ตําบลธาตุพนม อําเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
Wat Phra That Phanom Woramahawihan That Phanom Subdistrict, That Phanom District, Nakhon Phanom Province
ประวัติวัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร
วัดพระธาตุพนม ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘๓ หมู่ ๑๓ ตําบลธาตุพนม อําเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ ๗๐๐ เมตร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาปีพุทธศักราช ๒๐๐๐ และได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด “วรมหาวิหาร” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๕
องค์พระธาตุพนมบรมเจดีย์เป็นปูชนียสถานที่สําคัญ
มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐกว้างด้านละ ๑๒.๓๓ เมตร สูง ๕๓ เมตร ยอดฉัตรทองคําสูง ๔ เมตร มีกําแพงล้อมรอบ ๔ ด้าน ๓ ชั้น ประดิษฐานอยู่บนภูกําพร้า ในปัจจุบัน ด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อองค์พระธาตุพนม จึงพร้อมใจกันหุ้มยอดน้ำค้างและปลียอดองค์พระธาตุพนมด้วยทองคําบริสุทธิ์น้ำหนักรวม ๙๐.๘๖๘ กิโลกรัม และตั้งแต่โบราณกาลของทุกปีของวันขึ้น ๘ ค่ำ ถึง แรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ จะมีงานนมัสการพระธาตุพนมประจําปี
ปัจจุบันวัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร มี พระเทพวรมุนี (สําลี ปญฺญาวโร ป.ธ.๕) เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เป็นเจ้าอาวาส
ตามตำนานพระธาตุพนม อุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมพระอานนท์ ได้เสด็จเหาะลงที่ดอนกอนเนา ทางทิศตะวันออก แล้วเสด็จไปยังหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ได้มีพุทธพยากรณ์ว่า สถานที่นี้ อนาคตจะเกิดเมืองใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากนั้นได้เสด็จประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ โพนฉัน (พระบาทโพนฉัน) อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แล้วเสด็จมาที่พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ทรงมีพุทธพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) แล้วเสด็จประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งราตรี รุ่งขึ้นได้เสด็จข้ามแม่น้ำโขงไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตบูร เนื่องจากทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา จึงประทับนั่งพักที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮัง) แล้วเสด็จเหาะกลับมาเสวยพระกระยาหารทำภัตกิจที่ภูกำพร้าดังเดิม ระหว่างที่ทรงเสวยนั้น พระอินทร์ได้เสด็จมาเข้าอุปัฏฐากรับใช้ พระพุทธองค์จึงทรงมีปฏิสันถารถึงสาเหตุที่ได้มาประทับที่ภูกำพร้ากับพระอินทร์ พระอินทร์ได้ตรัสทูลตอบว่า เป็นพุทธประเพณีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ที่ผ่านมาในภัททกัลป์นี้ ที่พุทธสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้าแห่งนี้ จากนั้นได้เสด็จไปยังหนองหารหลวง ทรงเทศนาธรรมโปรดพญาสุวรรณพิงคารพร้อมพระเทวี ทรงประทานรอยพระพุทธบาท แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน ทรงดับขันธปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา
ขณะที่มัลลกษัตริย์ทั้งหลายพยายามถวายพระเพลิงพระสรีระ ไม่สำเร็จอยู่นั้น ต่อเมื่อพระมหากัสสปเถระมาถึงและได้อธิษฐานขอให้พระบรมสารีริกธาตุที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่ภูกำพร้า ได้เสด็จมาอยู่บนฝ่ามือ ดังนี้แล้ว พระอุรังคบรมสารีริกธาตุ ๘ องค์ อันมีสัณฐานสีคล้ายดอกพิกุลแห้ง ๒ องค์ สีดอกพิกุลสด ๓ องค์ และสีขาวคล้ายงาช้าง ๓ องค์ ก็เสด็จประดิษฐานบนฝ่ามือข้างขวาของพระมหากัสสปเถระ ทันใดนั้นเตโชธาตุก็ลุกโชติช่วงชำระพระสรีระของพระพุทธองค์อย่างน่าอัศจรรย์
จากนั้น พระมหากัสสปะเถระ ก็อัญเชิญพระอุรังคบรมสารีริกธาตุเข้าบรรจุภายใน แล้วปิดประตูอุโมงค์ที่ทำจากไม้ประดูใส่ดาลทั้ง ๔ ด้าน และให้นำเสาศิลาจากเมืองกุสินารามาฝังไว้ที่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และสร้างรูปอัสสมุขีไว้ที่โคนเสาหนึ่งตัว เพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมืองในชมพูทวีป ศิลาต้นที่ ๒ นำมาจากเมืองพาราณสี ฝังไว้มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างรูปอัสสมุขีไว้ที่โคนต้นอีกหนึ่งตัว เพื่อความเป็นมงคลแก่ชาวโลก ศิลาต้นที่ ๓ นำมาจากเมืองลังกา ฝังไว้ที่มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้เพื่อเป็นมงคลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ต้นที่ ๔ นำมาจากเมืองตักกศิลา ฝังไว้มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นมงคลแก่พระพุทธศาสนา
นอกจากนี้ พญาสุวรรณพิงคารทรงให้ช่างแกะม้าอาชาไนยด้วยศิลาหันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาทางทิศทางนั้น และพระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองจากเหนือมาใต้ พระมหากัสสปเถระท่านให้ช่างแกะม้าพลาหกจากหินศิลาอีกตัวหนึ่งให้คู่กัน โดยหันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตบูรจักสถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวัสสา
พ.ศ. ๘ พระมหากัสสปเถระพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้อัญเชิญพระอุรังคบรมสารีริกธาตุ นำเหาะเสด็จลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็กในปัจจุบัน) แล้วเข้าไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวง เพื่อเป็นการแจ้งข่าวให้พญาสุวรรณพิงคารทราบ พญาสุวรรณพิงคารจึงได้แจ้งข่าวไปยังเจ้าเมืองอีก ๔ เมือง อันได้แก่ พญานันทเสนแห่งเมืองศรีโคตบูร พญาจุลณีพรหมทัตแห่งเมืองจุลณี พญาอินทปัตถนครแห่งเมืองอินทปัตถนคร พญาคำแดงแห่งเมืองหนองหารน้อย ฉะนั้น พญาทั้ง ๕ พระองค์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานพร้อมพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้ยกทัพเสด็จมา ณ เนินภูกำพร้าริมฝั่งแม่น้ำโขง ร่วมกันปั้นอิฐก่อเป็นองค์สถูปเจดีย์ ซึ่งแบบพิมพ์ของอิฐแต่ละก้อนกว้างยาวเท่ากับฝ่ามือของพระมหากัสสปเถระ ทรงให้ขุดหลุมลึก ๒ ศอกอันเป็นฐานราก เจ้าพญาพระองค์ ๔ พระมหากัสสปเถระ ทรงรับผิดชอบพระองค์ละด้าน ความกว้าง ๒ วา สูง ๒ วา เท่ากันทั้ง ๔ ด้าน ก่อสถูปพญาสุวรรณภิงคารรับผิดชอบก่อส่วนบนเป็นรูปฝาละมีสูง ๑ วา ทำประตู ๔ ด้าน แล้ววางเรียงไม้จวง ไม้จันทน์ กฤษณา กระลำพัก คันธรส ชมพู นิโครธ และไม้รัง เป็นฟืนเผาอิฐที่ก่อสถูปเจดีย์นั้น ทำการเผาอยู่ ๓ วัน ๓ คืน ซึ่งการก่อสถูปเจดีย์นั้นพระมหาเถระได้กำกับดูแลทุกขั้นตอนด้วยตัวของท่านเอง เมื่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวเสร็จแล้ว พญาทั้ง ๕ ก็ได้บริจาคของมีค่าบรรจุไว้ในอุโมงค์เป็นพุทธบูชา
องค์พระธาตุพนมบรมเจดีย์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณม์าตามลําดับคือ
พ.ศ. ๘ พระมหากัสสปเถระพร้อมพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ และเจ้าพญาทั้งห้า ได้สร้างสถูปบรรจุพระอุรงคบรมสารีริกธาตุ
พ.ศ. ๕๐๐ พระอรหันต์ ๕ องค์ มีพญาสุมิตธรรมวงศาให้การอุปถัมภ์ ได้ต่อเติมสถูปให้สูงขึ้นเป็นชั้นที่ ๒ สูง ๒๔ เมตร แล้วอาราธนาพระอุรังคบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุชั้นที่ ๒ นั้น
พ.ศ. ๒๒๓๖ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ญาคูขี้หอม) ปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ มีความสูง ๔๓ เมตร ยอดองค์พระธาตุสูงอีก ๔ เมตรทำด้วยสำริดและเหล็กเปียก ฉัตรทำด้วยทองคำประดับด้วยเพชรพลอยสีต่างๆ ๒๐๐ เม็ด
พ.ศ. ๒๓๕๐ เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ได้ทำฉัตรทองคำใหม่ ประดับด้วยเพชรพลอยสีต่างๆ ประมาณ ๒๐๐ เม็ด และได้ทำพิธียก พ.ศ. ๒๕๓๖
พ.ศ. ๒๔๔๔ พระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง ได้ซ่อมแซมโบกปูน ลงรักปิดทองส่วนบน ประดับแก้วติดดาวที่ระฆัง หุ้มยอดด้วยทองคำ ปูลานพระธาตุ พร้อมกันนั้นยังได้ซ่อมแซมกำแพงชั้นในและชั้นกลาง
พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลสมัย จอมพล ป.พิบลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้กรมศิลปากรอันมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหน้า ได้ต่อยอดให้สูงชึ้นไปอีก ๑๐ เมตร รวมเป็น ๕๗ เมตร ด้วยเหตุผลทางบ้านเมือง
พ.ศ. ๒๕๑๘ วันที่ ๑๑ สิงหาคม เวลา ๑๙.๓๘ น. องค์พระธาตุพนมก็ได้ทรุดตัวล้มลงเพราะฐานอิฐที่ผุกล่อนและน้ำหนักจำนวนมากที่กดทับ กอปรกับช่วงระยะเวลานั้นฝนตกพายุลมแรงติดต่อกันหลายวัน ฉะนั้น รัฐบาลร่วมกับภาคประชาชนได้ร่วมกันก่อสร้างครอบในตำแหน่งเดิม รูปแบบเดิมขึ้นมาใหม่ จนแล้วเสร็จในระยะเวลาเพียงแค่ ๔ ปี
พ.ศ. ๒๕๒๒ วันที่ ๒๒ มีนาคม เวลา ๑๔.๑๙ น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาน สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) ทรงยกฉัตรทองคำประดิษฐานบนยอดองค์พระธาตุพนม
วันที่ ๒๓ มีนาคม ตรงกับรัตนโกสินทรศก ๑๙๘ เป็นที่ ๓๔ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรรจุพระอุรังคบรมสารีริกธาตุ และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาประกอบพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นบรรจุภายในองค์พระธาตุพนม
ลำดับเจ้าอาวาส
๑. เจ้าสังฆวิชชา
๒. เจ้ามหาปาสาทะ หรือ จุลปาสาทะ
๓. เจ้ามหารัตนะ
๔. สมเด็จพระเจ้าสังฆราชาสัทธรรมโชตนาญาณวิเศษ (เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก) พ.ศ. ๒๒๓๓ – ๒๒๓๕
๕. พระครูพรหมา พ.ศ. ๒๓๙๐ – ๒๔๑๐
๖. พระครูพรหม พ.ศ. ๒๔๑๐ – ๒๔๒๕
๗. พระครูก่ำ พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๓๐
๘. พระครูฮุบ พ.ศ. ๒๔๓๐ – ๒๔๓๘
๙. พระอุปัชฌาย์ทา พ.ศ. ๒๔๓๘ – ๒๔๕๘
๑๐. พระครูศิลาภิรัต (หมี) พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๗๙
๑๑. พระธรรมราชานุวัตร (แก้ว กนฺโตภาโส อุทุมมาลา ป.ธ.๖) พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๕๓๒
๑๒. พระธรรมปริยัติมุนี (นวน เขมจารี ป.ธ.๖) พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๔๔
๑๓. พระโสภณเจติยาภิบาล (สม สุมโน ป.ธ.๓) พ.ศ. ๒๕๔๗
๑๔. พระเทพวรมุนี (สำลี ปญฺญาวโร ป.ธ.๕) พ.ศ. ๒๕๔๙ – ปัจจุบัน