ตำบลโพธิ์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ


Wat Sri Ming Mueang

Pho Subdistrict, Mueang Sisaket District,
Sisaket Province

 

“พระพุทธเจ้าใหญ่มิ่งเมือง”

ประวัติวัดศรีมิ่งเมือง

พระครูสุตวราลังการ เจ้าอาวาสวัดศรีมิ่งเมือง พร้อมทั้งคุณโยมประกอบทรัพย์ สีละสังวร และคุณโยมแม่ประคอง พันธ์โคตร ได้ช่วยกันสอบถาม ค้นคว้าประวัติความเป็นมาในการตั้งวัดนี้จากปากท่านผู้รู้ซึ่งเป็นผู้สูงอายุหลายท่านที่เป็นคนในชุมชนนี้ โดยกำเนิดว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้มีศรัทธาผู้ใจบุญบริจาคที่ดินสร้างวัด รวมแล้วเป็นเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๒ งาน ได้แก่ นายมา ดาวดก, นายเคน คำพุฒ, นายหนู สุนิพัฒน์, นายจิต จิตสำราญ และนายชวน กินาวงค์ ซึ่งล้วนเป็นคนในชุมชนตลาดนอก

ท้าววิรุฬหก

ท้าววิรุฬจำบัง

ต่อมาได้มีการนิมนต์ท่านพระครูวินัยธร จากวัดพระโต (วัดมหาพุทธาราม) มาเป็นเจ้าอาวาสช่วยดูแล ซึ่งมีคุณตามหาพรหม คุณยายสมศรีเป็นตัวแทนรับผิดชอบ เป็นภาระในการสร้างกุฏิสงฆ์ และศาลาไม้หลังเล็ก ๆ หลังคามุงด้วยหญ้า มีญาติโยมชุมชนตลาดนอกเป็นหลักร่วมแรงร่วมใจสร้างเสนาสนะ โดยมี ๕ ครอบครัวนั้นเป็นหลักในการสับเปลี่ยนเพื่อจัดหาอาหารเลี้ยงจนกระทั่งแล้วเสร็จ ในขณะนั้นมีจ่าสิบตำรวจพุฒ โฆษาราช เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษ (ในสมัยนั้น) ซึ่งเป็นคนชุมชนตลาดนอก ได้อาสาพาผู้ต้องขังมาช่วยปรับพื้นที่ในบริเวณวัดและทำถนนจากชุมชนตลาดนอกถึงวัด ในสมัยนั้นเป็นป่ารกทึบ เป็นถนนเส้นทางทิศตะวันออกของโบสถ์ – ศาลา ส่วนถนนทางทิศตะวันตก ได้จ้างรถไถทำทาง จากท่าทางเกวียน (ท่าเรือปัจจุบัน) จนถึงประตูวัด ซึ่งเนื้อที่บริเวณวัด ๒๖ ไร่กว่า มีลักษณะเป็นเนินสูงเต็มไปด้วยต้นยางนา ต้นประดู่ ต้นพะยูง เมื่อพระครูวินัยธรได้มาทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสแล้วท่านได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด อบรม พร่ำสอน พระเณร อุบาสก อุบาสิกาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย แบบสุปัตติปันโน จนมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

พระครูวินัยธรได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดป่าวิเศษกุญชร (แปลว่าช้างตัววิเศษ) ซึ่งชาวบ้านเรียกติดปากว่า วัดป่าโฮงช้าง เพราะว่าในขณะที่กำลังช่วยกันสร้างศาลาหลังเล็กอยู่นั้น ได้เห็นรากของต้นไม้ชื่อ “กาฮูง” ที่มีลักษณะเหมือนหัวช้าง และบริเวณนี้เคยเป็นที่ทำโรงเลี้ยงช้างของเจ้าเมืองศรีสะเกษมาก่อน โดยเจ้าเมืองได้มอบให้พวกข้าทาสบริวารใช้เป็นที่ทำกิน และได้ทำที่พักข้างลำห้วย มีระยะทางเดินไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวกเป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการสร้างท่าน้ำข้ามไปทางบ้านโนน ซึ่งเป็นเขตของตำบลน้ำคำในปัจจุบัน

ท่านเจ้าเมืองได้ข้ามไปว่าราชการและไปเยี่ยมสหายเก่าในขากลับนั้นเรือเกิดล่มอยู่กลางลำห้วย เป็นเหตุให้เจ้าเมืองเสียชีวิต เมื่อเจ้าเมืองเสียชีวิตลง พวกข้าทาสบริวารกลัวเหล่าโจรจึงพากันย้ายถิ่นฐานกลับเข้าไปอยู่ในตัวเมือง โรงเลี้ยงช้างจึงกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมาชาวบ้านจึงได้ไปจับจองเอาที่ดินและแบ่งบริจาคเพื่อสร้างวัด จนกระทั่งเกิดเป็นวัดขึ้นมา

หลังจากนั้น พระครูวินัยธรได้นำพาญาติโยมสร้างหอระฆังคอนกรีต – กุฏิสงฆ์หลังใหญ่ทำด้วยไม้และกุฏิสงฆ์หลังเล็ก เป็นจำนวน ๕ หลัง (ปัจจุบันเหลืออยู่หลังเดียว) และได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น วัดป่ามิ่งเมือง ต่อมาเมื่อท่านมรณภาพ คณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งพระครูศาสนกิจวิธาน (พระครูเนียม มหาปญฺโญ) เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสได้ประมาณ ๑๐ ปี จึงได้แต่งตั้งพระอธิการโฮม อุชุจารี (พระครูพิมล ธรรมจารี) เป็นเจ้าอาวาสวัดป่ามิ่งเมือง

พระอธิการโฮม อุชุจารี (พระครูพิมล ธรรมจารี)ได้นำพาญาติโยมสร้างโบสถ์และกุฏิเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น วัดศรีมิ่งเมือง ท่านดำรงตำแหน่งหน้าที่เจ้าอาวาสมาเป็นเวลานาน กระทั่งมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งพระมหาธนวิทย์ วรธมฺโม เปรียญธรรม ๕ ประโยค เป็นเจ้าอาวาสได้ประมาณ ๓ เดือน แล้วท่านก็ลาสิกขา

ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ วันที่ ๙ เดือนมกราคม คณะสงฆ์ได้แต่งตั้งพระมหามนตรี ฐาวโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาพุทธธาราม (วัดพระโตในขณะนั้น) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นพระนักเผยแผ่ นักเทศน์ที่มีชื่อเสียง และท่านได้นำพาความเจริญมาสู่วัดทั้งด้านเสนาสนะและวัฒนธรรมประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่ จนได้เป็นที่รู้จักขอพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกล (ที่ผ่านมาวัดศรีมิ่งเมืองไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักว่าวัดตั้งอยู่ส่วนใดของเมืองศรีสะเกษ เพราะเป็นสถานที่อยู่ในลักษณะแก้มลิง) เจ้าอาวาสรูปนี้เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อนุเคราะห์ สงเคราะห์ญาติโยมเป็นพระที่ซื่อสัตย์ ซื่อตรง พูดจริงทำจริง มีปิยะวาจา เป็นพระที่มีวาจามหานิยม และเป็นที่เสื่อมใสศรัทธาของญาติโยมเป็นอย่างยิ่ง

ท้าวธตรัฏฐะ

ท้าวเวสสุวรรณ



สถานที่และสิ่งสำคัญซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในวัด

หลวงพ่อองค์ดำ ประดิษฐานภายในโบสถ์ เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง มาจากประเทศอินเดียโดยมีคุณโยมพ่อเจริญ คนจังหวัดลพบุรีเป็นเจ้าภาพสร้างถวายเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๘

ศาลเจ้าปู่ขุนวัง ย่ามะโนศรี เป็นภูมิวัดหรือภูมิเจ้าที่รักษาวัดวาอาราม

ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ทางหน่วยราชการได้มีโครงการขุดลอกลำห้วยสำราญ ซึ่งเป็นห้วยแม่น้ำผ่านเนื้อที่วัด โดยใช้รถแม็คโครตักดินขึ้นมา พบว่ามีขอนไม้โบราณที่ถูกฝังมานานติดขึ้นมาด้วย จึงทำการขุดยกขึ้นจากน้ำได้จำนวนหลายต้น (ทราบภายหลังว่าเป็นไม้ตะเคียน) อายุประมาณร้อยปีหรือมากกว่านั้น

ท่าน้ำขุนศรี ขุนชัย ขุนไกร วรพต และพญานาค (พญานาโค พญานาคี) ทางวัดได้สร้างพญานาค คือ พญานาโค พญานาคี ซึ่งเป็นลูกหลานเหลนหล่อนของปู่ศรีสุทโธที่อยู่คำชะโนด จังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นองค์ประกอบในท่าน้ำท่าน้ำแห่งนี้เป็นเขตอภัยทานสามารถปล่อยปลาและปล่อยสัตว์น้ำต่าง ๆ ได้ ในทุกปีจะเป็นสถานที่จัดประเพณีลอยกระทงเพื่ออนุรักษ์ไวัซึ่งวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวไทย