ตำบลกุดเมืองฮาม อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ

Wat Ban Kaeng Kut Mueang Ham Subdistrict, Yang Chum Noi District, Sisaket Province

ความเป็นมา

ตามตำนานเล่าว่า พ่อค้าสำเภา และหลวงพ่อสิงหล อมโล เป็นผู้ก่อตั้งวัดขึ้น และตั้งชื่อว่า วัดท่าสำเภา ขณะนั้นหลวงพ่อสิงหลได้ประชุมชาวบ้านเพื่อสร้างพระพุทธรูปโดยใช้ดินเหนียว เมื่อวัดมีความเจริญ ก็มีพระเดินธุดงค์และมีพระเข้ามาบวชมากมาย ชาวบ้านได้ขยับขยายออกไปตั้งบ้านเรือนจนเกิดความแออัด หลายปีต่อมา พระสะหวัน เดินธุดงค์มาจากประเทศลาว ได้มาอาศัยอยู่ที่วัดแห่งนี้ ท่านได้ขออนุญาตหลวงพ่อสิงหลสร้างกุฏิใหม่ด้านทิศเหนือเพื่อลดความแออัด เมื่อพระสะหวันย้ายมาอยู่ที่แห่งใหม่ ก็มีชาวบ้านติดตามมาสร้างบ้านเรือนอยู่ด้วย สามเณรที่ติดตามพระสิงหล ชื่อ สามเณรอินเขียน เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทเป็นภิกษุ ชื่อ พระอินเขียน ภารโณ ต่อมาเมื่อหลวงพ่อสิงหล อมโล มรณภาพลง พระสงฆ์และชาวบ้านก็แยกกันไปสร้างบ้านเรือน ส่วนใหญ่ไปตั้งบ้านเรือนบริเวณที่พำนักพระสะหวัน ปล่อยให้วัดท่าสำเภาและหมู่บ้านสะเภาทองร้างไป จนกระทั่งสถานที่แห่งใหม่นี้เกิดความแออัด ชาวบ้านจึงประชุมกัน ย้ายกุฏิมาสร้างที่ริมหนองสังเม็ก และมีการบูรณะวัดและพัฒนาหมู่บ้านเรื่อยมา ต่อมาพ่อจุมพล ซึ่งอพยพมาจากบ้านสะเภาทองได้ประชุมชาวบ้าน และตั้งชื่อว่า บ้านแก้ง และ วัดบ้านแก้ง 

ขณะนั้นวัดบ้านแก้งและหมู่บ้านแก้งมีความเจริญมาก พระสะหวันได้นำพาชาวบ้านก่อสร้างสิม หรือ โบสถ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมของพระภิกษุ พระสะหวันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านแก้งองค์แรก เมื่อท่านมรณภาพลง พระเถระได้แต่งตั้งพระอินเขียน ภารโณ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ต่อมา ภายหลังพระอินเขียนมรณภาพ พระในวัดได้ทำหน้าที่ปกครองพระลูกวัดสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน วัดบ้านแก้งไม่ขาดพระสงฆ์และสามเณรจำพรรษา เนื่องจากหลวงปู่พระครูศิริธรรมประยุต เจ้าอาวาสวัดกุดเมืองฮามสมัยนั้นส่งพระภิกษุและสามเณรมาจำพรรษามิได้ขาด หลายปีต่อมา หลวงปู่พระครูศิริธรรมประยุตได้มอบหมายให้พระครูอดุลกิจ โกศล ที่พำนักอยู่วัดกุดเมืองฮาม มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านแก้ง ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านแก้ง ท่านได้นำพาชาวบ้านพัฒนาวัดและหมู่บ้านมิได้ขาด ต่อมาเมื่อพระครูอดุลกิจ โกศล ย้ายไปจำพรรษาที่วัดหนองหอยใหญ่ คณะสงฆ์จึงมีมติแต่งตั้งพระครูสุคนธ์รัตนสาร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านแก้ง เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘

รายนามเจ้าอาวาส ดังนี้

๑. พระสะหวัน

๒. พระอินเขียน ภารโณ

๓. พระครูอดุลกิจ โกศล (ทรัพย์ สีลวณฺโณ, อุตมะ) เป็นเจ้าอาวาสที่ถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคม (เจ้าอาวาสวัดบ้านแก้งองค์แรก)

๕. พระครูสุคนธ์รัตนสาร (จำปี ติสาโร, ศรีจันทร์) เป็นเจ้าอาวาสที่ถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคม (เจ้าอาวาสวัดบ้านแก้งองค์ที่สอง)