วัดอำนาจ ตำบลอำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ

Wat Amnat Amnat Subdistrict, Lue Amnat District Amnat Charoen Province

ความเป็นมา

เมืองอำนาจเจริญ ตั้งอยู่ริมฝั่งเหนือลำเซบก ทิศอุดร และทิศพายัพของเมืองอุบลราชธานี ระยะห่างประมาณ ๕๕ กม. มีเขตติดต่อกับอำเภอม่วงสามสิบ อำเภอพนา อำเภอเขมราฐ อำเภอชานุมาน อำเภอเลิงนกทา อำเภอเขื่อนคำแก้ว 

เมื่อได้ทรงพระราชทานเป็นเมืองแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แต่งตั้งราชวงศ์เสือเป็นเจ้าเมือง และแต่งตั้งอุปฮาดราชวงศ์ และราชบุตรตามจารีตประเพณี การปกครองหัวเมืองภาคอีสานในสมัยนั้น เจ้าเมืองได้รับพระราชทาน ยศ บรรดาศักดิ์ เป็นพระอมรอำนาจ ได้สถาปนาวัดในเมืองอำนาจเจริญขึ้นเป็นอารามหลวง เมืองนี้มีอยู่ ๓ วัด คือ

๑. วัดในเมืองอำนาจเจริญ ( พระเจ้าใหญ่ลือชัย ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ )

๒. วัดทุ่งสุริยัน ( ปัจจุบันที่ทำการประปาส่วนภูมิภาค ) เป็นวัดร้าง

๓. วัดสว่างวิทยา ( อยู่หมู่ ๕ บ้านสว่าง) เป็นวัดร้าง

ปัจจุบันวัดอำนาจ มีพระเจ้าใหญ่ลือชัย เป็นองค์พระศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ เป็นพระมิ่งบ้านมิ่งเมืองและชาวเมืองตลอดพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้เคารพบูชาสักการะว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เดชผล บันดาลให้ผู้มาบนได้ตามปรารถนา ไม่ปรากฎในตำนานว่าใครสร้างพระเจ้าใหญ่ลือชัย สร้างคู่กับพระเหลาเทพนิมิต อำเภอพนา พระโรจน์ อำเภอม่วงสามสิบ

ประวัติพระเจ้าใหญ่ลือชัย

พระเจ้าใหญ่ลือชัยไม่ปรากฎชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีเรื่องเล่าที่ฟังจากผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านได้เล่าให้ฟังว่ามี ๓ พี่น้องจากประเทศลาวได้พากันทำการก่อสร้าง คนหนึ่งสร้างพระเหลา คนหนึ่งสร้างพระลือ คนหนึ่งสร้างพระโรจน์แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน

แต่เมื่อมาค้นคว้าดูจากหลักฐานตำราหนังสือสร้างบ้านแปลงเมืองที่คุณพ่อวิเชียร อุดมสันต์ เขียนเอาไว้และจากตำราประวัติการตั้งบ้านแปลงเมืองอำนาจเจริญ ก็ได้ข้อมูลว่าวัดแห่งนี้มีการบูรณะอุโบสถไม้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐ ตอนที่ทางวัดทำการบูรณะอุโบสถ ในครั้งนั้นก็มีองค์พระเจ้าใหญ่ลือชัยอยู่แล้ว และจากการศึกษาดูจากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างองค์พระเจ้าใหญ่ลือชัยตอนที่องค์พระเจ้าใหญ่ท่านร้าวแตก ทางวัดได้ทำการบูรณะและได้รู้ว่าในชั้นในจริง ๆ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างไม่ใช่ปูนสมัยใหม่เป็นดินเหนียวธรรมดา และฉาบทาด้วยเปลือกหอยที่เผาไฟ และต่อมาชั้นนอกจริงมีรอยฉาบด้วยปูนที่คนโบราณทำกันและมีปูนสมัยใหม่อยู่ด้านนอกบางส่วน อันแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าใหญ่ลือชัยได้มีการบูรณะซ่อมแชมมาหลายยุคหลายสมัยชั่วคนพอสมควรและที่ฐานพระเจ้าใหญ่ลือชัยจะมีปลวกขึ้นอยู่รอบฐานตลอดวลาทำอย่างไรก็ไม่หาย บางทีทางวัดต้องขุดดินปลวกออกเป็น ๕ สอบถึง ๑๐ สอบ ก็มี แต่ดินปลวกก็ไม่หมดสักที่ ซึ่งพระองค์อื่นไม่มีอย่างนี้ และที่นำสังเกตอีกอย่างก็คือ เวลาทางวัดจะมีงานนมัสการหรือ

จะมีคนมาทำบุญที่วัดมากนั้น จะมีปลวกล้นพูนขึ้นมาเป็นจำพวนมากเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะเหตุเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าใหญ่ลือชัยหรือพระฤทธิ์ลือชัย ได้มีการบูรณะซ่อมแชมมาหลายยุคหลายสมัยหลายชั่วอายุคนพอสมควร ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้เขียนประวัติไม่รู้จะสรุปการสร้างว่าสร้างในพ.ศ.ใด จึงได้สรุปและสันนิษฐานเอาเฉพาะตอนบูรณะอุโบสถไม้มาเท่านั้น คือ ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๖๐ ถึงการตั้งเมืองคือ พ.ศ.๒๓๙๓ โดยมีหลวงพ่อบัณฑิตและหมื่นชาโนชิตเป็นผู้นำในการก่อสร้าง ก่อนที่จะทำการก่อสร้างได้เกิดนิมิตแก่หลวงพ่อบัณฑิตว่า จะหล่อหรือจะเหลา หรือจะเอาโลด

เมื่อพิจารณาตามนิมิตนี้แล้ว หลวงพ่อบัณฑิตและหลวงหมื่นชาโนชิตจึงได้นำศรัทธาญาติโยมทำการก่อสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยโดยการใช้พิมพ์เทหล่อด้วยปูนผสมทรายสำเร็จเป็นพระพุทธรูประหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๐ – ๒๓๙๓ เมื่อสำเร็จแล้วก็มีคนมาขอพรกราบไหว้ แล้วไปรบราข้าศึกต่าง ๆ ก็ได้รับชัยชนะมาตลอดและเมืองอำนาจเจริญเป็นเมืองหน้าด่าน เมื่อข้าศึกยกทัพมาก็จะต้องผ่านเมืองอำนาจเจริญแห่งนี้ก่อน แต่ข้าศึกเหล่านั้นก็ไม่สามารถยึดและทำอันตรายแก่เมืองอำนาจเจริญได้ เพราะอาศัยพระมิ่งเมืองและพระเชื้อเมืองตลอดถึงพระเจ้าใหญ่ลือชัยที่ประดิษฐานอยู่ที่อุโบสถวัดอำนาจด้วย เหตุนี้จึงให้นามพระพุทธรูปองค์นี้ว่าพระเจ้าใหญ่ลือชัย ตั้งแต่นั้นมา ต่อมาเมื่อบ้านอำนาจได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอจึงได้เอาซื่อพระเจ้าใหญ่ลือชัย คือ คำว่า ลือ มานำหน้าคำว่าอำนาจ จึงได้ชื่อว่า อำเภอลืออำนาจมาจนถึงปัจจุบัน

ลำดับเจ้าอาวาส

รูปที่ ๑ เจ้าอธิการสี (พระครูวุฒิเดชคณาจารย์) พ.ศ. ๒๓๙๘

รูปที่ ๒ พระครูบัณฑิต (โสม) พ.ศ. ๒๔๓๓

รูปที่ ๓ พระภิกษุเทพวงค์ษา พ.ศ. ๒๔๔๓

รูปที่ ๔ พระวรบุตร (จูม) พ.ศ. ๒๔๕๓

รูปที่ ๕ พระครูวรบุตร พ.ศ. ๒๔๕๘

รูปที่ ๖ พระอธิการมณี พ.ศ. ๒๔๖๔

รูปที่ ๗ พระอธิการรอง พ.ศ. ๒๔๖๙

รูปที่ ๘ พระอธิการเอี้ยง พ.ศ. ๒๔๗๙  

(พ.ศ. ๒๕๐๔ เจ้าอธิการเอี้ยงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสุจิตธรรมบาล เจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลอำนาจ ทางวัดและชาวบ้านจึงได้จ้างมหรสพคลองโบสถ์และพัดยศของท่านพระครูสุจิตธรรมบาล)

ปัจจุบัน พระครูสิริสีลวัตร  ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอำนาจ และรองเจ้าคณะจังหวัดอำนาจเจริญ