วัดเขียนบูรพาราม

ตั้งอยู่บ้านพราน หมู่ ๔

ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ


Wat Khian Burapharam

Huai Nuea Subdistrict, Khukhan District, Sisaket Province

วัดเขียนบูรพาราม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา ห่างจากที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ไปทางตะวันออก ๔๐๐ เมตร ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ ๔๙ กิโลเมตร

วัดเขียนบูรพาราม เดิมชื่อ “วัดเขมร” แต่คนทั่วไปนิยมเรียกวัดนี้ว่า “วัดเขียน” ซึ่งเป็นสำเนียงที่เพี้ยนไปจากคำว่า”เขมร” นั่นเอง เนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองขุขันธ์หรืออำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน เมื่อมีการตั้งชื่อวัดเป็นทางการจึงเปลี่ยนเป็น “วัดเขียนบูรพาราม” เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่โบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๓ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน คนที่ ๒ (เชียงขัน) พร้อมด้วยกรมการเมือง ได้นำราษฎรอพยพไปตั้งเมืองใหม่ ณ บริเวณที่ตั้งบ้านตะแบก บ้านพรานในปัจจุบันระหว่างที่ทำการถางป่าในบริเวณที่ตั้งวัดเขียนนั้น ก็ได้พบก้อนหินสีแดงโผล่ขึ้นบนจอมปลวก มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูป ท่านเจ้าเมืองจึงบัญชาการให้ราษฎรตกแต่งบริเวณ เสริมฐานแล้วสร้างเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่สวมทับลงบนจอมปลวกนั้น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีลักษณะงดงามเข้าใจว่าสร้างไว้กลางแจ้ง เป็นพระเจ้าใหญ่ประจำเมือง นิมนต์พระเณรมาอยู่แต่ยังคงไม่เรียบร้อยดีนัก ก็จัดการอพยพเมืองใหม่ไปตั้งอยู่ที่ บ้านแตระ-บ้านหาดในปัจจุบัน เนื่องจากที่เดิมห่างไกลแหล่งน้ำเกินไป ทำให้วัดพระเจ้าใหญ่เสื่อมโทรมและร้างไป

ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่ ๓ คือ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (บุญจันทร์) ได้จัดการซ่อมแซมบูรณะครั้งใหญ่ด้วยการก่ออิฐหุ้มองค์เดิม สร้างฐานให้สูงขึ้น ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า “หลวงพ่อโต” มาแต่บัดนั้นและเป็นการบูรณะครั้งแรก

วัดเขียนบูรพาราม มีโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถ มีลักษณะเป็นสิมอีสาน ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คือ “หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๓.๕๐ เมตร สูง ๖.๘๐ เมตร ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุของกรมศิลปากร โดยประกาศ ณ วันที่ ๒๒ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๗ ตอนที่ ๑๖ วันที่ ๒๕ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงพ่อโตนับเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่โตและศักดิ์สิทธิ์มากองค์หนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้มุมทั้งสี่ทิศรอบพระอุโบสถ มีพระเจดีย์ธาตุศิลปะแบบล้านช้างตั้งอยู่ทั้ง ๔ มุม แต่ปัจจุบันเหลือเพียง ๒ องค์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ส่วนอีก ๒ องค์ ด้านหลังพระอุโบสถ เหลือเพียงซากปรักหักพังเท่านั้น

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ – เดือน – พ.ศ. ๒๔๖๐ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร

การบริหารและการปกครอง

ชื่อวัด – วัดบูรพา มหาพุทธาราม(เขียน) – วัดบูรพาราม(เขียน) ปัจจุบัน “วัดเขียนบูรพาราม”

ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ไม่ปรากฏหลักฐานลำดับเจ้าอาวาส ช่วง พ.ศ. ๒๓๒๓ – ๒๔๔๘) ดังนี้
รูปที่ ๑ พระสมุห์กลิ่น พ.ศ. ๒๔๔๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔
รูปที่ ๒ พระใบฎีกายา พ.ศ. ๒๔๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗
รูปที่ ๓ พระอธิการเพ็ญ พ.ศ. ๒๔๕๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๕
รูปที่ ๔ พระใบฎีกาปิ่น พ.ศ. ๒๔๖๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๔
รูปที่ ๕ พระจุน พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖
รูปที่ ๖ พระปลัดท่อน ชาคโร พ.ศ. ๒๔๘๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๘
รูปที่ ๗ พระสมุห์เนตร สุวณฺณปญฺญา พ.ศ. ๒๔๘๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๘
รูปที่ ๘ พระประสาร สุภูโต พ.ศ. ๒๔๙๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๑
รูปที่ ๙ พระครูสุจิตรธรรมาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๐๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๗
รูปที่ ๑๐ พระพัดจนา อานนฺโท พ.ศ. ๒๕๒๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๐
รูปที่ ๑๑ พระสงัด วิสุทฺโธ พ.ศ. ๒๕๓๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๑
รูปที่ ๑๒ พระอธิการมนัส สุมงฺคโล พ.ศ. ๒๕๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๔
รูปที่ ๑๓ พระอธิการวิโรจน์ โชติปาโล พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙
รูปที่ ๑๔ พระครูบูรพาโพธิธรรม พ.ศ. ๒๕๕๐ ถึงปัจจุบัน

พระครูบูรพาโพธิธรรม เจ้าอาวาสวัดเขียนบูรพาราม

อาคารเสนาสนะ

  • อุโบสถ กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๑๘ เมตร เป็นสิมอีสาน สร้างเมื่อ พ.ศ. – บูรณะปี พ.ศ. ๒๕๔๕
  • ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘
  • กุฏิสงฆ์ จำนวน ๕ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน ๒ หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน ๓ หลัง
  • ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตร เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐
  • ศาลาบำเพ็ญกุศล กว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๖ เมตร อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐
  • ศาลาปฏิบัติธรรม จำนวน ๒ หลัง (ถือศีลอุโบสถมาปฏิบัติธรรมพัก)
    นอกจากนี้มีอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ดังนี้ ฌาปนสถาน จำนวน ๑ หลัง หอระฆัง จำนวน ๑ หลัง โรงครัว จำนวน ๑ หลัง เรือนเก็บพัสดุ จำนวน ๑ หลัง

ปูชนียวัตถุ

  • พระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๓๘ นิ้ว/เมตร สูง ๒๖๘ นิ้ว/เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. –
  • พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก กว้าง ๓๖ นิ้ว/เมตร สูง ๕๙ นิ้ว/เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘
    ปูชนียวัตถุอื่น ๆ มีเจดีย์ธาตุโบราณ จำนวน ๓ องค์

ที่ธรณีสงฆ์

จำนวน ๒ แปลง แปลงที่ ๑ มีเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา โฉนดที่ดิน เลขที่ ๖๐๔๙๓ แปลงที่ ๒ มีเนื้อที่ ๓๘ ไร่ น.ส.๓ ข เลขที่ ๓๒๙

ที่ดินที่ตั้งวัด

เนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๒ งาน ๖๔ ตารางวา โฉนดที่ดิน เลขที่ ๖๐๔๙๔

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ จดถนนสาธารณะ
  • ทิศใต้ จดทางหลวงชนบท (เมืองขุขันธ์ – บ้านสำโรงพลัน)
  • ทิศตะวันออก จดโรงเรียนวัดเขียน (นส.๓ เลขที่ ๒๓๙)
  • ทิศตะวันตก จดถนนสาธารณะ