ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ

พระประธานประจำอุโบสถ

ประวัติวัดเกียรติแก้วสามัคคี

สถานะและที่ตั้ง

วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๑ บ้านตะเคียนเหนือ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นวัดในสังกัด “คณะมหานิกาย” อยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐ สังกัดคณะสงฆ์หนตะวันออก ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑3 ไร่ 3 งาน ๓๖ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 1820 มีอาณาเขตของวัดดังนี้

  • ทิศเหนือ จดหมู่บ้านตะเคียนเหนือ หมู่ที่ ๑๒
  • ทิศใต้ จดโรงเรียนบ้านศรีแก้ว และหมู่บ้านตะเคียน หมู่ที่ ๒
  • ทิศตะวันออก จดหมู่บ้านเหล็ก หมู่ที่ ๑๐
  • ทิศตะวันตก จดหมู่บ้านตะเคียนเหนือ หมู่ที่ ๑๒
อุโบสถ

วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตั้งอยู่ใจกลางชุมชน ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจาพุทธศาสนิกชน ชาวบ้านทั้ง ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านตะเคียน หมู่ที่ ๒ (รวมคุ้มโนนคำแก้ว) บ้านเหล็ก หมู่ที่ ๑๐ และบ้านตะเคียนเหนือ หมู่ที่ ๑๒ เป็นอย่างดีมาโดยตลอด

วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ ไม่มีใครทราบได้เลยว่าสร้างขึ้นมาเมื่อปีใด แต่สืบทราบจากสมุดบันทึกของพระครูรัตนภูมิพิจารณ์ (ชัด วรญาโณ) อดีตเจ้าคณะตำบลศรีแก้ว
เขียนไว้วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ ความว่า…..
“เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นต้นมา โดยมีตระกูล ๓ พี่น้องแห่งบ้านตะเคียน หมู่ที่ ๒ ได้พากันออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็พากันแยกย้ายไปหาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในที่อื่น ๆ บ้าง ที่วัดกลางห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์เดี๋ยวนี้บ้าง ต่อเมื่อได้ความรู้บ้างพอสมควรแล้ว ต่างคนต่างท่านก็คิดอยากจะกลับมาทางบ้านเกิดเมืองนอนของตน ทั้งนี้ เพื่อจะได้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนการก่อสร้างถาวรวัตถุ ในด้านพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองถาวรสืบไป ซึ่งในขณะนั้นก็มีวัดอยู่ ๒ วัดเช่นกันคือ วัดศรีแก้วเรานี้ ๑ (วัดศรีโพธิญาณบ้านสระแก้วมะโนมุข) กับวัดบ้านตะเคียน ๑ (วัดจำปาแดงมะโนมุข)

เมื่อท่าน ๓ พี่น้องกลับมาจากการศึกษาด้วยกันแล้ว ก็มาพำนักที่วัดบ้านตะเคียนก่อน ต่อเมื่ออยู่ไปอยู่มาก็คิดเห็นว่า คงจะไม่มั่นคงและถาวรสืบไป จึงพอดีกับทางวัดศรีแก้วเรานี้ ซึ่งมีท่านพระอาจารย์ดอน เป็นเจ้าอาวาสอยู่ก่อนแล้ว แต่ท่านก็คิดจะขอลาสิกขาบทเสียแล้ว ก็มีท่านอดีตกำนันน้อม หาญสิงห์ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ก็เป็นครูใหญ่สอนโรงเรียนประชาบาล ประจำตำบลศรีแก้ว ณ ศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดศรีแก้วเรานี้ด้วย มองเห็นต่อไปว่า

เมื่อท่านพระอาจารย์ดอนสึกเสียแล้ว ก็จะไม่มีพระอยู่ครอบครองวัดศรีแก้วเรานี้ต่อไป
นายน้อม หาญสิงห์ ครูใหญ่โรงเรียนประชาบาล ศรีแก้ว จึงได้ปรึกษาประชุมชาวบ้านทางศรีแก้วนี้ พากันไปขออาราธนานิมนต์ท่าน ๓ ตระกูลพี่น้อง ที่อยู่ทางวัดบ้านตะเคียนนั้น มาอยู่ครอบครองการก่อสร้างทางวัดศรีแก้วเรานี้สืบต่อไป
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ท่าน ๓ พี่น้อง ก็เลยเห็นดีเห็นชอบตามนั้นด้วย เพราะท่านถือว่ามีหลักฐานมั่นคงดีแล้วคือ พระอุโบสถหรือโบสถ์เป็นสำคัญ ดังนั้น ท่าน ๓ พี่น้อง จึงได้ตกลงปลงใจพากันรับการนิมนต์จากคณะญาติโยมทางบ้านศรีแก้ว แล้วพากันอพยพมาอยู่ที่วัดศรีแก้วเรานี้ ตั้งแต่เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นต้นมา เมื่อทั้ง ๓ ท่าน ได้มาอยู่วัดศรีแก้วนี้แล้ว ท่านพระอาจารย์ดอน ผู้เป็นเจ้าอาวาสองค์เก่านั้น ก็ขอลาสิกขาออกไปเสีย
จึงเป็นอันว่า ๓ ตระกูลพี่น้องแห่งบ้านตะเคียน คือ
๑. ท่านพระอาจารย์พิมพ์ อินฺทปญฺโญ
๒. ท่านพระอาจารย์แรม อินฺทโชโต
๓. ท่านพระอาจารย์ปริน เตมิโย

จากสมุดบันทึกของพระครูรัตนภูมิพิจารณ์ (ชัด วรญาโณ) อดีตเจ้าคณะตำบลศรีแก้ว ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่า….
วัดเกียรติแก้วสามัคคีนี้ เกิดมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ หรือก่อนนั้นก็เป็นได้ มีชื่อเดิมว่า “วัดจำปาแดงมะโนมุข” หรือ“วัดบ้านตะเคียน” เมื่อ ๓ ตระกูลพี่น้องกลับมาจากการศึกษาเล่าเรียนจากวัดกลางห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ ก็มาพำนักที่วัดจำปาแดงมะโนมุข หรือ วัดบ้านตะเคียน จากนั้นก็ได้รับนิมนต์ไปจำพรรษาที่วัดศรีแก้ว ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ ทำให้วัดจำปาแดงมะโนมุขหรือวัดบ้านตะเคียนต้องร้างไปเป็นเวลา ๓๐ ปี ด้วยสาเหตุที่พอสรุปได้ว่า
๑. เกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล
๒. พุทธศาสนิกชนมีจำนวนน้อย ไม่มีประชาชนผู้อยู่อาศัยในถิ่นแถบนี้ ซึ่งสมัยแต่ก่อน บริเวณที่ตั้งของวัดเกียรติแก้วสามัคคีนี้ ถือว่าเป็นป่าช้าเก่า เป็นป่าที่น่ากลัว เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด ทำให้พระภิกษุสามเณรไม่มาพักจำพรรษานั่นเอง
๓. ไม่มีพระภิกษุผู้เป็นครูอาจารย์ผู้ทรงความรู้อยู่เป็นที่พึ่ง จึงทำให้พระภิกษุสามเณรที่บวชในสมัยแต่ก่อนนั้นต้องแสวงหาครูอาจารย์ผู้สอนธรรมนั่นเอง

ในช่วงระยะเวลา ๓๐ ปี แห่งการเป็นวัดร้างไม่มีพระภิกษุสามเณรผู้จำพรรษา วัดศรีแก้วเกิดความเข้มแข็งอย่างมาก มีพระมหาเถระ พระเถระหลายรูปพักจำพรรษาปฏิบัติธรรมที่วัดศรีแก้ว เช่น พระอาจารย์พิมพ์ อินฺทปญฺโญ, พระอาจารย์แรม อินฺทโชโต พระอาจารย์ปริน เตมิโย, หลวงปู่ถวิล สุวณฺณโชติ, พระอาจารย์เมา สิริวุฑฺโฒ (พระครูสิริธรรมมงคล) เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้พระมหาเถระในสมัยนั้น เช่น หลวงปู่ถวิล สุวณฺณโชติ ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าข้อที่ว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ จรมาโน พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงจาริกเที่ยวไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่หมู่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก”

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ หลวงปู่ถวิล สุวณฺณโชติ ได้เป็นผู้นำเบิกทาง พาชาวบ้านรื้อถอน ถากถางในบริเวณสถานที่วัดจำปาแดงมะโนมุขหรือวัดบ้านตะเคียน โดยหลวงปู่จะมาพำนักพักปฏิบัติธรรมกรรมฐานเจริญสมาธิภาวนาเป็นครั้งคราว

ศาลาการเปรียญ

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ ถือว่าเป็นความโชคดีพิเศษของวัดจำปาแดงมะโนมุขหรือวัดบ้านตะเคียน ซึ่งพระสมุห์ชัด วรญาโณ แห่งวัดศรีแก้ว ในตำแหน่งครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักวัดศรีแก้ว กรรมการตรวจประโยคนักธรรมชั้นตรี เจ้าคณะตำบลศรีแก้ว, ตูม,
สระเยาว์, พระอุปัชฌาย์, กรรมการสงฆ์อำเภอแผนกองค์การเผยแผ่อำเภอกันทรลักษ์ ได้มาจำพรรษาและนำพัฒนาที่วัดจำปาแดงมะโนมุขหรือวัดบ้านตะเคียน พร้อมกับเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดเกียรติแก้วสามัคคี” จึงทำให้วัดเกียรติแก้วสามัคคีมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

ต้นมะม่วงเก่าแก่ อายุกว่า ๙๐๐ ปี

ประวัติเจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี

จากสมุดบันทึกประวัติของพระครูรัตนภูมิพิจารณ์ เขียนบันทึกไว้มีใจความว่า……

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ ได้มีพระภิกษุ ๓ รูป ซึ่งเป็น ๓ พี่น้องแห่งบ้านตะเคียน คือ
๑. พระอาจารย์พิมพ์ อินฺทปญฺโญ
๒. พระอาจารย์แรม อินฺทโชโต
๓. พระอาจารย์ปริน เตมิโย

เดินทางไปศึกษาที่วัดกลางห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ เมื่อกลับมายังมาตุภูมิถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน ท่านทั้ง ๓ รูป ได้มาพำนักพักอาศัยที่วัดเกียรติแก้วสามัคคี ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าวัดเกียรติแก้วสามัคคี มีมาก่อนปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ ซึ่งไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีมาแล้วนานเท่าไร แต่อ้างอิงจากหลักฐานประวัติวัดศรีแก้ว โดยดูจากทำเนียบเจ้าอาวาสวัดศรีแก้ว ซึ่งมีทั้งหมด ๑๓ รูป
หลวงพ่อพิมพ์ อินฺทปญฺโญ หรือพระอาจารย์พิมพ์ เป็นรูปที่ ๙
หลวงพ่อแรม อินฺทโชโต หรือพระอาจารย์แรม เป็นรูปที่ ๑๐
หลวงพ่อปริน เตมิโย หรือพระอาจารย์ปริน เป็นรูปที่ ๑๑
นั่นก็หมายความว่าวัดเกียรติแก้วสามัคคีต้องมีมาก่อนปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ อย่างแน่นอน โดยอ้างอิงจากประวัติวัดศรีแก้วเป็นหลักฐาน

ด้วยวัดเกียรติแก้วสามัคคี ยังไม่มีความมั่นคงคือไม่มีโบสถ์ ประกอบกับเป็นถิ่นทุรกันดารอย่างมาก หลวงพ่อทั้ง ๓ รูป จึงได้รับนิมนต์จากพุทธศาสนิกชนชาววัดศรีแก้ว ไปจำพรรษาที่วัดศรีแก้ว จึงทำให้วัดเกียรติแก้วสามัคคี ต้องร้างไม่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา ระหว่างปี ๒๔๖๗-๒๔๙๗ รวม ๓๐ ปี

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติปัจจุบัน) ได้ประกาศให้วัดในพระพุทธศาสนาที่ตั้งก่อนปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ ให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย วัดเกียรติแก้วสามัคคีขึ้นทะเบียนเป็นวัดถูกต้องโดยอ้างหลักฐานนี้ ซึ่งประกาศอย่างเป็นทางการเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ มีเจ้าอาวาสและผู้ทำหน้าที่แทนเจ้าอาวาส ปกครองดูแลวัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ มาโดยลำดับ จำนวน ๖ รูป คือ
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑ พระครูรัตนภูมิพิจารณ์ (ชัด) พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๕๐๗
เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ พระอธิการเข็ม ปภสฺสโร พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๒๓
เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ พระอธิการนวล กิตฺติญาโณ พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๓๓
เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ พระอธิการเหมือน ฐิตเมโธ พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๓๕
เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ พระมหาสมบัติ จนฺทวณฺโณ พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๖
เจ้าอาวาสรูปที่ ๖ พระครูศรีรัตนาภิรักษ์ (พนาวัลย์) พ.ศ.๒๕๓๖-ปัจจุบัน

รูปที่ ๑ พระครูรัตนภูมิพิจารณ์ (ชัด วรญาโณ)

ชื่อเดิม ชัด พะวงษ์
บิดา นายแนม พะวงษ์ มารดา นางทอง พะวงษ์
วันเกิด ๖ ฯ ๔ ๘ ค่ำ ปีมะเมีย วันที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑
ภูมิลำเนา บ้านตะเคียนเหนือ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
บรรพชา วันพุธที่ ๔ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
ณ วัดศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีเจ้าอธิการเพชร เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท

  • วันพุธที่ ๒๖ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ณ วัดหงส์รัตนาราม ตำบลวัดหงส์ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดกรุงเทพฯ โดยมี พระครูรัตนมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์คล้าย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระผึ่ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
    การศึกษา
  • วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๗๒ เข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนประชาบาลตำบลศรีแก้ว
  • วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๗ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ (ป.๔) จากโรงเรียนประชาบาล ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
  • วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๗๙ สอบได้นักธรรมชั้นตรี วัดศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ สำนักเรียนคณะจังหวัดศรีสะเกษ
  • วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๓ สอบได้นักธรรมชั้นโท วัดศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ สำนักเรียนคณะจังหวัดศรีสะเกษ
    ตำแหน่ง
  • วันที่ ๒ มกราคม ๒๔๘๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมของพระครูสิริกันทรลักษ์ เจ้าคณะอำเภอกันทรลักษ์ ที่ “พระใบฏีกา”
  • วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ (คู่สวดนาค)
  • วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๑ ได้รับเลื่อนฐานานุกรมเจ้าคณะอำเภอกันทรลักษ์ จาก พระใบฎีกา เป็น “พระสมุห์”
  • วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๙๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลตูม

วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักศาสนศึกษา วัดศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๙๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสงฆ์องค์การเผยแผ่อำเภอกันทรลักษ์

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๙๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๕ เป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวงชั้นตรี
สมณศักดิ์

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ “พระครูรัตนภูมิพิจารณ์”

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ ได้รับประทานเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการเป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโทในราชทินนามเดิม
ลำดับสถานที่เคยอยู่อาศัย
๑. วัดศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
๒. วัดวารินทราราม ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
๓. วัดศิริวราวาส ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
๔. วัดหงส์รัตนาราม ตำบลวัดหงส์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
๕. วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
๖. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ ตำบลพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
๗. วัดหนองบัวทอง ตำบลสระเยาว์ อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
๘. วัดสระเยาว์ ตำบลสระเยาว์ อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
๙. วัดสำโรงระวี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
ลำดับสถานที่ได้เคยช่วยก่อสร้างถาวรวัตถุไว้โดยย่อ
๑. วัดศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อันเป็นสถานที่เคยอยู่ประจำมานานแล้ว ได้ช่วยก่อสร้างประโยชน์ไว้ทุกอย่างตามความสามารถที่จะช่วย และทำได้ส่วนตัวและส่วนรวมด้วย
๒. วัดวารินทราราม ได้ช่วยท่านในการก่อสร้างอุโบสถ ด้วยการขนอิฐ ขนทราย เลื่อยไม้ปั้นกระเบื้องมุงหลังคาเป็นเวลา ๒ ปี ที่ได้ช่วยท่านทำประโยชน์ไว้สืบมา
๓. วัดศิริวราวาส ได้ช่วยออกกำลังกายปราบสนามลานวัด และปลูกต้นมะพร้าวไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้เป็นครูช่วยสอนนักธรรมชั้นโท
๔. ได้เป็นผู้จัดการพาคณะญาติโยมในบ้านบัวน้อย บัวใหญ่ หมู่ที่ ๓, ๕ ตำบลสระเยาว์ ตั้งวัดขึ้นใหม่ให้เป็นสำนักสงฆ์อาศัย เพื่อสะดวกสบายแก่การบำเพ็ญกุศลของญาติโยมในถิ่นนั้น ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นต้นมา โดยให้ชื่อวัดว่า “วัดหนองบัวทอง” จนทุกวันนี้

๕. ได้มาอยู่ช่วยการบูรณะวัดบ้านตะเคียน โดยเห็นว่าเป็นสถานที่ของบ้านเกิดกำเนิดเป็นของข้าพเจ้าโดยเฉพาะด้วย ซึ่งบรรพบุรุษได้ทอดทิ้งมาเป็นเวลานานประมาณ ๓๐ กว่าปี ให้กลับคืน สู่สภาพเป็นวัดขึ้นอีกดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์และสะดวกสบายแก่การบำเพ็ญกุศลของคณะญาติโยมทั้งหลายตามกาลสมัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ปลายปี ต่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ดังที่ปรากฏเห็น แก่สายตาของท่านอยู่นี้แล้ว ซึ่งข้าพเจ้าได้ปรึกษากับท่านอาจารย์พระครูสิริกันทรลักษ์เจ้าคณะอำเภอกันทรลักษ์ว่า จะสมควรให้ชื่อวัดนี้ว่ากระไร ท่านก็เห็นสมควรให้ชื่อว่า “วัดเกียรติแก้วสามัคคี” ดังนี้ ข้าพเจ้าก็เห็นชอบด้วย ทั้งนี้ เพื่อรักษาและธำรงไว้ซึ่งมิ่งขวัญและมรดกอันเก่าแก่ของท่านบรรพบุรุษด้วยดังกล่าวแล้ว

จากมุทิตาพจน์ของ พระมหาทองคำ จนฺทาโภ วัดมหาพุทธาราม เผยแผ่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๐๑ ในคราวจัดงานฉลองสัญญาบัตรพัดยศ ของท่านพระครูรัตนภูมิพิจารณ์ (ชัด วรญาโณ) เผยแผ่อำเภอกันทรลักษ์ ซึ่งกำหนดงานวันที่ ๓๐-๓๑ มีนาคมและวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๑ นี้ ณ วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีใจความว่า ครั้งนี้ ข้าพเจ้าต้องแสดงออกซึ่งมุทิตาจิตต่อท่านพระครูรัตนภูมิพิจารณ์ ทั้งนี้ เพราะเหตุผล ประการที่

๑. ข้าพเจ้ากับท่านพระครูรัตนภูมิพิจารณ์ใกล้ชิดกันมาก ในด้านการบริหาร

การคณะสงฆ์และด้านส่วนตัว

๒. พระครูรัตนภูมิพิจารณ์ เป็นพระเถระที่ควรสักการะเคารพและนับถือได้ดีรูปหนึ่ง

๓. พระครูรัตนภูมิพิจารณ์ เป็นพระเถระที่ได้ช่วยศาสนกิจมามากพอสมควร ฯลฯ

ณ กาลครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงรับเป็นภาระรวบรวมธรรมคติมาพิมพ์เป็นเล่ม เพื่อให้ท่านพระครูฯ ได้มอบให้เป็นธรรมบรรณาการแก่ท่านผู้มาร่วมแสดงมุทิตาสักการะต่อท่านพระครูฯ

ครั้งนี้ หากแม้นว่าประโยชน์มากหรือน้อยสักปานใดก็ตาม อันเกิดขึ้นจากหนังสือเล่มนี้มีอยู่ไซร้ ข้าพเจ้าขอน้อมเป็นมุทิตานุสรณ์ ในระหว่างข้าพเจ้ากับท่านพระครูรัตนภูมิพิจารณ์ และขอแผ่ประโยชน์ทั้งหมดนั้นแก่บรรดาทุกท่านที่มีจิตยินดีมาแสดงมุทิตาจิตต่อท่านพระครูฯ ครั้งนี้ และขอสรรพสัตว์โลกจงประสบแต่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตามคติของตน ๆ เทอญ

มรณภาพ

พระครูรัตนภูมิพิจารณ์ มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคชรา เวลา ๑๗.๐๐ น. ของวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๓ ณ วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี ๖ เดือน ๕ วัน

รูปที่ ๒ (ทำหน้าที่แทนเจ้าอาวาส)
พระอธิการเข็ม ปภสฺสโร (คมไสย)

ชื่อเดิม เข็ม คมไสย
บิดา นายบล คมไสย มารดา นางมาก คมไสย
วันเกิด ๕ ฯ๑๕ ๘ ค่ำ ปีมะเมีย วันที่ ๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙
บรรพชา-อุปสมบท
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ วัดหลวงสุมังคลาราม ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี พระครูสิริสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณวิเศษ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาหน่วย เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ตำแหน่ง
ทำหน้าที่แทนเจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๐๗-๒๕๒๓ รวม ๑๖ ปี แห่งการทำหน้าที่แทนเจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี
มรณภาพ
พระอธิการเข็ม ปภสฺสโร มรณภาพด้วยด้วยโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี ๔ เดือน ๙ วัน

รูปที่ ๓
พระอธิการนวล กิตฺติญาโณ (นวล กมล) น.ธ.เอก

ชื่อเดิม นวล กมล
บิดา นายเทศน์ กมล มารดา นางนาค กมล (อบอุ่น)
วันเกิด ๒ ฯ๗ ๓ ค่ำ ปีจอ วันที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗
ภูมิลำเนา บ้านเลขที่ ๑๑๔ บ้านพิงพวย หมู่ที่ ๗ ตำบลพิงพวย อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
บรรพชา-อุปสมบท
วันจันทร์ที่ ๑๓ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ วัดจันทาราม ตำบลพิงพวย อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี พระครูรัตนภูมิพิจารณ์ (ชัด วรญาโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูโอภาสโพธิกิจ (ประสาท โอภาโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์พระองค์/ที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลพิงพวย อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูอรรถกิจสุนทร (เสียง ธมฺมทินฺโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดจันทาราม/เจ้าคณะอำเภอศรีรัตนะ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
การศึกษา

  • พ.ศ. ๒๔๙๐ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ (ป.๔) จากโรงเรียนประชาบาลบ้านพิงพวย
    ตำบลพิงพวย อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
  • พ.ศ. ๒๔๙๕ สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดโพธินิมิตสถิตมหาสีมาราม เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
    ตำแหน่ง
    เจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี ๑๔ กันยายน ๒๕๒๓ – ๓๐ กันยายน ๒๕๓๓ รวม ๑๐ ปี ๑๖ วัน แห่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี
    มรณภาพ
    พระอธิการนวล กิตฺติญาโณ มรณภาพด้วยโรงมะเร็งในปอด เวลา ๑๓.๔๕ น. ของวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๓ ณ วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ สิริรวมอายุได้ ๕๖ ปี ๗ เดือน ๕ วัน

รูปที่ ๔
พระอธิการเหมือน ฐิตเมโธ (ภาษี) น.ธ.เอก

ชื่อเดิม เหมือน ภาษี
บิดา นายดำ ภาษี มารดา นางพา ภาษี (โยธา)
วันเกิด ๔ ฯ๔ ๕ ค่ำ ปีระกา วันที่ ๓ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๐
ภูมิลำเนา บ้านเลขที่ ๙๔ บ้านหนองรุง หมู่ที่ ๕ ตำบลศรีโนนงาม อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
บรรพชา-อุปสมบท
วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕ ณ วัดศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี พระครูสิริธรรมมงคล (เมา สิริวุฑฺโฒ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวินัยธรเหลือง ปสนฺโน (พระครูสารพัฒนกิจ) เจ้าอาวาสวัดสระเยาว์ ตำบลสระเยาว์
อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการนวล กิตฺติญาโณ อดีตเจ้าอาวาส วัดเกียรติแก้วสามัคคี รูปที่ ๓ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
การศึกษา

  • พ.ศ. ๒๕๑๒ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ (ป.๔) จากโรงเรียนบ้านหนองรุง ตำบลศรีโนนงาม อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
  • พ.ศ. ๒๕๒๗ สอบได้นักธรรมชั้นเอก วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ สำนักเรียนคณะจังหวัดศรีสะเกษ
    ตำแหน่ง
    เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๓ ถึงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

รูปที่ ๕
พระมหาสมบัติ จนฺทวณฺโณ (ศรัทธา) น.ธ.เอก, ป.ธ.๓

ชื่อเดิม สมบัติ ศรัทธา
บิดา นายบุญศรี ศรัทธา มารดา นางจันดี ศรัทธา (ภาษี)
วันเกิด ๓ ฯ๔ ๘ ค่ำ ปีเถาะ วันที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖
ภูมิลำเนา บ้านเลขที่ ๔๔ บ้านหนองรุง หมู่ที่ ๕ ตำบลศรีโนนงาม อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
บรรพชา-อุปสมบท
วันศุกร์ที่ ๒๒ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ณ วัดศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี พระครูสิริธรรมมงคล (เมา สิริวุฑฺโฒ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูโอภาสโพธิกิจ (ประสาท โอภาโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์พระองค์/ที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลพิงพวย อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการนวล กิตฺติญาโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี รูปที่ ๓ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
การศึกษา

  • พ.ศ. ๒๕๑๙ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ (ป.๔) จากโรงเรียนบ้านหนองรุง ตำบลศรีโนนงาม อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
  • พ.ศ. ๒๕๒๘ สอบได้นักธรรมชั้นเอก วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ สำนักเรียนคณะจังหวัดศรีสะเกษ
  • พ.ศ. ๒๕๓๐ สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค วัดหลวงปรีชากูล สำนักเรียนคณะ จังหวัดปราจีนบุรี
    ตำแหน่ง
    เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๖
    เป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอศรีรัตนะ รูปที่ ๑ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๘

รูปที่ ๖
พระครูศรีรัตนาภิรักษ์ (พนาวัลย์ จกฺกธมฺโม ป.ธ.๗)

ชื่อเดิม พนาวัลย์ เกษาชาติ
บิดา นายแก้ว เกษาชาติ มารดา นางสมบูรณ์ เกษาชาติ
วันเกิด ๓ ฯ๖ ๙ ค่ำ ปีระกา วันที่ ๒ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒
ภูมิลำเนา บ้านเลขที่ ๓๖ บ้านตะเคียน หมู่ที่ ๒ ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
บรรพชา วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ณ วัดศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี พระครูสิริธรรมมงคล (เมา สิริวุฑฺโฒ) เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท
วันอังคารที่ ๑๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ณ วัดศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี พระครูสิริธรรมมงคล (เมา สิริวุฑฺโฒ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูโอภาสโพธิกิจ (ประสาท โอภาโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์พระองค์/ที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลพิงพวย อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการนวล กิตฺติญาโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี รูปที่ ๓ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
การศึกษา

  • พ.ศ. ๒๕๓๑ จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ
    อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
  • พ.ศ. ๒๕๓๓ สอบได้นักธรรมชั้นเอก วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ สำนักเรียนคณะจังหวัดศรีสะเกษ
  • พ.ศ. ๒๕๔๘ สอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ สำนักเรียนคณะจังหวัดศรีสะเกษ
  • พ.ศ. ๒๕๖๑ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช

ตำแหน่งหน้าที่ในอดีต

  • เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๖ ถึงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๖
  • เป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอศรีรัตนะ วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔
  • เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะตำบลศรีแก้ว วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๑4 พฤษภาคม ๒๕๔๔
  • เป็นเจ้าคณะตำบลศรีแก้ว วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖
  • เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอศรีรัตนะ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖
  • เป็นเจ้าคณะอำเภอศรีรัตนะ วันที่ ๑ สิงหาคม 2546 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2565
  • เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอศรีรัตนะ วันที่ 5 มิถุนายน ๒๕65 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม ๒๕๖5
    ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน
  • เป็นเจ้าอาวาสวัดเกียรติแก้วสามัคคี วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ถึงปัจจุบัน
  • เป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดเกียรติแก้วสามัคคี พ.ศ. ๒๕๓๖ ถึงปัจจุบัน
  • เป็นผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติธรรมเกียรติแก้ววิทยา พ.ศ. ๒๕๔๑ ถึงปัจจุบัน
  • เป็นพระอุปัชฌาย์ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ถึงปัจจุบัน
  • เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ๕ มิถุนายน 2565 ถึงปัจจุบัน
    งานศึกษา
  • พ.ศ. ๒๕๓๖ ถึงปัจจุบัน เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ในสำนักศาสนศึกษาวัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
  • พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวงชั้นตรี คณะสงฆ์ภาค ๑๐
  • พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นผู้แทนแม่กองธรรมสนามหลวงประจำสนามสอบวัดเกียรติแก้วสามัคคี
  • พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงปัจจุบัน เป็นประธานอำนวยการดำเนินการอบรมบาลีก่อนสอบคณะสงฆ์อำเภอศรีรัตนะ ณ วัดเกียรติแก้วสามัคคี ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
  • พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดเกียรติแก้วสามัคคี
  • พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นผู้แทนแม่กองธรรมสนามหลวง นำข้อสอบไปถวายประธานสนามสอบวัดน้ำอ้อม ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
พระครูเมธีกิตติสาร
ผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรมเกียรติแก้ววิทยา
โรงเรียนพระปริยัติธรรมเกียรติแก้ววิทยา