ตำบลย่อ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
Wat Yang Talat
Yo Subdistrict, Kham Khuan Kaeo District, Yasothon Province























ความเป็นมา
จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้เล่าสืบขานกันมาว่า เดิม บ้านย่อ เรียกว่า บ้านเผ่าญ้อ สืบเนื่องมากจาก ก่อนปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ชนเผ่าญ้อ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดลำปาง และ ชนเผ่ากุลา อาศัยอยู่ในเขตเมืองหงสาวดี ประเทศพม่า อพยพเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อหาแหล่งที่อยู่ใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ จนมาถึงพื้นที่อีสานตอนล่าง และพบ ดงลำขวง ซึ่งเป็นดงขนาดใหญ่ มีสัตว์ป่ามากมาย และมีดินน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก ชนเผ่าทั้งสองจึงได้สร้างหลักปักฐานอยู่ที่ดงลำขวงแห่งนี้ และเนื่องจากชนเผ่าญ้อมีจำนวนมากกว่าชนเผ่ากุลา ทำให้คนในหมู่บ้านใกล้เคียงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ใหม่ว่า บ้านเผ่าญ้อ มีผู้คนเรียกคำว่า ญ้อ เพี้ยนจนกลายเป็นคำว่า ย่อ จึงเรียกว่า บ้านย่อ
ต่อมามีผู้นำเอาหลักคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ ชาวบ้านมีจิตศรัทธา จึงได้สร้างวัดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๑๐ มีหลักฐานปรากฏเป็นสิมโบราณ ที่ธรณีสงฆ์ ใกล้กับศูนย์เด็กเล็กในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ศาสนสถานที่แต่เดิมทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ชาวบ้านได้ย้ายมาสร้างอุโบสถถัดเข้ามาทางทิศตะวันตก (ที่ตั้งวัดปัจจุบัน) ของสถานที่เดิม และค้นพบพระพุทธรูป (พระเจ้าใหญ่) เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร สร้างจากดินโป่ง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทางไปทำการค้าทางน้ำ (บ้านสิงห์ท่า) ในสมัยนั้น ประดิษฐานอยู่ที่โล่งแจ้ง ชาวบ้านได้บรูณะให้ใหญ่ขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันสร้างพระอุโบสถครอบพระพุทธรูปไว้







ในอดีตชื่อว่า วัดญ้อ และวัดบ้านย่อใต้ มาตามลำดับ เนื่องด้วยสภาพที่ตรงข้ามวัดมีต้นยางเป็นจำนวนมากและเป็นที่ทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวบ้าน จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ให้สอดคล้องกับสถานที่ว่า วัดยางตลาด ปัจจุบันวัดยางตลาดเป็นสำนักศาสนศึกษาประจำอำเภอคำเขื่อนแก้ว ในแต่ละปีมีพระภิกษุสามเณรมาเข้ารับการศึกษาเล่าเรียน นักธรรม-บาลี ไม่ต่ำกว่า ๓๐ รูป


การศึกษาภายในวัด
เปิดสอนแผนกนักธรรม ตรี – เอก และแผนกบาลี
ปูชนียสถานและเสนาสนะภายในวัดประกอบไปด้วย
๑. พระประธานในวัด พระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร
๒. พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร
๓. รูปเหมือนหลวงปู่ดาว มีขนาดเท่าองค์จริง หล่อด้วยทองเหลือง
๔. เจดีย์อัฐิพระอุปัชฌาย์ลอด (พระอุปัชฌาย์รูปแรกของวัด)
๕. พระอุโบสถหลังปัจจุบัน สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙
๖. ศาลาการเปรียญ ปัจจุบันเป็นหลังที่ ๓
๗. กุฏิสงฆ์ ๑๔ หลัง
๘. ศาลาบำเพ็ญกุศล ๑ หลัง
๙. ศาลาบูชาคุณ ๑ หลัง
๑๐. หอระฆัง ๑ หลัง
๑๑. ฌาปนสถาน ๑ หลัง





รายนามเจ้าอาวาส เท่าที่ทราบตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นต้นมา มีดังนี้
๑. พระอุปัชฌาย์ลอด มีหลักฐานเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านให้เห็นจนทุกวันนี้
๒. หลวงปู่เม้ม
๓. พระอธิการบุญ
๔. พระอธิการจวง
๕. พระอธิการจันทรังษี
๖. พระอธิการบัว
๗. พระครูสุจิตธรรมรัต (หลวงปู่ดาว สุจิตฺโต)
๘. พระอธิการจันทร์ จารุวัณฺโณ
๙. พระอธิการเหรียญ สีลธโร
๑๐. พระมหาวิมล อัพฺภาทโร
๑๑. พระครูเมธีธรรมบัณฑิต เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

ประวัติพระครูเมธีธรรมบัณฑิต จิรศักดิ์ จิรปุญฺโญ (ทองหอม)
พระครูเมธีธรรมบัณฑิต ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยางตลาด รองเจ้าคณะอำเภอคำเขื่อนแก้ว ฝ่ายการศึกษา (มหานิกาย) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ และได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในฐานานุศักดิ์ที่ พระครูเมธีธรรมบัณฑิต ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗
อุปสมบท
อุปสมมบทเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ณ วัดบกน้อย บ้านบกน้อย ตำบลดงแคนใหญ่ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร โดยมีพระครูวิสณฑ์ธรรมาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า จิรปุญฺโญ







