ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี
Wat Phra To Phalan Subdistrict, Natal District, Ubon Ratchathani Province

ประวัติความเป็นมา
วัดพระโต ตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีอาณาเขต ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกจดหมู่บ้าน และทิศตะวันออกจดแม่น้ำโขง อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ วิหารกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๒ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙

วัดพระโต ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ ๑ พระโกษ รูปที่ ๒ พระพรม รูปที่ ๓ พระโก่ม รูปที่ ๔ พระโนม รูปที่ ๕ พระหลักคำ รูปที่ ๖ พระสอน รูปที่ ๘ พระมิ่ง รูปที่ ๙ พระอิ้ง รูปที่ ๑๐ พระกุ รูปที่ ๑๑ พระคำมา รูปที่ ๑๒ พระสิม รูปที่ ๑๓ พระยัง รูปที่ ๑๔ พระครูพุทธวราภิบาล รูปที่ ๑๕ เจ้าอธิการทองคำ ยสโชโต

วัดพระโต ตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีอาณาเขต ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกจดหมู่บ้าน และทิศตะวันออกจดแม่น้ำโขง อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ วิหารกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดพระโต
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยอิฐผสมปูนขาว ขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๙๐ เมตร สูง ๔.๓๖ เมตร ฐานกว้าง ๑.๑๙ เมตร พระพุทธรูปที่เก่าแก่และมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนคนไทย และประชาชนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เลื่อมใสศรัทธากราบไหว้บูชาตลอดมา จนกลายเป็นประเพณีที่สำคัญในการนมัสการพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ระหว่างวันขึ้น ๙ ค่ำถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี และจะมีประชาชนจากทั่วสารทิศ ทั้งไทย-ลาว ได้มานมัสการจำนวนมาก ประวัติการสร้างพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด มีเพียงการบันทึกจากคำบอกเล่าของคนแก่ ซึ่งได้เล่าสืบทอดกันมาว่า มีกษัตริย์สมัยขอมพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระยาแข้วเจ็ดถัน ได้เสด็จล่องเรือลงมาตามลำแม่น้ำโขงในฤดูฝน พอถึงบ้านปากแซงก็ค่ำลง จึงได้หยุดประทับแรม ๑ คืน วันรุ่งขึ้น พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปยังหมู่บ้าน และได้พบกับเจ้ากวนของหมู่บ้านในสมัยนั้น พระยาแข้วเจ็ดถัน ได้ตรัสถามถึงประวัติของหมู่บ้าน เจ้ากวนได้เล่าให้ฟังว่า บ้านนี้มีหาดสวยงามกว้างใหญ่ ในฤดูแล้ง หาดทรายจะโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ และหาดทรายแห่งนี้มีสิ่งอัศจรรย์อยู่คือ ถ้าปีใดหาดทรายโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำระหว่างหมู่บ้านประชาชนจะอยู่เย็เป็นสุข เมื่อพระองค์ได้ทราบก็เกิดศรัทธาในใจว่าสักวันหนึ่งจะต้องย้อนกลับมาสร้างหมู่บ้านนี้ให้เป็นเมือง

ในราว พ.ศ. ๑๑๕๔ พระองค์ ก็ได้เสด็จมา พร้อมด้วยข้าทาสบริวารเป็นจำนวนมาก เมื่อเสด็จมาถึง พระองค์จึงได้มอบให้เจ้าแสง
(คงจะเป็นนายชั้นผู้ใหญ่)เป็นคนควบคุมการก่อสร้างพร้อมกันนี้ก็ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๑๘๐ และขนานนามว่า พระอินทร์ใส่โฉม (ต่อมาเรียก พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ) เมื่อเจ้าแสงก็ถึงกรรมลงชาวเมืองได้สร้างหอหลักเมืองขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และขนานนามว่า หอแสง ต่อมาวัดแห่งนี้ก็ขาดคนบูรณะ และกลายเป็นวัดร้าง จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายร้อยปี ควาญช้างในหมู่บ้านนี้ ได้ไปพบพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว และได้บอกบุญชาวบ้านร่วมกันบูรณะวัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดพระโต”และจากหลักฐานการบูรณะวัดพระโต ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ พระครูกุ พร้อมชาวบ้านได้ร่วมกันก่อสร้างวิหารโดยว่าจ้างช่างชาวญวนใช้เวลาสร้าง ๓ ปี และจารึกไว้ที่วิหารว่า “ข้าพเจ้าพระครูทองกุศกร สมภาควัดกลางเขมราฐ มีท่านพระครูกุ เป็นประธานพร้อมด้วยข้าพเจ้าทั้งหลายทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านได้พร้อมใจกันบริจาคทรัพย์สร้างวิหารพระเจ้าใหญ่ปากแซง ใน ๕ หมู่บ้าน คือ บ้านปากแซง บ้านนาทราย บ้านพะลาน บ้านบก บ้านทุ่งเกลี้ยง ได้จ้างคนอานาม (เวียดนาม) เป็นเงิน ๗๐๐ บาท สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้วเสร็จ”

ปัจจุบันวัดพระโตถูกพัฒนาขึ้นมากมีการปรับปรุงภูมิทัศน์และสถานที่สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับพุทธศาสนิกชนรวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามลำน้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี เช่น สามพันโบก บ้านสองคอน หาดสลึง และต้นปี ๒๕๕๓ มีการค้นพบแหล่งท่องเที่ยวสองฝั่งโขง คือ เก้าพันโหง่น ที่เป็นเกาะแก่งหินกลางลำน้ำโขงตั้งตระหง่านหลายพันก้อน หลายพันโหง่น และหาดทรายที่สวยงามใกล้กับวัดพระโต นับเป็นดินแดนสงบ ปลอดภัย น่าอยู่ น่าเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติบ้านปากแซง
สถานที่ตั้งบ้านปากแซงในปัจจุบัน เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนชาติ “ขอม” มาก่อน ซึ่งจะเห็นได้จากสิ่งของ เครื่องใช้ บางอย่าง ที่ชาวบ้านได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่ปัจจุบันไม่มีเหลืออยู่เลย เพราะต้องน้ำไปทิ้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ จากการกวดขันของเจ้าหน้าที่บางคนในสมัยนั้น

ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่า คนแก่ในหมู่บ้านว่า บ้านปากแซงได้ตั้งขึ้นนานแล้วแต่ไม่ทราบว่าตั้งขึ้นตั้งแต่ในสมัยใด แต่ทราบว่าหมู่บ้านใกล้เคียงในละแวกนี้ ได้อพยพออกจากบ้านปากแซง ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ตามสภาพภูมิประเทศเพื่อทำการเกษตร และสันนิษฐานว่าอาจอาจมาตั้งหมู่บ้านขึ้นหลังจากที่พรานเชรษฐบุตร ได้มาพบพระพุทธรูปที่บริเวณหมู่บ้านนี้ เมื่อมีประชาชนอพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้น จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อต้นแซง (ขึ้นอยู่ตามลำห้วยแซง) คือ “บ้านปากแซง”

สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บารมีพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
หอแสง
“หอแสง” เป็นหอหลักเมืองที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยขอม เป็นสถานที่ศักด์สิทธิ์ บุคคลที่จะเข้าไปภายในไหอแสงได้คือ “เจ้าหอแสง” หรือ “เจ้ากวน” (โบราณเรียกว่า “ข้าโอกาส” )
ดอนเจ้าปู่ตา
“ดอนเจ้าปู่ตา”เป็นบริเวณป่าไม้ที่ชาวบ้านอนุรักษ์ สงวนไว้เป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ













