ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
วัดชัยสถาน
ประวัติความเป็นมา
วัดชัยสถาน ตั้งอยู่เลขที่ ๖ หมู่ ๑๐ บ้านชัยสถาน (ยางก่ายเกิ้ง) ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สังกัดมหานิกาย เดิมทีสถานที่ตั้งของวัดปัจจุบันนี้เป็นวัดร้างมาก่อน ซึ่งมีซากปรักหักพังของพระธาตุเจดีย์และซากพระวิหารหลงเหลืออยู่เท่านั้น ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๓๐๐ ได้มี พ่อท้าวชัยยะสัญฐาน ได้เป็นหัวหน้าชักชวนชาวบ้านริเริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด ๔ ไร่ ๒ งาน ๕๖ ตารางวา การบูรณะสร้างวัดขึ้นในส่วนนี้เกิดจากจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธาปสาทะแรงกล้าเพื่อเป็นสถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรมและประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของคณะศรัทธาวัดชัยสถานและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ครั้งแรกได้ตั้งชื่อว่า “วัดยางก่ายเกิ้ง” ตามชื่อเดิมของวัด ซึ่งประวัติความเป็นมาของคำว่า “ยางก่ายเกิ้ง” ในอดีต การเดินทางสัญจรไปมาระหว่างศรัทธาประชาชนสองฝั่งแม่น้ำปิงที่อยู่บริเวณหน้าวัด ได้มีต้นไม้ยางใหญ่ล้มพาดผ่านพิงกันข้ามแม่น้ำปิง จึงเป็นเหตุให้ศรัทธาประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำได้ใช้เป็นสะพานเชื่อมเดินข้ามไป-มาระหว่างสองฝากฝั่งแม่น้ำ ดังนั้นคำว่า “พาดผ่านพิงกัน” จึงตรงกับคำพื้นเมืองว่า“ก่ายเกิ้ง” จึงเป็นที่มาของคำว่า “ยางก่ายเกิ้ง” ส่วนคำว่า “หนองแล้ง”
นั้นจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ และตำนานพระเจ้าเลียบโลกได้กล่าวไว้เมื่อครั้งพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโดยฌานอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เพื่อมาโปรดเวนัยสัตว์ในดินแดนแถบนี้ให้ได้รู้จักพระพุทธศาสนา ทรงโปรดบิณฑบาต ณ ปัจจุบันนี้เรียกว่า “ดอยห้างบาตร” หลังจากบิณฑบาตเสร็จแล้วได้เสด็จขึ้นไปเพื่อฉันภัตตาหาร ณ ที่ “ยอดดอยขะม้อ” เมื่อพระพุทธองค์ฉันเสร็จแล้วไม่มีน้ำดื่ม จึงรับสั่งขอน้ำฉันจากพระอานนท์ๆจึงเล็งดูรอบๆดอยได้เห็นลำห้วยจึงลงไปเพื่อที่จะได้ตักน้ำพอลงไปลำห้วยนั้นก็ตีบเล็กลงปัจจุบันนี้ ได้เรียกกันว่า “น้ำแม่ตีบ” แล้วพระอานนท์ได้เห็นแม่น้ำแห่งหนึ่งทางทิศไต้ แต่มีขบวนเกวียนจำนวนมากที่เพิ่งข้ามแม่น้ำไปจึ่งทำให้น้ำขุ่นไม่สามารถตักน้ำไปดื่มได้จึ่งคอยท่าอยู่นาน ต่อมาจึงได้เรียกแม่น้ำสายนี้ในเวลาต่อมาว่า “แม่น้ำท่า” และต่อมาได้เรียกเพี้ยนเป็น “แม่น้ำทา” พระอานนท์จึงเสาะหาแหล่งน้ำอื่น มองเห็นหนองน้ำแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกแต่ก็ปรากฏน้ำในหนองเกิดแห้งแล้งลงไปอีก สถานที่แห่งนี้จึ่งได้ชื่อว่า “หนองแล้ง” ปัจจุบันผู้คนเรียกว่า “โต้งหนอง” จนพระอานนท์ต้องกราบทูลแก่พระพุทธองค์ๆจึงทรงอธิฐานบารมีใช้นิ้วมือกดลงกลางแผ่นหินบนภูเขาจนเกิดเป็นบ่อน้ำพุ่งขึ้นมา พระพุทธองค์จึงได้ใช้บ่อน้ำนั้นดื่มฉัน แล้วพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสทำนายกับ พระอานนท์ว่า “ต่อไปในภายภาคหน้าจะมีผู้คนใช้น้ำจากบ่อนี้ไปสรงพระบรมธาตุเจดีย์ของตถาคตที่จะอุบัติขึ้นกลางเมืองหริภุญชัยนี้ให้ผู้คนได้กราบใหว้สักการะบูชารุ่งเรืองสืบไป”
กระทั่งต่อมาปี พ.ศ.๒๔๗๒ ท่านเจ้าคุณพระญาณมงคลอดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูนในสมัยนั้น ได้เปลี่ยนชื่อจาก “วัดยางก่ายเกิ้ง” มาเป็น “วัดชัยสถาน” เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงผู้ริเริ่มบูรณะสร้างวัดคือ พ่อท้าวชัยยะสัญฐาน สิ่งที่คงเหลือไว้ให้เห็นเป็นอนุสรณ์ในปัจจุบันนี้ คือ “ต้นไม้ยางนา” เป็นต้นไม้มงคล(ไม้หมายเมือง)ประจำหมู่บ้านๆชัยสถานที่คงอยู่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๐
อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ
๑. อุโบสถ
๒. วิหารน้ำแต้มลายคำ
๓. พระประธานหลวงพ่อชัยสถานชนะมาร
๔. พระธาตุเจดีย์สรี๋ชัยสถานลานธรรม
๕. หอพระไตรปิฏก
๖. หอระฆังนันทะเภรีสรี๋ชัยสถาน
๗. ซุ้มประตูชัยชุมพลนวมงคลสถาน
๘. กุฏิเจ้าอาวาส
๙. ศาลาบำเพ็ญบุญ
๑๐. โรงครัว
๑๑. ห้องน้ำ – ห้องส้วม
การบริหารและการปกครองของเจ้าอาวาส
อันดับที่ | ชื่อ | ฉายา | หมายเหตุ |
รูปที่ ๑ | ครูบาเตียมต๋า | ไม่ทราบฉายา | มรณภาพ |
รูปที่ ๒ | ครูบาอินคำ | ไม่ทราบฉายา | มรณภาพ |
รูปที่ ๓ | ครูบาดวงต๋า | ไม่ทราบฉายา | มรณภาพ |
รูปที่ ๔ | ครูบาดวงคำ | ไม่ทราบฉายา | มรณภาพ |
รูปที่ ๕ | ครูบาปินตา | ไม่ทราบฉายา | มรณภาพ |
รูปที่ ๖ | ครูบาปัญญา | ไม่ทราบฉายา | มรณภาพ |
รูปที่ ๗ | พระอธิการปัญญา | ปัญญาธโร | มรณภาพ |
รูปที่ ๘ | พระอธิการอินสม | ชัยลังกาโร | มรณภาพ |
รูปที่ ๙ | พระอธิการดวงดี | จิตตธัมโม | มรณภาพ |
รูปที่ ๑๐ | พระอธิการอุดทา | จันทสุทโธ | ลาสิกขา |
รูปที่ ๑๑ | พระครูสุวัจน์ชัยสถิตย์ (โอวาท วงค์สถาน) | ปัญญาปสุโต | ๒๕๓๕ – ปัจจุบัน |
คลิกเพื่อนำทาง