ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติวัดพระธาตุโป่งดินสอ

             วัดพระธาตุโป่งดินสอ ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา  เป็นวัดที่สร้างจากแรงศรัทธาของญาติโยมชาวบ้านโป่งดินสอ  หมู่ที่ 15  ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา  โดยแต่เดิมนั้นพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าช้าประจำหมู่บ้าน   ใช้เป็นสถานสำหรับฝังศพเพื่อรอการบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยมในยุคก่อน  เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงชาวบ้านไม่นิยมเก็บศพไว้แล้ว  ประกอบกับการเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น ชาวบ้านจึงค่อย ๆ เปลี่ยนวิธีการในการจัดงานศพโดยการจัดพิธีบำเพ็ญให้แล้วเสร็จและนำศพไปเผาที่ฌาปนสถาน (เมรุ) ตามวัดในหมู่บ้านใกล้เคียง

สถานที่แห่งนี้จึงกลับมาเป็นป่าชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์  เต็มไปด้วยพืชพันธ์ตามธรรมชาติต่าง ๆ   ชาวบ้านจึงอาศัยที่แห่งนี้เป็นแหล่งสำหรับเก็บของป่า เช่น เห็ด ผักหวาน เป็นต้น

จนกระทั่งเมื่อปีพุทธศักราช 2547  จึงเริ่มมีพระภิกษุผู้จาริกธุดงค์มาพักอาศัย สลับกับบางคราวก็มีพระภิกษุผู้เป็นชาวบ้านในพื้นที่ใช้เป็นที่พำนักจำพรรษาเรื่อยมา ชาวบ้านเห็นเป็นโอกาสอันดีจึงร่วมกันสร้างเสนาสนะ  อันมีกุฏิศาลาและห้องสุขาเป็นต้น  เพื่อไว้อำนวยความสะดวกสำหรับภิกษุผู้มาพักอาศัย  และเหมาะแก่การเข้ามาทำบุญของชาวบ้านโป่งดินสอ จากนั้นจึงยกระดับเป็น “สำนักสงฆ์” ในวันที่ 13ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2555  และมีพระสงฆ์มาพักจำพรรษาอยู่ประจำเรื่อยมา  และเมื่อมีความพร้อมเพรียงทั้งด้านพระภิกษุ ด้านชาวบ้าน ด้านเสนาสนะมากขึ้นแล้ว  จึงมีการทำเรื่องขออนุญาตต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา   เพื่อยกระดับกลายเป็นวัด (ที่พักสงฆ์) โดยเรียกขานนามใหม่ว่า “วัดพระธาตุโป่งดินสอ” ในวันที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2561

พระธาตุโป่งดินสอ

พระธาตุโป่งดินสอเป็นพระธาตุเจดีย์ที่เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2557    แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปีพุทธศักราช 2562  มีฐานสี่เหลี่ยมทาด้วยสีทองตลอดทั้งองค์  สูง 32 เมตร  ฐานกว้าง 15 X 20 เมตร     สร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  เป็นพระธาตุเจดีย์ประจำปีเถาะ    มีสัญลักษณ์รูปปั้นกระต่ายอยู่ด้านหน้าภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดีย และส่วนหนึ่งจากพระมหาเถระพ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้เมตตามอบให้           ภายในพระธาตุยังมีพระธาตุองค์เล็กซึ่งจำลองมาจากรูปแบบพระธาตุเจดีย์วัดพระธาตุพนมอีก ๑ องค์  เป็นพระธาตุเจดีย์ที่สร้างขึ้นด้วยพลังความศรัทธาของคณะสงฆ์ พุทธศาสนิกชน ข้าราชการ ที่มีต่อพระพุทธศาสนา  และด้วยความจงรักภักดีที่มีต่อพระมหากษัตริย์  ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของพระธาตุโป่งดินสอ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความวิจิตรงดงามมาก  เนื่องจากเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนโดยช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
เป็นหนึ่งในศาสนวัตถุที่พุทธศาสนิกชนให้ความศรัทธา  กราบไหว้ขอพรและสำเร็จดังปรารถนา  รวมถึงในแง่การท่องเที่ยวซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจากทั่วสารทิศ มาเที่ยวชมเก็บภาพเป็นที่ระลึกและเป็นพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่หนึ่งเดียวในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา  โดยในทุก ๆ ปีชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนรวมทั้งหน่วยงานราชการท้องถิ่น  ได้จัดให้มีประเพณีการจัดงาน “นมัสการพระธาตุโป่งดินสอ” ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนมีนาคม  ซึ่งในงานจะมีกิจกรรมทั้งการเปิดให้ประชาชนได้เข้านมัสการพระธาตุโป่งดินสอ การอัญเชิญพระอุปคุตมหาเถระพร้อมด้วยขบวนแห่อัญเชิญที่สวยงามและยิ่งใหญ่ตระการตา  จากความสามัคคีพร้อมเพรียงใจกันของทั้งประชาชนในท้องถิ่นและจากทั่วทุกสารทิศ รวมถึงการละเล่นและการแสดงโชว์ตามวัฒนธรรมท้องถิ่น  แต่อย่างไรก็ตามแม้ในช่วงเวลาปกติพระธาตุโป่งดินสอก็เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา    ของจังหวัดนครราชสีมา             ที่ประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจมาเที่ยวชมทุกวันตลอดปี

     

วังพญานาค  วัดพระธาตุโป่งดินสอ

วังพญานาค เป็นหนึ่งในสถานที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อโบราณของชาวบ้านโป่งดินสอ และเป็นสถานที่ซึ่งคณะสงฆ์วัดพระธาตุโป่งดินสอร่วมสร้างขึ้น  เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ขอพรให้สำเร็จ  สมความปรารถนา  แต่เดิมนั้นสถานที่แห่งนี้เป็นแต่เพียงเนินปู่ตา  ที่ชาวบ้านใช้เคารพกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ  และเมื่อเวลาผ่านไปมีผู้นำเสาตะเคียนขนาดใหญ่มาพักไว้    ประกอบกับชาวบ้านเริ่มมีความเชื่อเรื่องของพญานาค   จึงได้มีการปรึกษากับคนทรงและมีมติจะสร้างเป็นสถานที่สำหรับกราบไหว้บูชาขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์    ซึ่งประกอบไปด้วยการสร้างรูปปั้นพญานาคใหญ่โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่าบริเวณแห่งนี้เป็นที่อยู่ของพญาทะนะมูลนาคราชและจากนั้นทางคณะสงฆ์ก็ได้ร่วมมือกับชาวบ้าน    สร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้กราบไหว้ขอพรและสำหรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของทางวัดและทางหมู่บ้านโป่งดินสอ  โดยมีการจัดสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกเพื่อให้เข้ากับสถานที่ที่ได้ชื่อว่า “วังพญานาค”  และนำเสาตะเคียนทั้งหมดนั้น    สร้างเป็นศาลาแม่ตะเคียนเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ   เป็นสถานที่สำหรับชาวบ้านที่มีความเชื่อศรัทธาได้มากราบไหว้ขอพรและสวดมนต์แล้วรวมถึงใช้เป็นสถานที่สำหรับท่องเที่ยว   ในปัจจุบันวังพญานาคได้รับการดูแลจากชาวบ้านและทางวัดพระธาตุโป่งดินสอ  มีการจัดสถานที่ไว้สำหรับนักท่องเที่ยว  รวมถึงผู้แสวงโชคที่มาเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนี้ไว้อย่างสวยงาม  โดยจัดเป็นชั้นต่างๆและมีห้องสุขาสำหรับบริการนักท่องเที่ยว   ในขณะที่นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งก็เป็นบรรดานักแสวงโชค  ซึ่งมีความเชื่อว่าเมื่อมากราบไหว้อธิษฐานขอพรที่วังพญานาคแล้วก็มักจะสำเร็จสมดังที่ปรารถนาในหลายๆประการ  ในด้านการท่องเที่ยวนั้นวังพญานาคเป็นหนึ่งเดียวในเขตอำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมาเช่นกัน   ซึ่งมีรูปปั้นพญาทะนะมูลนาคราช ตามความเชื่อของชาวบ้านมีขนาดความสูงประมาณ 2 เมตรครึ่ง  แลดูได้โดดเด่นแต่ไกลและสวยงามมากจึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่มาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกรวมถึงมากราบนมัสการขอพรด้วยเช่นกัน

อุโบสถล้านช้าง

อุโบสถประจำวัดพระธาตุโป่งดินสอ  ได้รับการสร้างขึ้นโดยได้นำแบบมาจากเมืองหลวงพระบาง    ประเทศลาวซึ่งเป็นอุโบสถทรงหลังคาห้าจั่ว  โดยมีจั่วด้านหน้าสำหรับใส่ช่อฟ้า 3 ชั้นและจั่วด้านหลัง 2 ชั้น      แม้จะยังสร้างไม่แล้วเสร็จ   ก็มีความสวยงามโดดเด่นและแตกต่างจากวัดทั่วๆไปในบริเวณเขตอำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา    โดยขณะนี้มีการก่อสร้างไปแล้วกว่า 50%   และทางวัดกำลังรับบริจาคปัจจัยเพื่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยคาดว่าอีก 3 ปีก็น่าจะสร้างได้แล้วเสร็จ  ในอุโบสถทรงล้านช้างของวัดพระธาตุโป่งดินสอนั้น ประดิษฐานพระพุทธรูป   พระประธานทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ

พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ มีประวัติการสร้างขึ้นสมัยอยุธยา  ตั้งแต่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 สร้างขึ้นตามคติเรื่อง “ชมพูบดีสูตร” หรือพระพุทธเจ้าทรงทรมานพระยาชมพูบดี       ซึ่งกล่าวถึงสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารพุทธอุบาสก ถูกพระยาชมพูบดีกษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพเป็นที่ยำเกรงของกษัตริย์ทั้งหลายคุกคาม  จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เวฬุวัน  เพื่อขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นด้วยพระญาณว่าจะโปรดพระยาชมพูบดีได้     จึงทรงเนรมิตพระเวฬุวันประดุจเมืองสวรรค์ และทรงเนรมิตพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ทรงเครื่องราชาภรณ์ทุกประการ        แล้วตรัสให้พระอินทร์เป็นทูตไปเชิญพระพระยาชมพูบดีมาเฝ้า พระยาชมพูบดีแพ้แก่ฤทธิ์พระอินทร์จึงยอมเข้าเฝ้ายังเวฬุวันวิหาร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทรมานพระยาชมพูบดีให้คลายจากความถือดีด้วยประการต่างๆ แล้ว     ทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับคืนสู่สภาพเดิมและทรงแสดงธรรมจนพระยาชมพูบดีสิ้นทิฐิมานะ ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสาวกในพระพุทธศาสนา

ประวัติเจ้าอาวาส

ชื่อ พระอธิการวัฒนชัย  ฉายา  คุณสมฺปนฺโน    สังกัด  มหานิกาย
ชื่อเดิม  วัฒนชัย   นามสกุล  วิสัยเกตุ

 

คลิกเพื่อนำทาง