วัดจำปา ได้สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ณ หมู่ที่ ๒ ตำบลประโคนชัย อำเภอตะลุง จังหวัดบุรีรัมย์ มณฑลนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอประโคนชัย บนเนื้อที่ ๖ ไร่ ๑๐ ตารางวา วัดจำปาถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่มาก เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นก่อนมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ดังนั้นจึงไม่สามารถค้นหาหลักฐานต่าง ๆ ของวัดได้

วัดจำปาจัดเป็นวัดที่มีสถานที่ตั้งอันเป็นศูนย์รวมของชุมชน เป็นศาสนสถานที่เอื้อประโยชน์ ต่อชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๖๘ และในปี พ.ศ. ๒๕๒๒

ช่วงเดือนเมษายน ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ร่วมแรงร่วมใจกันสมโภช ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต โดยมี พระครูวิลาศวัชรคุณ (เชียร ญาณมุนี) เจ้าอาวาสวัดจำปาในขณะนั้นเป็นประธานฝ่ายสงฆ์

วัดจำปาจัดเป็นวัดประเภท “ วัดราษฎร์” คือเป็นวัดที่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทุกหมู่เหล่าในพื้นที่มีศรัทธาร่วมแรงร่วมใจร่วมทุนด้วยพลังแห่งความสามัคคีของชุมชนสร้างวัดขึ้นมา และหากนับเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ขณะนี้วัดจำปา มีอายุประมาณ ๑๙๕ ปี โดยไม่มีหลักฐานปรากฏว่า ใครเป็นผู้สร้าง ท่านมหาเสน่ห์ สุดประโคนได้สันนิษฐานว่า การตั้งชื่อว่า วัดจำปานั้น ตั้งชื่อตามต้นจำปาที่ขึ้นอยู่ในเขตวัด ซึ่งต้นจำปาต้นนั้นบัดนี้ได้นำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ประดิษฐานที่วัดและเป็นพระพุทธรูปคู่บารมีของวัดจำปาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไปเป็นร้อยปี เป็นเหตุให้สภาพวัดโดยทั่วไปทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ในปีที่พระครูวิลาศวัชรคุณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ก็ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุด อาทิ พระอุโบสถ โดยรื้อถอนตามคำปรารภของนายเสน่ห์ สุดประโคนและอาจารย์วุฒิพงศ์ คงเสนา โดยดำเนินงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นต้นมา