ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

วัดชัยสถาน

หอพระไตรปิฏก

ประวัติความเป็นมา

            วัดชัยสถาน ตั้งอยู่เลขที่ ๖ หมู่ ๑๐ บ้านชัยสถาน (ยางก่ายเกิ้ง) ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สังกัดมหานิกาย เดิมทีสถานที่ตั้งของวัดปัจจุบันนี้เป็นวัดร้างมาก่อน ซึ่งมีซากปรักหักพังของพระธาตุเจดีย์และซากพระวิหารหลงเหลืออยู่เท่านั้น ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๓๐๐ ได้มี พ่อท้าวชัยยะสัญฐาน ได้เป็นหัวหน้าชักชวนชาวบ้านริเริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด ๔ ไร่ ๒ งาน ๕๖ ตารางวา การบูรณะสร้างวัดขึ้นในส่วนนี้เกิดจากจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธาปสาทะแรงกล้าเพื่อเป็นสถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรมและประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของคณะศรัทธาวัดชัยสถานและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ครั้งแรกได้ตั้งชื่อว่า “วัดยางก่ายเกิ้ง” ตามชื่อเดิมของวัด   ซึ่งประวัติความเป็นมาของคำว่า “ยางก่ายเกิ้ง” ในอดีต การเดินทางสัญจรไปมาระหว่างศรัทธาประชาชนสองฝั่งแม่น้ำปิงที่อยู่บริเวณหน้าวัด ได้มีต้นไม้ยางใหญ่ล้มพาดผ่านพิงกันข้ามแม่น้ำปิง จึงเป็นเหตุให้ศรัทธาประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำได้ใช้เป็นสะพานเชื่อมเดินข้ามไป-มาระหว่างสองฝากฝั่งแม่น้ำ ดังนั้นคำว่า “พาดผ่านพิงกัน” จึงตรงกับคำพื้นเมืองว่า“ก่ายเกิ้ง” จึงเป็นที่มาของคำว่า “ยางก่ายเกิ้ง” ส่วนคำว่า “หนองแล้ง”

พระประธานหลวงพ่อชัยสถานชนะมาร

นั้นจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ และตำนานพระเจ้าเลียบโลกได้กล่าวไว้เมื่อครั้งพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโดยฌานอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เพื่อมาโปรดเวนัยสัตว์ในดินแดนแถบนี้ให้ได้รู้จักพระพุทธศาสนา ทรงโปรดบิณฑบาต ณ ปัจจุบันนี้เรียกว่า “ดอยห้างบาตร” หลังจากบิณฑบาตเสร็จแล้วได้เสด็จขึ้นไปเพื่อฉันภัตตาหาร ณ ที่ “ยอดดอยขะม้อ” เมื่อพระพุทธองค์ฉันเสร็จแล้วไม่มีน้ำดื่ม จึงรับสั่งขอน้ำฉันจากพระอานนท์ๆจึงเล็งดูรอบๆดอยได้เห็นลำห้วยจึงลงไปเพื่อที่จะได้ตักน้ำพอลงไปลำห้วยนั้นก็ตีบเล็กลงปัจจุบันนี้ ได้เรียกกันว่า “น้ำแม่ตีบ” แล้วพระอานนท์ได้เห็นแม่น้ำแห่งหนึ่งทางทิศไต้ แต่มีขบวนเกวียนจำนวนมากที่เพิ่งข้ามแม่น้ำไปจึ่งทำให้น้ำขุ่นไม่สามารถตักน้ำไปดื่มได้จึ่งคอยท่าอยู่นาน ต่อมาจึงได้เรียกแม่น้ำสายนี้ในเวลาต่อมาว่า “แม่น้ำท่า” และต่อมาได้เรียกเพี้ยนเป็น “แม่น้ำทา” พระอานนท์จึงเสาะหาแหล่งน้ำอื่น มองเห็นหนองน้ำแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกแต่ก็ปรากฏน้ำในหนองเกิดแห้งแล้งลงไปอีก สถานที่แห่งนี้จึ่งได้ชื่อว่า  “หนองแล้ง” ปัจจุบันผู้คนเรียกว่า “โต้งหนอง” จนพระอานนท์ต้องกราบทูลแก่พระพุทธองค์ๆจึงทรงอธิฐานบารมีใช้นิ้วมือกดลงกลางแผ่นหินบนภูเขาจนเกิดเป็นบ่อน้ำพุ่งขึ้นมา พระพุทธองค์จึงได้ใช้บ่อน้ำนั้นดื่มฉัน แล้วพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสทำนายกับ  พระอานนท์ว่า “ต่อไปในภายภาคหน้าจะมีผู้คนใช้น้ำจากบ่อนี้ไปสรงพระบรมธาตุเจดีย์ของตถาคตที่จะอุบัติขึ้นกลางเมืองหริภุญชัยนี้ให้ผู้คนได้กราบใหว้สักการะบูชารุ่งเรืองสืบไป”  

กระทั่งต่อมาปี พ.ศ.๒๔๗๒ ท่านเจ้าคุณพระญาณมงคลอดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูนในสมัยนั้น ได้เปลี่ยนชื่อจาก “วัดยางก่ายเกิ้ง” มาเป็น “วัดชัยสถาน” เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงผู้ริเริ่มบูรณะสร้างวัดคือ พ่อท้าวชัยยะสัญฐาน สิ่งที่คงเหลือไว้ให้เห็นเป็นอนุสรณ์ในปัจจุบันนี้ คือ “ต้นไม้ยางนา”  เป็นต้นไม้มงคล(ไม้หมายเมือง)ประจำหมู่บ้านๆชัยสถานที่คงอยู่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๕  พฤศจิกายน  พุทธศักราช  ๒๕๔๐   

พระธาตุเจดีย์สรี๋ชัยสถานลานธรรม

ซุ้มประตูชัยชุมพลนวมงคลสถาน

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ
๑. อุโบสถ
๒. วิหารน้ำแต้มลายคำ
๓. พระประธานหลวงพ่อชัยสถานชนะมาร
๔. พระธาตุเจดีย์สรี๋ชัยสถานลานธรรม
๕. หอพระไตรปิฏก
๖. หอระฆังนันทะเภรีสรี๋ชัยสถาน
๗. ซุ้มประตูชัยชุมพลนวมงคลสถาน
๘. กุฏิเจ้าอาวาส
๙. ศาลาบำเพ็ญบุญ
๑๐. โรงครัว
๑๑. ห้องน้ำ – ห้องส้วม

หอระฆังนันทะเภรีสรี๋ชัยสถาน

พระครูสุวัจน์ชัยสถิตย์ (โอวาท วงค์สถาน) ปัญญาปสุโต เจ้าอาวาสวัดชัยสถาน

การบริหารและการปกครองของเจ้าอาวาส

อันดับที่ ชื่อ ฉายา หมายเหตุ
รูปที่ ๑ ครูบาเตียมต๋า ไม่ทราบฉายา มรณภาพ
รูปที่ ๒ ครูบาอินคำ ไม่ทราบฉายา มรณภาพ
รูปที่ ๓ ครูบาดวงต๋า ไม่ทราบฉายา มรณภาพ
รูปที่ ๔ ครูบาดวงคำ ไม่ทราบฉายา มรณภาพ
รูปที่ ๕ ครูบาปินตา ไม่ทราบฉายา มรณภาพ
รูปที่ ๖ ครูบาปัญญา ไม่ทราบฉายา มรณภาพ
รูปที่ ๗ พระอธิการปัญญา ปัญญาธโร มรณภาพ
รูปที่ ๘ พระอธิการอินสม ชัยลังกาโร มรณภาพ
รูปที่ ๙ พระอธิการดวงดี จิตตธัมโม มรณภาพ
รูปที่ ๑๐ พระอธิการอุดทา จันทสุทโธ ลาสิกขา
รูปที่ ๑๑ พระครูสุวัจน์ชัยสถิตย์ (โอวาท  วงค์สถาน) ปัญญาปสุโต ๒๕๓๕ – ปัจจุบัน

ภาพมุมสูง


ร่วมบริจาคทำบุญ

คลิกเพื่อนำทาง