วัดหลวงสุมังคลาราม
ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
Wat Luang Sumang Khlaram
Mueang Tai Subdistrict Mueang Sisaket District,
Sisaket Province
วัดหลวงสุมังคลา เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต
สร้างวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งแรกประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๐ ครั้งที่ ๒ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๗ ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๓ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔วัดสร้างขึ้นในสมัยตันกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งราชวงศ์จักรี สร้างเมื่อปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๓๒๘ จุลศักราช ๑๑๔๗ คำนวณอายุเริ่มสร้างมาถึงปัจจุบันประมาณ ๖๐๐ กว่าปี เดิมวัดตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขุขันธ์
ผู้สร้างวัดนี้ ปรากฏตามบอกเล่ากันมาว่า พระยาวิเศษภักดีศรีนครลำดวน (ชม) ผู้ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนที่ ๒ นับตั้งแต่ตั้งเมืองศรีสะเกษมา พระยาวิเศษภักดีฯ (ชม) นี้ เป็นบุตรของ พระยารัตนวงศา (อุ่น) เจ้าเมืองคนที่ ๑ ผู้ซึ่งได้ขอแยกจากเมืองขุขันธ์มาตั้งเมืองใหม่อยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองขุขันธ์ ห่างประมาณกว่า ๔๐ กิโลเมตร และได้ตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า ” เมืองศรีสะเกษ “ ส่วนเมืองขุขันธ์ปัจจุบันได้กลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ
ต่อมาเมื่อพระยาวิเศษภักดีศรีนครลำดวน (ชม) ได้เป็นเจ้าเมืองคนที่ ๒ ต่อจากพระยารัตนวงศา (อุ่น) ก็มีศรัทธาแรงกล้า ได้ชักชวนราษฎร ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนดำเนินการจัดตั้งวัดคู่เมืองศรีสะเกษ เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นสิริมงคลในการที่พระยารัตนวงศา (อุ่น) ผู้เป็นบิดาได้มาตั้งเมืองศรีสะเกษขึ้นและได้ตั้งนามวัดนี้ว่า “วัดศรีสุมังค์”หลังจากที่พระยาวิเศษภักดีศรีนครลำดวน (ชม) และผู้สืบตระกูลได้จัดตั้งวัดศรีสุมังค์และได้นิมนต์พระสงฆ์มาเป็นเจ้าอาวาสและอยู่จำพรรษาตามลำดับ จนกระทั่งสมัยท่านหลักคำโส โชติปาโลเป็นเจ้าอาวาสได้ปลูกสร้างเสนาสนะและก่อสร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อย ได้ทำพิธีผูกพัทธสีมามาแล้วประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๘ เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน “พระวิเศษมิ่งเมือง” อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง มาพร้อมกับพระยาวิเศษภักดีศรีนครลำดวน (ชม) พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปลักษณะสมัยสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปที่พระยาวิเศษภักดีศรีนครลำดวน (ชม) และประชาชนเคารพนับถือมาก วันเพ็ญเดือน ๓ ของทุกปีจะมีเทศกาลนมัสการ พร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุ
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ทางราชการได้ใช้วัดศรีสุมังค์เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) และข้าราชการ ซึ่งเป็นพิธีหลวงประชาชนจึงนิยมเรียกชื่อว่า ” วัดหลวงศรีสุมังคลาราม “ ต่อมาได้เรียกชื่อเปลี่ยนแปลงเป็น ” วัดหลวงสุมังคลาราม “ และใช้มาเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน
อาคารเสนาสนะ
- พระอุโบสถ กว้าง ๑๒.๕๐ เมตร ยาว ๒๘.๕๐ เมตร ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
- พระวิหาร กว้าง ๑๒.๕๐ เมตร ยาว ๒๘.๕๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔
- ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กและไม้เนื้อแข็ง
- กุฏิสงฆ์ ๑๒ หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๙ หลัง
- กุฏิเจ้าอาวาส ๑ หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้
- ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๒ เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
- ศาลาบำเพ็ญกุศล ๒ หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๑ หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๑ หลัง
- ฌาปนสถาน กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
- หอระฆัง กว้าง ๕ เมตร ยาว ๕ เมตร สูง ๑๒ เมตร (ไม่รวมยอด) ๓ ชั้น สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
- โรงเรียนพระยัติธรรม ๑ หลัง เป็นอาคารเรียน ๒ ชั้น ๖ ห้องเรียน สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
- โรงเรียนราษฏร์การกุศลของวัด ๓ หลัง เป็นอาคารคอนกรีต ๑ หลัง อาคารไม้เนื้อแข็ง ๑ หลัง อาคารคอนกรีต ๑ หลัง
- พระวิเศษมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปมีลักษณะแบบสุโขทัย
- บุษบกลงรักปิดทอง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนี้
รูปที่ ๑ ท่านหลักคำโส โชติปาโล ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๘ – ๒๔๐๗
รูปที่ ๒ พระอาจารย์พันธ์ ธมฺมรกฺขิโต พ.ศ. ๒๔๐๘ – ๒๔๓๗
รูปที่ ๓ พระครูเกษตรสีลาจารย์ (ทอง จนฺทสโร)
พ.ศ. ๒๔๓๘ – ๒๔๗๗
รูปที่ ๔ พระญาณวิเศษ (ศรี ฐิตธมฺโม) พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๕๒๙
รูปที่ ๕ พระราชวราลังการ (เที่ยง ปภาโส ป.ธ.๗)
พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๔๖
รูปที่ ๖ พระราชญาณโสภณ
รูปที่ ๗ พระครูสิริวินัยวัฒน์ (รักษาการแทนเจ้าอาวาส)
การศึกษาและการสาธารณสงเคราะห์
วัดหลวงสุมังคลารามเป็นศูนย์รวมการศึกษาพระปริยัติธรรมในสมัยโบราณ มีโรงเรียนราษฏร์การกุศลของวัดเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ในด้านสาธารณสงเคราะห์ ทางวัดมีแหล่งน้ำที่เป็นตาน้ำไหลให้ใช้ตลอดปี ยังอาชีพแก่ชาวบ้านให้มีรายได้ตลอดมา
อาณาเขต
ที่ดินตั้งวัด มีเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๒ งาน ๓๒ ๑/๑๐ ตารางวา
ที่ดินที่ธรณีสงฆ์ มี ๑ แปลง ติดต่อกับเขตวัดทางทิศตะวันตก เนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๙๐ ตารางวา
- ทิศเหนือ จดติดต่อกับถนนอุบล
- ทิศใต้ จดติดต่อกับถนนวันลูกเสือ
- ทิศตะวันออก จดติดต่อกับถนนศรีสุมังค์
- ทิศตะวันตก จดติดต่อกับที่ธรณีสงฆ์ของวัด และถัดจากที่ธรณีสงฆ์เป็นถนนวิจิตรนคร