ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
Wat Kham Khuean Kaew Kham Khuean Kaew Subdistrict, Sirindhorn District, Ubon Ratchathani Province

ประวัติความเป็นมา 

ตั้งอยู่  บ้านเลขที่ ๑๒๑  หมู่ที่ ๑ บ้านคำเขื่อนแก้ว  ตำบลคำเขื่อนแก้ว  อำเภอสิรินธร  จังหวัดอุบลราชธานี  มีที่ดินตั้งวัด  จำนวน  ๒๑  ไร่   ได้มาโดยการบริจาคร่วมกันของญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย

ได้เริ่มสร้างวัด   เมื่อราวปีพุทธศักราช  ๒๕๒๔  ด้วยศรัทธาของชาวบ้าน

ประมาณ  พ.ศ.  ๒๕๑๓  ญาติโยมชาวบ้าน  ได้ย้ายมาจากบ้านฝางเทิง  บ้านคำก้อม  บ้านนกเต็น  ตำบลโนนกลาง  อำเภอพิบูลมังสาหาร  (ปัจจุบัน อ.สิรินธร) เพราะรัฐบาลได้เวนคืนที่ดินบางส่วน   เพื่อสร้างเขื่อนสิรินธร   และชาวบ้านจากสถานที่ต่าง ๆ  โดยได้รับความช่วยเหลือจากกรมประชาสงเคราะห์นิคมสร้างตนเอง  ได้จัดสรรที่ดินให้ครอบครัวที่ย้ายมาครั้งแรก  ๔๕  ครอบครัว ๆ  ละ ๑๕  ไร่  ในขณะนั้น  เรียกพื้น ที่หมู่บ้านว่า  ผัง ๒  ผัง ๓  ผัง ๔  และรวมอยู่กับบ้านห้วยไฮ  หมู่ ๖  ตำบลโขงเจียม  อำเภอโขงเจียม  ต่อมาในปี  พ.ศ.  ๒๕๓๙  ได้ย้ายมาขึ้นกับบ้านโนนสมบูรณ์  หมู่ ๓  ตำบลคำเขื่อนแก้ว  อำเภอโขงเจียม  (ปัจจุบัน เป็นอำเภอสิรินธร  ทั้งหมด)

ได้รับหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดจากกรมการศาสนา โดยความเห็นชอบของกระทรวง-ศึกษาธิการ   วันที่  ๒๐  มกราคม  ๒๕๓๘

กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา  วันที่  ๒๑  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๑

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  วันที่  ๒๔  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๘

เจ้าอาวาสตั้งแต่อดีต – ปัจจุบัน

๑.  พระอธิการณัฐพล  อุชุโต   พ.ศ.  ๒๕๔๔ – ๒๕๔๙

๒. พระมหาบุญเฮ็ง  ปญฺญาสิริ  พ.ศ.  ๒๕๔๙ – ปัจจุบัน

ขณะที่ยังไม่ได้รับการตั้งเป็นวัด มีพระภิกษุผู้ปกครองวัด  ในฐานะเป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์บ้าง  มาพักอยู่ชั่วคราว  เพื่อฉลองศรัทธาญาติโยมบ้าง

ปูชนียวัตถุและสิ่งสำคัญภายในวัด

๑.  พระพุทธสิริชินราช  พระประธานในอุโบสถจตุรมุข

๒.  ไม้กลายเป็นหิน อายุ  ๕๐๐  ปี

๓.  พระบรมสารีริกธาตุ  ๓  องค์

พระบรมสารีริกธาตุ 
พระพุทธสิริชินราช พระประธานในอุโบสถจตุรมุข
พระประธานประจำศาลาการเปรียญ

เสนาสนะภายในวัด

๑.  อุโบสถจตุรมุข

๒. ศาลาการเปรียญ 

๓. ศาลาหอฉัน

๔. อาคารเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี – ธรรม

๕. กุฎีรับรองพระเถระ  ๑  หลัง

๖. กุฎีรับรองอาคันตุกะ  ๑  หลัง

 ๗. กุฎีกรรมฐาน  ๗  หลัง

๘. กุฎีใหญ่  ๑  หลัง

๙.  หอระฆัง

๑๐.  โรงครัว 

๑๑. ศาลาบำเพ็ญกุศล  ๒  หลัง

๑๒. เมรุ  (กำลังดำเนินการสร้างเมรุปลอดมลพิษ) 

๑๓.  ห้องน้ำญาติโยม   จำนวน  ๓  หลัง   ๑๖  ห้อง

๑๔. ห้องน้ำพระภิกษุ-สามเณร  จำนวน   ๔  หลัง   ๑๐  ห้อง

อุโบสถจตุรมุข
ศาลาการเปรียญ
หอระฆัง
กุฏิรับรองอาคันตุกะ

ผลงานการศาสนศึกษา

          วัดคำเขื่อนแก้ว  เป็นวัดที่เน้นการสร้างบุคลากรทางพระพุทธศาสนาได้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม  แผนกบาลี – แผนกนักธรรม  โดยตรง มีการเรียนการสอน  พระปริยัติธรรม  ๒  แห่ง   คือ 

     ๑. วัดคำเขื่อนแก้ว 

     ๒. สำนักศึกษาและปฏิบัติธรรมดอนธรรมะประดิษฐ์เจดีย์ศรีมูล  (ดอนตาดไฮ)

ซึ่งตั้งอยู่เกาะกลางแม่น้ำมูล  บ้านปากบุ่ง   ต.คันไร่ มี พระมหานพพร  จารุธมฺโม  ป.ธ. ๗  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส  เป็นผู้ปกครองดูแล

          วัดคำเขื่อนแก้ว  สนับสนุนให้พระภิกษุ-สามเณร  เรียนในระบบโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญ และระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเพิ่มพูนวิทยฐานะ  เสริมทักษะความรู้ทางวิชาการ  เป็นประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ในอนาคต 

          พ.ศ. ๒๕๖๖  สำนักศาสนศึกษาวัดคำเขื่อนแก้ว  สอบบาลีสนามหลวงได้  จำนวน  ๙  รูป   หนึ่งในจำนวนนั้น   สอบได้ประโยค ป.ธ.๙     ขณะเป็นสามเณร  คือ  สามเณรธีรพงษ์  หาโคตร  และต่อมาได้บวชเป็นนาคหลวง  ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร  โดยมี  สมเด็จพระพุฒาจารย์  วัดไตรมิตรวิทยาราม  เป็นพระอุปัชฌาย์  พระพรหมเสนาบดี    วัดปทุมคงคา   เป็นพระกรรมวาจาจารย์   พระธรรมราชานุวัตร  วัดโมลีโลกยาราม  เป็นพระอนุสาวนาจารย์   ได้รับฉายาว่า  “ธีรเมธี”

การรับสมัครกุลบุตรเข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม  เริ่มรับสมัครเดือนเมษายน  ของทุกปี  รับผู้ที่จบประถมศึกษาปีที่ ๖  อายุ  ๑๒-๑๓-๑๔  ปี  หรือกุลบุตรผู้มีอายุมากกว่านั้น  ต้องมีความตั้งใจที่จะศึกษาเล่าเรียนจริง 

          บวชฟรี  เรียนฟรี   มีทุนสนับสนุน    และผู้ที่ประสงค์จะเรียนในชั้นสูงขึ้นไป  วัดก็สนับสนุนส่งเสริมและมีทุนการศึกษาให้ ซึ่งมีผลงานการผลิตบุคลากรร่วมกันของสถาน ศึกษาทั้งสองแห่ง  ดังนี้

พระปริยัติธรรมแผนกบาลี

ตั้งแต่  ปี  พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๖๗

  • ประโยค  ๑-๒ สอบได้ทั้งหมด รวม ๑๐๕ รูป
  • ประโยค  ป.ธ. ๓  สอบได้ทั้งหมด รวม  ๕๙  รูป
  • ประโยค  ป.ธ. ๔  สอบได้ทั้งหมด รวม  ๒๓  รูป
  • ประโยค  ป.ธ. ๕  สอบได้ทั้งหมด รวม  ๑๑ รูป
  • ประโยค  ป.ธ. ๖  สอบได้ทั้งหมด รวม  ๖  รูป
  • ประโยค  ป.ธ. ๗  สอบได้ทั้งหมด รวม  ๕  รูป
  • ประโยค  ป.ธ. ๘  สอบได้ทั้งหมด รวม  ๒ รูป
  • ประโยค  ป.ธ. ๙  สอบได้ทั้งหมด รวม  ๑ รูป

สอบได้รวมทั้งหมด  ๒๑๒  รูป

พระปริยัติธรรม  แผนกนักธรรม

ตั้งแต่  ปี  พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๖๖

  • นักธรรมตรี  สอบได้ทั้งหมด  รวม  ๒๓๗  รูป
  • นักธรรมโท  สอบได้ทั้งหมด รวม  ๑๔๕  รูป
  • นักธรรมเอก  สอบได้ทั้งหมด  รวม  ๘๐  รูป   

สอบได้รวมทั้งหมด  ๔๖๒  รูป

เป้าหมายการดำเนินงานของวัด

งานการสาธารณูปการ

๑. สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ให้แล้วเสร็จ

๒. สร้างอุโบสถจตุรมุขให้แล้วเสร็จ

๓. สร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรมถาวร  ๒  ชั้น

๔. สร้างกุฎี  ๒  ชั้น  จำนวน  ๑  หลัง

๕. สร้างลานปฏิบัติธรรม  และกุฎีกรรมฐาน  ๑๕  หลัง

๖. สร้างฌาปนสถาน  ให้เป็นเมรุปลอดมลพิษ

๗. ปรับภูมิทัศน์ภายในวัดให้เหมาะ  ฯลฯ

งานการปกครองและการศาสนศึกษา

๑. จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม  แผนกธรรม-บาลี  ให้เจริญยิ่งขึ้นไป

๒. จัดวัดให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน  และอบรมเยาวชน 

๓. จัดวัดให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในหมู่บ้าน  และเป็นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาระดับอำเภอ

ซุ้มประตูวัด