ตำบลนาปัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

Wat Na Pang Na Pang Sub-district, Phu Phiang District, Nan Province

ที่ตั้ง วัดนาปังตั้งอยู่กลางหมู่บ้านนาปัง ตำบลนาปัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินของวัดมีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๔๙ ตารางวา วัดนาปังเป็นของพุทธศาสนิกชน ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านนาปังและบ้านสบแก่น

ความเป็นมา

วัดนาปังเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จากหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะเมืองน่านกล่าวถึงพระยาสารผาสุม (พระยางั่วผาสุม) ได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูป ๕ องค์ขึ้นในเมืองน่านราว พ.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๗๐ พระพุทธรูปปางลีลาวัดนาปังได้สร้างขึ้นภายหลังไม่นาน ดังนั้น สันนิษฐานได้ว่าวัดนาปังน่าจะสร้างก่อน พ.ศ. ๑๙๗๐ พงศาวดารเมืองน่านจารึกว่า เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชษฐมหันตไชยบุรี มหาราชาธิบดี เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้ปฏิสังขรณ์วัดนาปังในปีจุลศักราช ๑๒๑๙ (พ.ศ. ๒๔๐๐) เจ้าอาวาสวัดนาปังในขณะนั้นคือ ครูบาอภิยะ 

วัดนาปังได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๒ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๖ เมตร 

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนศิลปวัตถุและพระพุทธรูปที่สำคัญ ๒ องค์ คือ พระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะล้านนาชนิดสำริด และพระพุทธรูปปางมารวิชัย (พระประธาน) ศิลปะล้านนาชนิดสำริดเป็นพุทธศิลป์ซึ่งทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์

โบราณสถาน

สิ่งก่อสร้างต่างๆของวัดนาปังมีการสร้างขึ้นใหม่เนื่องจากเกิดการชำรุดทรุดโทรม อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสิ่งก่อสร้างอันทรงคุณค่าหลงเหลืออยู่ เช่น 

หอไตร เป็นสถานที่เก็บหีบธรรมและธรรมใบลาน บนหอไตรแห่งนี้มีหีบธรรม จำนวน ๑๓ ใบ และมีธรรมใบลานประมาณ ๔,๐๐๐ ผูก ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง สันนิษฐานว่ามีอายุนับร้อยปี

กุฏิ กุฏิหลังเก่าสร้างโดยครูบาบุญศรี อินทสาโร (พระครูอินทสารปยุต) เจ้าอาวาสขณะนั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ 

โบราณวัตถุ

๑. พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานในวิหาร

๒. พระพุทธรูปปางลีลา ประดิษฐานเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระประธาน

๓. พระเพชร พระพุทธรูปปางมารวิชัย

๔. พระเจ้าทันใจ หรือ พระพุทธรูปทันใจ

๕. ธรรมมาสน์

๖. สัตตภัณฑ์ หรือ เชิงเทียน เป็นเครื่องใช้สำหรับจุดเทียนบูชา

รายนามเจ้าอาวาสที่มีการบันทึกไว้

๑. ครูบาพรหมเสน ๒. ครูบาอนันต์ ๓. ครูบาอภิยะ 

๔. พระอธิการอิ่นคำ ๕. ครูบาวังธร (พรครูอินทสารปยุต) 

๖. พระหนูเด่น ติกชปญโญ ๗. พระอินหวัน สุญญจิตโต ๘. พระบุญกุย จิตตธมโม 

๙. พระอธิการสมเดช โชติกโร ๑๐. พระสมุห์เกษตร ขนฺติโก ๑๑. พระบุญสม อินฺทสาโร 

๑๒. พระพรหมฺโชโต ๑๓. รักษาการเจ้าอาวาสปัจจุบัน คือ พระสมาน สุเมธโส

วัดนาปัง

นาปังสร้างเมื่อไหร่ไม่ปรากฏ ไม่ได้จดศักราชกระดาษสา

ไม่เขียนธรรมใบลานการเป็นมา ไม่รู้ว่าสร้างเมื่อใดได้ชัดเจน

แต่ก็มีจารึกที่ฐานพระ อักขระตัวฝักขามตามที่เห็น

ปราชญ์โบราณแกะสลักไว้ชัดเจน แปดเจ็ดหนึ่งจอศอเน้นปีสร้างมา

คือพอสอ สองพัน ห้าสิบสอง หล่อพระทองเหลืองอร่ามงามนักหนา

ให้ชาวพุทธผู้เลื่อมใสได้บูชา จารึกว่า “ศรีญา” ศรัทธาธรรม

เป็นผู้สร้างรูปทรงพระองค์นี้ ห้าร้อยปีผ่านไปไกลยิ่งล้ำ

อีกหลักฐานยังมีมาชี้นำ ให้จดจำพระพุทธรูปปางลีลา

โยงประวัติจากวัดสู่หมู่บ้าน จากหลักฐานพระพุทธศาสนา

ภาคภูมิใจในหมู่บ้านถิ่นล้านนา ซึ่งสร้างมานานไม่น้อยหลายร้อยปี