ตำบลหนองม่วงไข่ อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่
Wat Nong Muang Khai
Nong Muang Khai Subdistrict, Nong Muang Khai District, Phrae Province

ความเป็นมา
เมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีล่วงมาแล้ว บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านหนองม่วงไข่ ณ ปัจจุบันนี้ เคยเป็นป่าดงดิบและที่ราบลุ่มซึ่งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมลำห้วยแม่คำมีกับน้ำยมไหลมาบรรจบกัน เป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น เช่น ต้นสัก ต้นไผ่ และ ต้นมะม่วงป่า อีกทั้งมีสัตว์ป่าน้อยใหญ่อาศัยอยู่อย่างชุกชุม เช่น ช้าง เสือ หมี ควายป่า หมูป่า กวาง ค่าง อีเก้ง ชะนี และไก่ป่า ซึ่งมีจำนวนมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น
ต่อมาเมื่อแม่น้ำยมได้เปลี่ยนทิศทางการไหลจึงทำให้บริเวณที่เคยเป็นทางน้ำเดิมเกิดเป็นหนองน้ำขึ้น สามารถใช้ประกอบอาชีพทำเรือกสวนไร่นาได้ในราวปี พ.ศ. ๒๒๖๘ ได้มีชาวบ้านต่างถิ่นและพวกพ่อค้าได้ล่องเรือนำสินค้าไปจำหน่าย ได้มาพบบริเวณที่ราบลุ่มหนองน้ำแห่งนี้ ซึ่งเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่พักอาศัยขึ้น ตลอดจนการทำการเกษตร ณ บริเวณที่แห่งนี้

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับตำบลหัวเมือง อำเภอสอง จังหวัดแพร่
ทิศตะวันออก ติดกับตำบลแม่คำมี อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่
ทิศตะวันตก ติดกับแม่น้ำยมและตำบลน้ำรัด อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่
ทิศใต้ ติดกับตำบลคำมี อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
เมื่อเริ่มมีชาวบ้านเข้ามาอาศัยในบริเวณที่ราบลุ่มหนองม่วงไข่แห่งนี้มากขึ้น บรรดาชาวบ้านได้ปรึกษากันว่าสมควรที่จะสร้างวัดขึ้นเพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของคนในหมู่บ้าน ดังนั้นจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๓๑๘ โดยได้นิมนต์พระอธิการคำ สุวณฺโณ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และมีการสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัด โดยอาศัยแรงศรัทธา และความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน จึงทำให้วัดเกิดความมั่นคงถาวร เป็นที่พึ่งของชาวบ้านมาตลอด
ที่ตั้งปัจจุบัน วัดหนองม่วงไข่ เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองม่วงไข่ อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ๕๔๑๗๐ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๗๔ ตารางวา

หลวงพ่อพุทธจักรลานนาไทย
พระราชรัตนมุนี เจ้าอาวาสวัดหนองม่วงไข่ เจ้าคณะจังหวัดแพร่ เห็นว่าพระประธานองค์เดิมมีขนาดเล็กและทรุดโทรม จึงสร้างพระประธานในวิหารขึ้นมาใหม่ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้ทำพิธีหล่อพระประธาน หน้าตักกว้าง ๗ ศอก สูง ๙ ศอก โดยมีพระราชครูวามเทพมุนี พราหมณ์หลวง พร้อมด้วยคณะได้ประกอบพิธีบวงทรวงอัญเชิญเทพยดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มาสถิตในมณฑลพิธีนั้น นอกจากนี้ยังได้กราบอาราธนา สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม (ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗) เสด็จเป็นองค์ประธานทำพิธีเททอง และท่านยังเมตตาประทานนามพระประผานองค์ใหม่นี้ว่า หลวงพ่อพระพุทธจักรลานนาไทย เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ศิลปะสุโขทัย สิ้นงบประมาณ ๑๑๙,๒๐๐ บาท
ศาลาหลวงปู่รส (ศาลาไม้สักทรงล้านนา)
เมื่อสร้างรูปเหมือนหลวงปู่รสขึ้นมาแล้ว ได้ประดิษฐานตั้งอยู่บนแท่นที่โล่งแจ้ง คณะศรัทธาบางท่านกล่าวว่า น่าสงสารหลวงปู่เพราะตั้งไว้ในที่โล่งแจ้ง ตากแดด ตากฝน กลัวสนิมกัดกร่อน ทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ชมรมผู้สูงอายุตำบลหนองม่วงไข่ และคณะศรัทธาวัดหนองม่วงไข่ได้ร่วมใจกันสร้างศาลาไม้สักทรงล้านนาครององค์รูปเหมือนปู่รสขึ้นมา ในการครั้งนี้โดยการนำของพระครูโอภาสพัฒนานุยุต (เปล่ง กิตฺติวณฺโณ) เจ้าอาวาสในสมัยนั้น และออกแบบโดยอาจารย์วิทยา สุริยะ ศาลาหลังนี้เป็นศิลปะเชิงช่างแบบล้านนา สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง
ในหลวงรัชการที่ ๙ เสด็จพระราชทานผ้าทอดกฐินต้นวัดหนองม่วงไข่
วันพฤหัสบดีที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราช ตามเสด็จในการพระราชทานผ้าทอดกฐินต้น พร้อมกับทรงเมตตาเจิม และปิดทองช่อฟ้า ณ อุโบสถวัดหนองม่วงไข่ โดยมีประชาชนมารอเฝ้ารับเสด็จ และชมพระบารมีกันเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๔๙ เป็นระยะเวลา ๑ ปี จึงแล้วเสร็จ สิ้นค่าใช้จ่าย ๑,๕๕๙,๓๑๕ บาท
โฮงหลวง
แรกเริ่มเดิมที เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยความดำริของพระครูมธุรสธรรมภาณี (รส คนฺธรโส) เจ้าอาวาสวัดหนองม่วงไข่ พร้อมกับคณะศรัทธามีความต้องการที่จะสร้างกุฏิสงฆ์ให้เป็นที่พำนักของพระภิกษุ สามเณร ดังนั้นทางคณะศรัทธาจึงได้ร่วมมือกันสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น มีการปรับปรุงรูปแบบตัวอาคารเดิมจากศิลปะทรงผสม ให้เป็นศิลปะ ทรงปั้นหยา อย่างโดดเด่น จนแล้วเสร็จในวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ รวมระยะเวลาในการก่อสร้าง ๑ ปี สิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ๑,๘๙๐,๐๐๐ บาท
เมื่อพระครูสุตพัฒนกิตติ์ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองม่วงไข่ เห็นว่าโฮงหลวงได้ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก จึงประชุมคณะกรรมการวัดหนองม่วงไข่เพื่อหาแนวทางในการจัดการ ในที่ประชุมมีมติให้ทำการบูรณะเพื่ออนุรักษณ์ให้เป็นสมบัติของวัดและพระพุทธศาสนาสืบไป
หลวงพ่อแสนล้าน
พระครูสุตพัฒนกิตติ์ (กิตติศักดิ์ กิตฺติวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดหนองม่วงไข่ มีความประสงค์อยากได้พระพุทธรูปที่มีความสำคัญมาประดิษฐานเป็นพระประธานประจำ ณ โฮงหลวง เพื่อให้ศรัทธาสาธุชนได้กราบไหว้สักการะบูชา ดังนั้น ท่านจึงได้ติดต่อกับโณงหล่อกุลวัฒนา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ทำการปั้นหุ่นและหล่อพระพุทธรูปขึ้น หล่อที่โรงงานกุลวัฒนา เสร็จเมื่อวันพุทธ ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑ เวลา ๑๖.๐๙ น. หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ศิลปะเชียงแสนสิงห์ ๑ ขนาดหน้าตัก ๒๕ นิ้ว จำนวน ๑ องค์ ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท และได้ทำพิธีอบรมสมโภชเบิกพระเนตร ในวันมาฆบูชา ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
ขบวนการเสรีไทยหนองม่วงไข่
บุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อขบวนเสรีไทยสายหนองม่วงไข่ คือ ขุนม่วงไข่ขจร ซึ่งเป็นกำนันตำบลหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ท่านวางนโยบายจัดทำแหล่งน้ำ การเกณฑ์แรงงานชาวบ้านและการจัดสรรที่ดินในการทำการเกษตรมากน้อยตามแรงงานของแต่ละคน กำนันผู้ทรงอิทธิพลผู้นี้มีลักษณะและบุคลิกที่น่ายำเกรงเป็นนักปกครองที่จัดระเบียบสังคมได้ดีเยี่ยม ชาวบ้านที่มีนิสัยลักเล็กขโมยน้อยจะถูกลงโทษหนักเบาตามโทษที่ตนได้กระทำ บ้านหนองม่วงไข่จึงเป็นหมู่บ้านที่ประชากรมีอาชีพกันทั่วหน้า มีกฎระเบียบ มีความรักสามัคคี เมื่อนายทอง กันทาธรรม นำเรื่องขบวนการเสรีไทยมาปรึกษากับขุนม่วงไข่ขจรก็ได้รับการสนองตอบจากชาวบ้านหนองม่วงไข่อย่างเต็มที่ ทำให้ขบวนการเสรีไทยแพร่ มีประสิทธิภาพ พัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว บ้านของขุนม่วงไข่ขจรจึงกลายเป็นคลังอาวุธชองขบวนการเสรีไทยที่ใหญ่ที่สุด ประชาชนชาวบ้านหนองม่วงไข่ได้ร่วมขบวนการเสรีไทยโดยความสมัครใจด้วยความรักชาติเป็นอย่างยิ่ง ไม่ต้องการลาภ ยศ บรรดาศักดิ์ หรือรางวัลอื่นใดตอบแทน
ดังนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า ขบวนการเสรีไทยหนองม่วงไข่ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้พ่ายสงคราม ในอดีตบรรพบุรุษของหนองม่วงไข่ ได้ประกาศศักดิ์ศรี เสียสละ สามัคคี ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว ฉะนั้น อนุชนรุ่นหลังควรภาคภูมิใจและควรแสดงความเคารพเทิดทูนบูชาในคุณงามความดีของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ให้ปรากฏดำรงอยู่คู่กับแผ่นดินตราบนานเท่านาน
ประวัติพระครูสุตพัฒนกิตติ์
พระครูสุตพัฒนกิตติ์ (กิตติศักดิ์ กิตฺติวฑฺฒโน, ช่างทอง)
วิทยฐานะ ป.ธ.๔, น.ธ.เอก, พธ.บ., พธ.ม.
เกิด วันพุธที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ตรงกับ วันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ (เดือน ๗ เหนือ) ณ บ้านเลขที่ ๑๕๓ หมู่ ๔ ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน
บรรพชาและอุปสมบท
บรรพชาวันอาทิตย์ที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ณ วัดป่าเหมือด อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยมีพระครูอดุลโชติวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอปัว เจ้าอาวาสวัดปรางค์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบทวันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ณ พัทธสีมาวัดป่าเหมือด อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยมีพระครูอดุลโชติวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอปัว เจ้าอาวาสวัดปรางค์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุภัทรนันทคุณ เจ้าคณะตำบลศิลาเพชร เจ้าอาวาสวัดป่าเหมือด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูสุทินนันทธรรม เจ้าคณะอำเภอบ่อเกลือ เจ้าอาวาสวัดภูเก็ต เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ตำแหน่งการปกครอง
พ.ศ. ๒๕๕๕ เจ้าอาวาส (ตราตั้งเลขที่ ๗ / ๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕)
พ.ศ. ๒๕๖๑ เจ้าคณะตำบล (ตราตั้งเลขที่ ๐๐๐๒ / ๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑)
พ.ศ. ๒๕๖๒ พระอุปัชฌาย์ (ตราตั้งเลขที่ ๓๗ / ๒๕๙๒ ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒)
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๔๒ เปรียญธรรม ๓ ประโยค (สามเณรเปรียญ)
พ.ศ. ๒๕๔๗ พระครูวินัยธรกิตติศักดิ์ พระฐานานุกรมพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ ของพระมหาโพธิวงศาจารย์ (สุจี กตสารมหาเถร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ เจ้าอาวาสวัดพระบาสมิ่งเมืองวรวิหาร จังหวัดแพร่
พ.ศ. ๒๕๕๑ เปรียญธรรม ๔ ประโยค (พระมหาเปรียญ)
พ.ศ. ๒๕๕๙ พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นเอก ในราชทินนามที่ พระครูสุตพัฒนกิตติ์
พ.ศ. ๒๕๖๑ ปรับสมณศักดิ์พัดยศให้ตรงตามตำแหน่งเป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นโท



