วัดโนนแกด
หมู่ที่ ๗
ตําบลทุ่ม
อำเภอเมืองศรีสะเกษ
จังหวัดศรีสะเกษ
Wat Nonkad
Thum Subdistrict, Mueang Sisaket District,
Sisaket Province
ประวัติหลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม
พระอริยสงฆ์ ๖ แผ่นดิน แห่งดินแดนอีสานใต้
วัดโนนแกด ตำบลทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
งานสมโภชมณฑปที่บรรจุอัฐิธาตุหลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม วันเสาร์ที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๗


อาคารจุลล์จักรเตชธมฺโมศรีอาริยเมตไตรย์ ถวายโดย บริษัทซูเลีย (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย ดร.ปิยวัฒน์ จุลล์จักรวงศา พร้อมคณะ
ประวัติวัดโนนแกด
วัดโนนแกด หมู่ที่ ๗ ตำบลทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. ๒๓๔๒ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๕๒
วัดตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้านในปัจจุบัน ห่างจากตัวจังหวัด ๑๓ กิโลเมตร ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ มีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๓ งาน ๗๕ ตารางวา ต่อมาหลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม เจ้าอาวาสวัดโนนแกด พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ของท่านได้ซื้อที่ดินด้านทิศตะวันออกถวายวัดเพิ่มเติม ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ จึงมีเนื้อที่รวม ๔๒ ไร่
วัดสร้างมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในบริเวณวัดยังเป็นสถานที่ตั้งพระธาตุเก่าแก่ ซึ่งตามหลักฐานของคนโบราณรุ่นก่อนเล่าว่าก่อสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๑๑๔๐ (สมัยขอม)
ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
๑. หลวงตาสา
๒. หลวงพ่อหลักเส-ตาวง
๓. หลวงตามา
๔. หลวงตาโสม
๕. หลวงพ่อสังฆะฮาด
๖. หลวงพ่อครูจารแก้ว
๗. หลวงพ่อชาตาพา
๘. หลวงพ่อจารพระพา
๙. หลวงพ่อทอง
๑๐. หลวงพ่อเพ็ง
๑๑. หลวงพ่อทอง
๑๒. หลวงพ่อจารภู
๑๓. พระอธิการบุญ
๑๔. พระอธิการทัน
๑๕. พระครูวิสุทธิกิตติสาร (บุญเลื่อน)
๑๖. พระครูโกวิทพัฒโนดม (หลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม)
๑๗. พระอธิการสมจิตร ปญฺญาสิริ (๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ ถึงปัจจุบัน)
ประวัติหลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม
ชาติภูมิ
หลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม ชื่อเดิม เกลี้ยง นามสกุลคุณมะนะ (นามสกุลเดิม ณวบุตร)
เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ที่บ้านก้านเหลือง ตำบลหมากเขียบ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
บิดาชื่อ นายบุญมี ณวบุตร มารดาชื่อ นางผิวคุณมะนะ มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คน
ด้านการศึกษา
- เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดบ้านทุ่ม ตำบลทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นสูงสุดในสมัยนั้น
- ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ หลวงปู่สอบผ่านได้เป็นครูช่วยสอน สอนครั้งแรกที่โรงเรียนวัดบ้านโนนแกด ทางราชการให้ย้ายไปช่วยสอนที่โรงเรียนบ้านโพรง ตำบลไพรบึง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ทำการสอนอยู่ ๓ ปี ๖ เดือน จึงได้ลาออก
- หลวงปู่ได้บวชเป็นสามเณร สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีและนักธรรมชั้นโท
ด้านหน้าที่การงาน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงปู่มีอายุครบ ๒๑ ได้ลาสิกขาเข้ารับราชการทหาร ไปประจำการอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับคัคเลือกให้เข้าเรียนต่อนายสิบทหารที่โรงเรียนนายสิบจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเรียนจบหลักสูตร ๒ ปี ประดับยศสิบตรี ได้ออกปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนประเทศกัมพูชาและประเทศลาว ในขณะนั้นเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา หลวงปู่ได้เข้าร่วมรบในเขตประเทศลาวจนถึงประเทศเวียดนามประมาณ ๒ ปี ๗ เดือน ระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ท่านได้มีโอกาสฝึกวิชาแพทย์สนาม ได้ศึกษาวิชายาสมุนไพรและวิชาอื่น ๆ จากพระธุดงค์และปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความรู้เรื่องสมุนไพร และได้ย้ายเพื่อมารับใช้ผู้บังคับบัญชาพร้อมทั้งได้รับตำแหน่งใหม่ คือ ผู้ช่วยเสมียนสัสดีอำเภอ ปฏิบัติหน้าที่ได้ประมาณ ๒ ปี ๓ เดือน
ด้านชีวิตครอบครัว
ในชีวิตฆราวาสหลวงปู่ได้แต่งงานมีครอบครัวกับคุณแม่เลิง คุณมานะ (ถึงแก่กรรมแล้ว) มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน คือ นางเปี่ยง ทรงกลด (ถึงแก่กรรมแล้ว) และได้รับบุตรบุญธรรมไว้ในอุปการะหนึ่งคน คือ นายอุทิศ คุณมานะ (ถึงแก่กรรมแล้ว) ท่านได้นำครอบครัวดำเนินชีวิตมาอย่างมีความสุข เป็นผู้นำของครอบครัวที่เป็นตัวอย่างของสังคม เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในทุก ๆ ด้าน ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน จนเป็นที่ยอมรับของชุมชน ได้รับการแต่งตั้งจากชาวบ้านและผู้ปกครองหมู่บ้านให้ทำหน้าที่ตุลาการ (พ่อโต่หรือพ่อใหญ่) และต่อมาได้รับการแต่งตั้งมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษากำนันตำบลทุ่มด้วย
ด้านการศึกษาวิทยาคมและความรู้ความสามารถพิเศษ
- หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์อ้วน (พระครูธรรมสาราจารย์) วัดบ้านทุ่ม เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านตอนบวชเป็นสามเณร
- พระครูนิวาสวัฒนาการ (พันธ์ สุวณฺโณ) วัดบ้านดวนใหญ่ หลวงปู่ไปจำพรรษาเพื่อเรียนนักธรรมชั้นตรี และสอบได้นักธรรมชั้นตรีในสำนักเรียนนี้
- พระอาจารย์วัดบ้านปลัดปุก หลวงปู่เดินทางไปจำพรรษาเพื่อเรียนนักธรรมชั้นโท และสอบได้นักธรรมชั้นโทในสำนักเรียนนี้
- ท่านพระครูธรรมจินดามหามุนี (เดช) วัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) หลวงปู่ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ตั้งแต่ครั้งมาสอบนักธรรมชั้นตรี และก่อนไปฝึกทหารที่จังหวัดอุบลราชธานีได้เข้ากราบขอพรท่านที่วัดมหาพุทธาราม ท่านได้ให้วัตถุมงคลแก่หลวงปู่พร้อมด้วยพระคาถาเก้าดีสิบดี ใช้ภาวนาป้องกันภัยอันตรายในการเข้าร่วมสงคราม เมื่อกลับจากราชการทหารแล้ว หลวงปู่ได้ไปเรียนพระคาถาจักรวุธองค์การพระพุทธเจ้าห้าพระองค์และเรียนพระคาถาวิชาอื่น ๆ จากท่านพระครู
- ท่านพระครูเกษตรศีลาจารย์ (ทอง จนฺทสาโร) วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม หลวงปู่ได้สนทนาธรรมกับท่านพระครูอยู่เสมอ
- ท่านพระครูประสาธขันธคุณ (หลวงพ่อมุม อินฺทปญโญ) วัดปราสาทเยอเหนือ หลวงปู่ถือเป็นลูกศิษย์ผู้สืบทอดวิทยาคมและหลายสิ่งหลายอย่างจากหลวงพ่อมุมโดยแท้
- หลวงพ่อสอน วัดบ้านเปือย เมื่อหลวงปู่เกลี้ยงเดินทางไปหาหลวงพ่อมุม มักจะแวะเข้ากราบหลวงพ่อสอนที่วัดบ้านเปือย เพื่อขอศึกษาวิชาอาคมด้วยเสมอ
- ท่านเจ้าคุณพระเกษตรศีลาจารย์ (หนู อุสฺสาโห) วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่
- พระอาจารย์บุญเรือง เขมโชโต เป็นพระธุดงค์กรรมฐาน หลวงปู่ได้ไปอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านที่เขาพริก อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๙
- พ่อบุญธรรมของหลวงปู่ มีความเชี่ยวชาญด้านยาสมุนไพรและการรักษาโรคทุกชนิด พอกลับจากราชการทหาร หลวงปู่จึงได้เดินทางไปเรียนวิชากับท่าน
- อาจารย์บาน บ้านหนองครก ท่านผู้นี้เป็นหมอธรรมใหญ่ หลวงปู่ได้ไปขอบวชธรรม และเรียนวิชากับอาจารย์บาน ยังได้ไปขอบวชธรรมและเรียนวิชากับอาจารย์หมอธรรมอีกหลายท่านด้วย
- กำนันทองสุข นามทองใบ กำนันตำบลหมากเขียบ หลวงปู่ได้ไปเรียนพระคาถาคามณีจินดาใหญ่และเรียนอีกหลายอย่าง
หลวงปู่ได้นำวิชาความรู้ที่ได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ มาฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการบวชธรรม ถือเป็นการกรรมฐานแบบโบราณ ด้วยบุญบารมีและคุณงามความดี ประกอบกับความขยันและการเอาจริงในการปฏิบัติธรรมจึงเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นในตัวของท่าน เกิดเป็นพลังจิตที่ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งในปัญหาทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต สามารถรู้เห็นในสิ่งที่คนทั่วไปไม่สามารถรู้เห็นได้ ท่านมีนิมิตบันดาล และได้ใช้ความรู้ด้านวิชายาสมุนไพรมาสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชน ตลอดถึงการทำพิธีกรรมต่าง ๆ หรือต้องเคราะห์เข็ญเวรร้ายไม่สบายกายไม่สบายใจ ท่านก็ช่วยสงเคราะห์มาโดยตลอด
อุปสมบท
๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๑๐.๔๕ น. ณ อุโบสถ วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
มีพระเกษตรศีลาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์
มีพระครูมงคลกิงประสาทน์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
มีพระสมุห์บุญทัน สนฺตจิตฺโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้ชื่อฉายาว่า เตชธมฺโม แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดโนนแกด
อุปนิสัยของหลวงปู่
ท่านเป็นคนขยันมาแต่กำเนิด สมัยที่ท่านแข็งแรง เมื่อว่างจากแขกท่านจะเอาจอบเสียมไปดายหญ้าบริเวณลานวัด ท่านเป็นคนตื่นเช้า ตีสองตีสาม ตื่นมาไหว้พระสวดมนต์ ซึ่งจะใช้เวลานานพอสมควร และการไหว้พระสวดมนต์ของท่านมีตอนบ่าย ตอนค่ำ พร้อมทั้งตอนดึก ในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษา ท่านยังลงนำทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นกับคณะสงฆ์ในวัด เวลาว่างชอบอ่านหนังสือจนมีความจำเป็นเลิศ เมื่อท่านอ่านหนังสือจบจะเล่าตามหนังสือได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ค่อนข้างเจ้าระเบียบมากพอสมควร ท่านบอกว่าติดนิสัยมาจากการเป็นทหาร เพราะทหารมีระเบียบวินัย เป็นคนดุมีอำนาจในตัวเอง หากว่าใครทำอะไรไม่ถูก ท่านจะด่าให้ได้สติโดยไม่เกรงใจ แต่ก็แฝงด้วยความเมตตาหาที่สุดประมาณมิได้ หลวงปู่ท่านจะสงเคราะห์ทุกคนที่มาขอความช่วยเหลือด้วยความเต็มใจโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
เรื่องการพัฒนาและการสังคมสงเคราะห์
ในเรื่องการพัฒนาและการสังคมสงเคราะห์ ท่านช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ ด้วยปัจจัยที่ลูกศิษย์นำมาถวายเป็นเครื่องบูชาคุณ ท่านเอามาพัฒนาวัดทั้งที่วัดโนนแกด เสนาสนะและสิ่งก่อสร้างทั้งหลายที่เกิดขึ้นก็ด้วยบุญบารมีของท่านทั้งหมด รวมถึงวัดอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้หรือไกล ทั้งที่อยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษหรือต่างจังหวัด หากมาขอความช่วยเหลือท่านก็จะช่วยทุกราย ตลอดถึงสาธารณะประโยชน์อื่น ๆ เมื่อเข้ามาขอความอุปถัมภ์ท่านก็ช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๖ และในปี พ.ศ. ๒๕๕๘
ท่านได้เป็นผู้นำในการบูรณะเจดีย์พระพุทธศรีธาตุวัดโนนแกด สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๒๔,๐๙๙,๕o๔ บาท
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ท่านได้เป็นประธานในการก่อสร้างอาคารเรียนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดสองชั้นแปดห้องเรียนให้โรงเรียนบ้านโนนแกด งบประมาณสี่ล้านบาท จากหนังสือปู่ชนียบุคคลของอีสาน หลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งรวบรวมโดยนายอุทัยพันธ์ นางวรรณพร สงวนเสริมศรี สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุรินทร์ และภริยา ได้กล่าวถึงผลงานการก่อสร้างและการบูรณปฏิสังขรณ์ ตลอดถึงการบริจาคเพื่อสาธารณะประโยชน์ของหลวงปู่ ที่พอจะรวบรวมได้จากปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๓ ไม่น้อยกว่า ๖๐ ล้านบาท
พระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยที่มีความคุ้นเคยกับ
หลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม
- หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท วัดสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ หลวงปู่ได้ให้ความเคารพเป็นอย่างมาก สมัยที่หลวงปู่ยังไม่มรณภาพ ท่านจะไปเยี่ยมเยือนและร่วมพิธีที่วัดสระกำแพงใหญ่อยู่บ่อยครั้ง และหลวงปู่เครื่องก็เคยมาเป็นประธานในงานทำบุญฉลองอายุ ๘๘ ปี ของท่านที่วัดโนนแกดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ หากว่ามีลูกศิษย์จากวัดหลวงปู่เครื่องมากราบขอพรท่าน หรือว่ามีลูกศิษย์จะเดินทางไปกราบหลวงปู่เครื่องที่วัดสระกำแพงใหญ่ ท่านจะฝากสิ่งของเครื่องไทยธรรมไปถวาย พร้อมกับคำพูดที่ฝากถึงหลวงปู่เครื่องด้วยความเคารพ ท่านทั้งสองพูดคุยสนทนาถูกคอกันมาก เมื่อหลวงปู่เครื่องแนะนำอะไรมา ท่านจะทำตามทุกอย่างด้วยความเต็มใจ หลวงปู่เครื่องมักจะเรียกหลวงปู่เกลี้ยงว่า “มนุษย์หินหรือมนุษย์เหล็ก” เพราะว่าหลวงปู่เกลี้ยงมีอายุมากกว่าหลวงปู่เครื่องสองปี แต่ยังแข็งแรงดีเดินเองได้เหมือนกับคนหนุ่ม ตอนที่หลวงปู่เครื่องอาพาธท่านจะถามข่าวจากลูกศิษย์อยู่เสมอ พร้อมทั้งให้ลูกศิษย์ไปเยี่ยม และตัวท่านเองก็ได้ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลศรีสะเกษด้วยเช่นกัน ต่อมาหลวงปู่เครื่องมรณภาพเมื่อเวลากลางคืนของวันที่ ๒๗ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ในตอนเช้าของวันที่ ๒๘ หลวงปู่เกลี้ยงรีบเดินทางไปที่วัดสระกำแพงใหญ่ เพื่อคารวะขอขมากรรมและสรงน้ำสรีระสังขารหลวงปู่เครื่อง พร้อมทั้งได้ไปร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลในแต่ละขั้นตอนเกือบทุกครั้ง
- หลวงปู่เจียม อติสโย วัดอินทราสุการาม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ท่านมีความคุ้นเคยกันมาก ไปมาหาสู่กัน ถึงขนาดแลกเปลี่ยนวัตถุมงคลซึ่งกันและกันไปแจกให้ลูกศิษย์
- หลวงปู่สวน ฉนฺทโร วัดนาอุดม บ้านนาทม อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี หลวงปู่เคยนิมนต์ท่านมาจุดเทียนชัยงานพุทธาภิเษกศาลาการเปรียญที่วัดโนนแกด เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓
- หลวงปู่กิ ธมฺมุตฺตโม วัดป่าสนามชัย อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี หลวงปู่ได้นิมนต์ท่านมาร่วมงานพุทธาภิเษกศาลาการเปรียญเช่นกัน แต่ท่านมรณภาพเสียก่อน
- หลวงปู่เกลี้ยง ธมฺมทินฺโน วัดวิสุทธิโสภณ บ้านเป๊าะ อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ ท่านทั้งสองเจอกันบ่อยในงานกิจนิมนต์ และหลวงปู่ได้นิมนต์ท่านมาร่วมงานพุทธาภิเษกศาลาการเปรียญเช่นกัน ครั้งหนึ่งท่านมาร่วมกิจนิมนต์ในตัวเมืองศรีสะเกษด้วยกัน หลวงปู่เกลี้ยง ธมฺมทินฺโน ตามมาดูวัดโนนแกดด้วย หลวงปู่ได้ถวายบาตรน้ำมนต์หินอ่อนแก่ท่าน ทุกวันนี้ยังเหลืออยู่ที่วัดวิสุทธิโสภณ
- หลวงปู่ประสาน อรหปจฺจโย วัดโนนผึ้ง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ หลวงปู่ได้นิมนต์ท่านมาร่วมงานพุทธาภิเษกศาลาการเปรียญเช่นกัน
- หลวงปู่ธรรมรังษี วัดเขาพนมดิน อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ท่านทั้งสองมีความคุ้นเคยสนิทสนมกันมาก และต่างก็ได้นิมนต์ซึ่งกันและกันไปร่วมงานที่วัดเป็นประจำ
- หลวงปู่ห้วยหรือพระราชญาณโสภณ วัดป่าประชารังสรรค์ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ หลวงปู่ว่าพระมหาเถระรูปนี้มีบารมีมาก และจะให้ไปนิมนต์ท่านมาร่วมงานที่
วัดโนนแกดเป็นประจำ - หลวงปูหงษ์ พรหฺมปญฺโญ วัดสุสานทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ท่านทั้งสองได้รู้กันในกิจนิมนต์และไปเยี่ยมเยือนกันทั้งสองฝ่าย
- หลวงปู่คำบุ คุตฺตจิตฺโต วัดกุดชมภู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี หลวงปู่ได้นิมนต์ท่านมาร่วมงานพุทธาภิเษกที่วัดโนนแกดหลายครั้ง และหลวงปู่ก็เคยไปร่วมงานพุทธาภิเษกที่วัดท่านเช่นกัน
- หลวงปู่เพ็ง จนฺทรํสี วัดละทาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ หลวงปู่เคยไปร่วมงานพุทธาภิเษกที่วัดของท่าน และหลวงปู่จะให้ไปนิมนต์ท่านมาร่วมงานที่วัดเป็นประจำ
- หลวงปู่ทองใบ โพธิปญฺโญ วัดคูสี่แจ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ท่านเคยมาให้หลวงปู่ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้ที่วัดโนนแกด และหลวงปู่ก็เคยนิมนต์ท่านมาร่วมงานเททองหล่อพระกริ่ง พร้อมทั้งร่วมงานพุทธาภิเษกด้วย
- หลวงปู่คำดี ฐิตธมฺโม วัดบูรพา บ้านผึ้ง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ท่านเคยร่วมเดินทางไปอินเดียคณะเดียวกัน และหลวงปู่ได้นิมนต์ท่านมาร่วมงานที่วัดเป็นประจำ
- หลวงปู่สาย ปาโมกฺโข วัดตะเคียนราม อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ หลวงปู่เคยนิมนต์ท่านมาร่วมงานพุทธาภิเษกที่วัดโนนแกด
- หลวงพ่อปัดสี อสฺสโว วัดโนนอีปัง ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษหลวงปู่จะให้ไปนิมนต์ท่านมาร่วมงานทำบุญอายุ และงานพุทธาภิเษกอยู่เสมอ
เหรียญรุ่น ปลดหนี้เกลี้ยง รวยมหาเศรษฐี
วัตถุมงคลของหลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม
ในยุคแรก ๆ ก็มีเพียงฝ้ายมงคล น้ำมนต์ ต่อมามีลูกศิษย์นำแผ่นโลหะ เช่น ทองแดง ทองเหลือง ตะกั่ว มาให้ท่านทำตะกรุด (หลวงปู่เรียกหมากหลอด) ท่านก็จารอักขระเลขยันต์ และปลุกเสกให้ ซึ่งการจารอักขระเลขยันต์ของหลวงปู่นั้นจะเป็นตัวธรรม (ขอมลาว) หรือวัสดุตามที่ท่านหาได้ และมีผ้ายันต์ โดยท่านจะใช้ผ้าขาวเขียนให้ลูกศิษย์ที่มาขอ
- เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกหลังช้างสามเศียร อักขระตัวธรรมสองแถว ปี ๒๕๑๙ เป็นเหรียญที่หลวงพ่อมุม อินฺทปญฺโญ วัดปราสาทเยอเหนือ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ
พระอาจารย์องค์สำคัญของท่าน ได้เมตตาเขียนคาถาอักขระตัวธรรมให้มาลงด้านหลังเหรียญ เหรียญรุ่นนี้หลวงปู่ตั้งใจจะสร้าง จำนวน ๒,๕๐๐ เหรียญ แต่บล็อกแตกถึงสามครั้งจึงได้เหรียญประมาณ ๘๐๖ เหรียญ ท่านแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ที่ร่วมสมทบทุนสร้างศาลาการเปรียญหลังเก่า ปี ๒๕๒๐ และหอระฆัง ปี ๒๕๒๑ - เหรียญรูปเหมือนรุ่นพิเศษ หลังอักขระตัวธรรมห้าแถว ปี ๒๕๒๓
- พระผงสมเด็จพระพุทธศรีธาตุ ปี ๒๕๒๕
- พระผงสมเด็จพระพุทธศรีธาตุ ปี ๒๕๒๖ (องค์เล็กหรือที่เรียกว่าสมเด็จคะแนน) ให้เช่าบูชาเพื่อสมทบทุนสร้างเจดีย์พระพุทธศรีธาตุ ปี ๒๕๒๕ – ๒๕๒๙
- เหรียญล็อกเก็ตพระครูปลัดเกลี้ยง รุ่นฉลองสมณศักดิ์พระครูปลัด ปี ๒๕๒๘
- เหรียญล็อกเก็ตพระครูปลัดเกลี้ยง หลังภาพถ่ายเจดีย์พระพุทธศรีธาตุ ปี ๒๕๒๙
- พระนาคปรกใบมะขาม (องค์เล็ก ๆ) เนื้อตะกั่ว ปี ๒๕๓๐
- รูปเหมือนบูชา ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว ปี ๒๕๓๑ ท่านแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ที่ร่วมสมทบทุนสร้างอุโบสถ
- เหรียญล็อกเก็ตจีวรสีกรักหลังยันต์ห้า ปี ๒๕๓๑
- เหรียญรูปเหมือนหลังอักขระตัวธรรมหกแถว ปี ๒๕๓๒
- เหรียญรูปเหมือนฉีดเล็ก ปี ๒๕๓๔
- เหรียญรูปเหมือนฉลองสมณศักดิ์พระครูโกวิทพัฒโนดม หลังเจดีย์พระพุทธศรีธาตุรุ่นเกลี้ยงทุกข์ ปี ๒๕๓๕
- พระยอดธงกายสิทธิ์เนื้อสัมฤทธิ์ทอง ปี ๒๕๓๕
- เหรียญรูปเหมือนหลังอักขระตัวธรรมสามแถว ปี ๒๕๓๖
- พระผงรูปเหมือน ปี ๒๕๓๖
- รูปเหมือนบูชา ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว ปี ๒๕๓๗
- เหรียญรูปเหมือนหลังพระนาคปรกรุ่นเกลี้ยงภัย ปี ๒๕๓๘
- เหรียญล็อกเก็ตหลังเจดีย์พระพุทธศรีธาตุ ปี ๒๕๓๘
- เหรียญรูปเหมือนรุ่นบูชาคุณ ของโรงเรียนบ้านโนนแกด ปี ๒๕๓๙ ให้เช่าบูชาเพื่อสมทบทุนสร้างห้องสมุด
- เหรียญเสมา รูปเหมือนหลังอักขระตัวธรรมสี่แถวรุ่นเกลี้ยงโศก ปี ๒๕๔๐
- รูปเหมือนลอยองค์ ขนาดห้อยคอเททองหล่อที่วัด ปี ๒๕๔๐
- เหรียญเสมาเล็ก รูปเหมือนหลังอักขระตัวธรรมสี่แถวรุ่นเกลี้ยงหนี้ ปี ๒๕๔๒
- วัตถุมงคลรุ่นฉลองศาลาการเปรียญ ซึ่งมีพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ในวันเสาร์ที่ ๑๙ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ มีทั้งพระสมเด็จพระผงรูปเหมือน แหวนรุ่นแรก เหรียญอาร์มเล็กหลวงปู่นั่งเต็มองค์หลังยันต์ห้า พร้อมทั้งวัตถุมงคลอีกหลายอย่างที่นำมาเข้าพิธี ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันการสร้างวัตถุมงคลของหลวงปู่ได้มีมาอย่างต่อเนื่อง หลากหลายรูปแบบตามสมัยนิยม การสร้างนั้นมีทั้งที่วัดโนนแกดสร้างเอง ตลอดถึงวัดอื่น และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งผู้มีจิตศรัทธามาขออนุญาตสร้าง หากใครเคยเดินทางไปกราบขอพรหลวงปู่ที่วัด ท่านจะแจกวัตถุมงคลให้ด้วยความเมตตาพร้อมทั้งบอกถึงข้อปฏิบัติต่าง ๆ และให้ศีลให้พรด้วยความปรารถนาดีต่อลูกศิษย์ทุกคน
- วัตถุมงคลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของหลวงปู่ก็คือ ชานหมาก ท่านจะพิถีพิถันปั้นด้วยตัวของท่านเอง และแจกให้แก่ลูกศิษย์ผู้มีความต้องการ ทั้งบอกถึงวิธีใช้ คำอาราธนาคำภาวนา หากใครปฏิบัติได้ตามที่ท่านบอกกล่าว ย่อมส่งผลให้ผู้นั้นพบกับความสุขความเจริญตลอดไป มีลูกศิษย์เคยถามหลวงปู่ว่าวัตถุมงคลของท่านดีทางไหน ท่านได้ตอบว่าดีทุกอย่าง ขอให้คนผู้รับไปตั้งมั่นอยู่ในคุณศีล คุณธรรม มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ ห้ามไปยิงนก ตกปลา ไปล่าสัตว์ เพราะว่าจะไม่ได้นก จะไม่ได้ปลา และจะไม่ได้สัตว์สักตัว
- ในปี ๒๕๓๔ หลังจากงานผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตอุโบสถ (๑ – ๒ มีนาคม ๒๕๓๔) หลวงปู่ท่านได้ประกาศให้ชาวบ้านทุกคนไปรับวัตถุมงคล โดยท่านแจกเรียญรูปเหมือนปี ๒๕๓๒ และพระผงสมเด็จพระพุทธศรีธาตุปี ๒๕๒๖ พร้อมทั้งได้บอกถึงข้อปฏิบัติตามที่กล่าวมา และท่านยังได้บอกอีกว่าพระของท่านป้องกันภูตผีปีศาจได้ทุกอย่าง หากใครห้อยพระของท่านแล้วโดนผีหลอก หรือโดนผีทำร้ายให้ไปรับค่าปรับไหมจากท่านได้