วัดญาณสามัคคี
ตำบลชำ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
Wat Yan Samakkhi
Cham Subdistrict, Kantharalak District,
Sisaket Province
ความเป็นมา
วัดญาณสามัคคีหรือวัดราษฎรธีระญาณสามัคคี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดเล็ก ๆ วัดหนึ่งตั้งอยู่ในบ้านแจงแมงหมู่ที่ ๒ ตำบลชำ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ แต่เดิมหมู่บ้านแจงแมงและหมู่บ้านชำไม่มีวัดประจำหมู่บ้านของตนเอง เมื่อชาวบ้านจะทำบุญให้ทานฟังเทศน์ตลอดจนพิธีกรรมทางพุทธศาสนาทุกอย่างจะต้องไปทำบุญให้ทานหรือประกอบพิธีที่วัดบ้านรุงซึ่งอยู่ในตำบลรุงบ้างก็ไปวัดบูรณ์ชัยรัตน์ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านละลาย มีระยะทางไกลประมาณเกือบ ๗ กิโลเมตร ถนนหนทางไปมาลำบากเต็มไปด้วยป่าดงพงไพรจะเดินทางไปไหนต้องเดินเท้านั่งเกวียนหรือไม่ก็ขี่ม้านับว่าลำบากมากในสมัยนั้น ต่อมาทางราชการได้ตั้งตำบลชำขึ้น ขณะนั้นนายญาณ เจริญศรีเมือง ซึ่งเป็นชาวบ้านแจงแมงได้รับแต่งตั้งให้เป็นกำนันประจำตำบลชำ ท่านกำนันญาณ เจริญศรีเมืองได้มองเห็นความลำบากของชาวบ้านในการบำเพ็ญบุญกุศลดังกล่าวข้างต้น จึงได้ประชุมผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้านในเขตตำบลชำ เพื่อจะประชุมกันสร้างวัดขึ้นมา ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันให้สร้างวัดขึ้นในบ้านแจงแมง ซึ่งเหมาะเป็นศูนย์กลางหลายอย่างในตำบลชำ ที่ดินที่จะใช้สร้างเป็นวัดนั้นเดิมเป็นที่ที่สงวนไว้เป็นสนามเด็กเล่นอยู่ทางตะวันออกของบ้านแจงแมง มีเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓๖ ตารางวา ไม่พอเพราะเล็กเกินไป ท่านกำนันญาณ เจริญศรีเมืองซึ่งมีที่ดินติดกัน ๙ ไร่ และพ่อสา เจือพันธ์ ก็มีที่ดินติดต่อกันอีก ๕ ไร่ ท่านทั้งสองคนได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นับได้ว่าท่านเป็นผู้มีจิตเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง เมื่อได้ที่ดินเพียงพอแล้วคณะกรรมการหมู่บ้านจึงได้ประกาศเป็นเนื้อที่ของวัดและพาชาวบ้านช่วยกันถากถางปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะเป็นอารามสงฆ์ และได้เตรียมอุปกรณ์เพื่อจะสร้างเสนาสนะ
วันอาทิตย์ขึ้นเจ็ดค่ำเดือน ๖ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๙๔ กำนันญาณ เจริญศรีเมืองพร้อมทั้งชาวบ้านได้สร้างกุฏิขนาดเล็กมี ๒ ห้อง ขึ้น ๑ หลัง พอที่พระเณรจะอาศัยอยู่ได้เมื่อสร้างเสร็จจึงไปปรึกษากับเจ้าอธิการเรียม ปภสฺสโร เจ้าอาวาสวัดบูรณ์ชัยรัตน์ และเจ้าคณะตำบลละลายเพื่อขอนิมนต์พระภิกษุและสามเณรไปอยู่จำพรรษา เจ้าอธิการเรียมได้เห็นดีด้วยจึงได้มอบหมายให้พระอาจารย์สุเรียญ ปริสุทฺโธ ซึ่งเดิมเป็นบุตรของพ่อเบ็ญ สุริยวงษ์ และแม่สระคม ศิริพงศ์ ซึ่งเป็นน้องชายของท่านเอง และพระสมชายเนียมจันทร์ บุตรของพ่อเกิด-แม่สะคมเนียมจันทร์ ซึ่งเป็นชาวบ้านแจงแมง แต่ได้ไปบวชอยู่ที่บ้านละลาย รวมทั้งสามเณรมีทั้งหมด ๑๐ รูป เมื่อออกพรรษาแล้วชาวบ้านได้ไปนิมนต์พระภิกษุทวน ติสฺสโก ซึ่งเป็นบุตรของพ่อปรึกษา-แม่แยะ ปูพะมูล คนบ้านชำที่ได้ไปบวชอยู่วัดทุ่งสว่าง บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลเมือง อำเภอกันทรลักษณ์ มาอยู่ร่วมกับพระอาจารย์สุเรียญ เพื่อช่วยงานศาสนาในด้านต่าง ๆ จนต่อมาได้มีกุลบุตรชาวบ้านแจงแมงและบ้านชำได้บวชสืบต่อกันมา
การตั้งชื่อวัด
บุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่ควรจะกล่าวถึงเป็นอย่างยิ่งในสมัยนั้นคือ ท่านเจ้าคุณเกษตร สีลาจารย์ วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ท่านพระครูศิริกันทรลักษณ์ อดีตเจ้าคณะอำเภอขุนหาญ หลวงพ่อถวิล วัดศรีแก้ว อำเภอกันทรลักษ์ เจ้าอธิการเรียม ปภสฺสโร เจ้าคณะตำบลชำ พระอาจารย์สุเรียญ ปริสุทโธ พระครูศรีวรคณารักษ์(พระมหาเคลือบ) วัดมหาพุทธารามเจ้าคณะอำเภอเมืองและกำนันญาณ เจริญศรีเมืองได้ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อจะตั้งชื่อของวัดซึ่งที่ประชุมเสนอชื่อขึ้นมาสองชื่อ คือ วัดญาณสามัคคี ชื่อนี้ท่านพระครูศิริกันทรลักษณ์ เห็นสมควรจะนำชื่อกำนันญาณ และความสามัคคีของชาวบ้านมาตั้ง อีกชื่อหนึ่งพระอาจารย์สุเรียญ ปริสทฺโธ เสนอชื่อวัด วัดราษฎรธีระญาณสามัคคี เมื่อลงคะแนนเสียงผลปรากฏว่าเสียงส่วนมากเห็นสมควรให้ตั้งชื่อว่า “วัดญาณสามัคคี” หมายถึงว่าวัดนี้สร้างขึ้นมาด้วยความสามัคคีของชาวบ้านและมีกำนันญาณเป็นหัวหน้าที่สำคัญ
พระประจำวัดญาณสามัคคี
ชื่อ หลวงพ่อวัดญาณ ไม่สามารถคำนวณอายุได้ในสมัยนั้นคุณพ่อกำนันนวลพร้อมด้วยคณะชาวบ้านแจงแมงและบ้านชำ ได้ร่วมกันอัญเชิญมาจากประเทศกัมพูชาเมื่อครั้งตั้งวัดครั้งแรกและได้ประดิษฐานอยู่จนถึงปัจจุบัน
การบริหารและการปกครอง
- พ.ศ. ๒๔๙๔ เจ้าอธิการสุเรียญ ปริสุทโธ (พระครูวินัยธร)
พ.ศ. ๒๔๙๔ เจ้าคณะตำบลชำ - พ.ศ. ๒๔๙๘ เจ้าอธิการทวน ติสสุโก
พ.ศ. ๒๔๙๘ เจ้าคณะตำบลชำ - พ.ศ. ๒๕๐๑ พระสมัย จนฺทาโภ พ.ศ. ๒๕๐๐ รักษาการแทนเจ้าอาวาส
- พ.ศ. ๒๕๐๓ เจ้าอธิการชม พนฺธโก
พ.ศ. ๒๕๐๙ เจ้าคณะตำบลชำ - พ.ศ. ๒๕๐๘ เจ้าอธิการสมาน ภทฺทโก
พ.ศ. ๒๕๑๕ เจ้าคณะตำบลชำ - พ.ศ. ๒๕๒๓ พระครูสมุห์ณรงค์ศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ เจ้าอาวาส
- พ.ศ. ๒๕๓๓ พระอธิการยิม สุจิตโต พ.ศ. ๒๕๓๘ เจ้าอาวาส
- พ.ศ. ๒๕๔๑ พระชุม อภิวํโส พ.ศ. ๒๕๔๔ รักษาการแทนเจ้าอาวาส
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พระอธิการฤทธิ์ วราสโภ