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ของคณะสงฆ์ตำบลบักดองตั้งแต่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ เป็นต้นมา
การเข้ารับการอบรมหลักสูตร
– พ.ศ. ๒๕๔๕ จบหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ รุ่นที่ ๓๑ ศูนย์วิปัสสนาจารย์วัดสุวรรณประสิทธิ์
– พ.ศ. ๒๕๕๑ จบหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ ศูนย์การคณะสงฆ์ภาค ๑๐
– พ.ศ. ๒๕๕๖ จบหลักสูตรโครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย