ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
Wat Ubmung Khemmarat Subdistrict, Khemmarat District, Ubon Ratchathani Province
ความเป็นมา
วัดอูบมุง ตามที่มีการบันทึกไว้นั้น เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา ตั้งเมื่อ พ.ศ.2303 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2535 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร
แต่ก่อนยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๓๔๙ มีท้าวศรีจันทร์ ศรีสุราช เป็นชาวอำเภอเขมราฐได้อพยพมาพร้อมกับพรรคพวกจำนวนหนึ่งมาตั้งแหล่งทำมาหากินในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านอูบมุงแห่งนี้ และในครั้งนั้นมีการค้นพบพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในป่ารกชั้นประดิษฐานอยู่ในวัดร้างเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกและมีอูบมุงก่อด้วยอิฐครอบองค์พระเอาไว้ ส่วนองค์พระมีปลวกขึ้นพอกจนถึงพระอุระและเรียกว่า“ อูบมุง” ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะมาจากคำว่า สถูป หรือ อูบ จึงได้พากันเรียกว่าพระอูบมุง หรือพระเจ้าใหญ่อูบมุงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และท้าวศรีจันทร์ ศรีสุรา พร้อมด้วยคณะได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นมาชื่อว่า บ้านอูบมุง โดยเรียกตามชื่อพระพุทธรูปที่ค้นพบสืบมาจนทุกวันนี้ ด้วยความเชื่อและความศรัทธาของชาวบ้านซึ้งมีความเคารพสักการะในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ จึงเรียกได้ว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอเขมราฐอีกองค์ ซึ่งคู่กับพระเจ้าใหญ่องค์แสนที่ประดิษฐานที่วัดโพธิ์เขมราช และมีความเชื่อกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปบูรณะวัดร้างแห่งนี้ ใครจะมาทำอะไรไม่ได้โดยเด็ดขาด ถ้าไม่เชื่อและขืนทำไปก็จะมีอันเป็นไปในทางที่ไม่ดีอย่างแน่นอน ดังนั้นวัดร้างแห่งนี้จึงถูกปล่อยทิ้งไว้เรื่อยมาจนถึงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้มีพระธุดงค์องค์หนึ่งมาพบแสะพำนักในวัดพระเจ้าใหญ่อูบมุงและได้บำเพ็ญเพียรภาวนา พระธุดงค์รูปนี้ชื่อว่าพระอาจารย์บุญมา เป็นชาวเวียงจันทร์ พระรูปนี้มีญาติโยมให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ต่อมาพระอาจารย์บุญมา ได้พาชาวบ้านบูรณะวัดร้างแห่งนี้ให้เป็นวัดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีการยกแท่นพระเจ้าใหญ่แล้วซ่อมแซมอุโมงค์ ครอบองค์พระขึ้นมาใหม่เป็นรูปสถูปเจดีย์เสร็จเรียบร้อย จากนั้นเป็นต้นมามีคนรู้จักและให้ความเคารพศรัทธาพระเจ้าใหญ่อูบมุงเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเลื่อมใสศรัทธากันว่า พระเจ้าใหญ่อูบมุงเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งในท้องถิ่นนี้
อาณาเขต ทิศเหนือ จดทุ่งนา
ทิศใต้ จดทุ่งนา
ทิศตะวันออก จดถนนสาธารณะ
ทิศตะวันตก จดทุ่งนา
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย
อุโบสถกว้าง 12 เมตร ยาว 21 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514
กุฏิสงฆ์ จํานวน 2 หลัง เป็นอาคารไม้และครึ่งตึกครึ่งไม้
ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 8 เมตร ยาว 8 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536
ศาลาบําเพ็ญกุศลจํานวน 1 หลัง สร้างด้วยไม้