ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่
Wat Khum Khrong Tham Ban Klang Subdistrict, Song District, Phrae Province
ความเป็นมา
วัดคุ้มครองธรรม ตั้งอยู่เลขที่ ๗๐ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย มีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๓๐ ตารางวา สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๕ (ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๔ อายุวัดรวม ๒๘๙ ปี) ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๖ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
ตามตำนานเล่าขานว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๒๕๐ – ๒๒๗๐ มีเจ้าเมืองแพร่พระองค์หนึ่ง (ไม่สามารถระบุพระนามได้) เสด็จมายังเมืองสองบริเวณแม่น้ำกาหลง (แม่น้ำสอง) เพื่อทำการคล้องช้าง เนื่องจากพื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และสัตว์ป่านานาพันธุ์ โดยเฉพาะช้างป่า เจ้าเมืองแพร่ได้เกณฑ์ไพร่พลสร้างที่ประทับ (คุ้มเจ้า) ด้วยไม้สักทั้งหลังโดยการใช้ช้างชักลากไม้สัก กาลต่อมา ณ บริเวณดังกล่าวเริ่มมีชาวบ้านมาจับจองพื้นที่ทำมาหากินและสร้างที่อยู่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม โดยเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านคุ้ม เพราะหมู่บ้านตั้งอยู่รอบ ๆ บริเวณคุ้มเจ้าหลวง และได้สร้างศาลขึ้นหนึ่งหลัง ชื่อว่า ศาลเจ้าพ่อเลี้ยงกุมภัณฑ์ เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ปัจจุบันศาลดังกล่าวอยู่บริเวณลานปฏิบัติธรรม ต่อมาปี พ.ศ. ๒๒๗๕ ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงร่วมแรงร่วมใจสร้างวัดขึ้นมา ชื่อว่า วัดคุ้ม โดยสร้างวิหารจำนวน ๑ หลัง เพื่อให้พระภิกษุได้ทำพิธีสังฆกรรม ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ พระสมุห์อาจเจ้าอาวาสในเวลานั้นได้ขนานนามวัดใหม่เป็น วัดคุ้มครองธรรม ปัจจุบัน พระครูมงคลธรรมรักษ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคุ้มครองธรรม
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด
พระพุทธคุ้มมงคลศิริ เป็นพระประธานในอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร สูง ๔ เมตร ๙๖ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๓ เมตร ๖๖ เซนติเมตร องค์พระพุทธรูปมีความสวยงาม พระพักตร์มีลักษณะคล้ายพระเจ้าตนเอี้ยง แห่งเมืองพะเยา (พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ) และมีพระสาวกสององค์ (ด้านขวาพระสารีบุตร และด้านซ้ายพระโมคลานะ) ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ทางวัดได้ขอประทานนามพระประธานในอุโบสถ ต่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก และได้รับประทานนามว่า พระพุทธคุ้มมงคลศิริ
พระเจ้าทันใจพุทธชยันตีสี่มุมเมือง
การจัดสร้างพระเจ้าทันใจนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง สมโภชพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ในขณะนั้น คือ นายเกษม วัฒนธรรม มีนโยบายให้สร้างพระเจ้าทันใจขึ้นในสี่มุมเมืองของจังหวัดแพร่ เรียกว่า พุทธชยันตีสี่มุมเมือง ซึ่งทางทิศเหนือคณะสงฆ์จังหวัดแพร่มีมติให้สร้างที่วัดคุ้มครองธรรมในวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ใต้ เดือน ๙ เหนือ ตรงกับวันพุธที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
ต้นโพธิ์วัดคุ้มครองธรรม
ในอดีตภายในวัดคุ้มครองธรรมมีต้นโพธิ์อยู่ใกล้กันสองต้น คาดว่าน่าจะปลูกพร้อม ๆ กับการสร้างวัด ต่อมาราวปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ต้นโพธิ์ตายลงไปหนึ่งต้น ปัจจุบันต้นโพธิ์ที่เหลือนี้มีเส้นรอบวง ๑๔ เมตร มีความสูง ๒๕ เมตร
ประเพณีที่สำคัญของวัดคุ้มครองธรรม
ประเพณีแห่ไม้ง่ามค้ำศรีมหาโพธิ์
ต้นโพธิ์ตามตำนานเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ ประจำศาสนาพุทธ และตามความเชื่อมาแต่โบราณกาล จะมีประเพณีนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ เพื่อค้ำบ้าน ค้ำเมือง ค้ำพระพุทธศาสนา ตามวัดที่มีต้นโพธิ์ใหญ่ ๆ จากแนวคิดนี้ คุณครูสวัสดิ์ สังเวียนวงศ์ จึงได้นำเรื่องนี้มาปรึกษากับ พระครูมงคลธรรมรักษ์ ว่าน่าจะทำไม้ง่ามค้ำต้นศรีมหาโพธิ์จำนวน ๓ ต้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีของพุทธศาสนิกชนทั้ง ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านคุ้ม หมู่ที่ ๒ (นายเฉลิม ปลาลาศ ผู้ใหญ่บ้าน) บ้านต้นผึ้ง หมู่ ๑๑ (นายสมคิด บุญยืน กำนัน) และบ้านหล่าย หมู่ที่ ๑๒ (นายสว่าง พวงพยุง ผู้ใหญ่บ้าน) เพราะเป็นคณะศรัทธาวัดเดียวกัน ทางวัดจึงได้กำหนดทำพิธียกไม้ง่ามค้ำศรีมหาโพธิ์ขึ้นในวันอาทิตย์ ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยมีนายอนุวัช วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธียกไม้ง่ามค้ำศรีต้นมหามงคลรวมพลังสามัคคี ทั้ง ๓ หมู่บ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของอำเภอสองตั้งแต่นั้นมา และวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ นายนิพนธิ์ นางไฉน คำชื่น พ.ท. ดำรงค์ ส.อ. หญิงวิรัช กุลเศรษฐ์พร้อมครอบครัว ได้ถวายพระสิงห์ ประดิษฐาน ณ ต้นโพธิ์วัดคุ้มครองธรรม และการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ ได้บรรจุเข้าปฏิทินการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้นมา
ประเพณี ๙ เป็ง
ประเพณี ๙ เป็งเป็นประเพณีส่งเสริมและสืบสานวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของไทย เพื่อให้ชุมชนมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมและแสดงพลังความสามัคคี ยึดถือปฏิบัติและยึดมั่นในประเพณีดั้งเดิมของไทยที่เคยปฏิบัติมาให้เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานภายหน้าสืบไป เนื่องจากวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (เก้าเป็ง) ซึ่งเป็นวันที่ทางวัดจัดเป็นประเพณีของทางวัดและของหมู่บ้านเป็นประจำทุกปีโดยจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์สืบชะตาของพระสงฆ์และคณะศรัทธา มีการสวดเบิกเพื่อเป็นสิริมงคลตามประเพณีโบราณ