ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
Wat Nam Yuen Song Subdistrict, Nam Yuen District, Ubon Ratchathani Province




ประวัติวัดน้ำยืน
วัดน้ำยืน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๕๑ หมู่ที่ ๖ บ้านน้ำยืน ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
อาณาเขตติดต่อ
ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๓๘ ไร่ ๒ งาน ๖๘ ตารางวา
ทิศเหนือ ติด ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๒๔๘
ทิศใต้ ติด ถนนอนุสรณ์นิติสาร
ทิศตะวันออก ติด ถนนสถิตชลธาร หรือถนนข้างโรงพยาบาล
ทิศตะวันตก ติด ทางหลวงท้องถิ่น อบจ. (สายบ้านน้ำยืน – ช่องอานม้า) ออกโฉนด ณ วันที่ ๒๔ เดือน กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๘

ความเป็นมาสาเหตุที่เรียกและตั้งชื่อวัดบ้านน้ำยืน
เท่าที่จำได้และทราบมาวัดบ้านน้ำยืน ก่อตั้งราวเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ซึ่งสถานที่ก่อตั้งวัดบ้านน้ำยืน บริเวณแถววัดมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นเป็นป่าไม้เป็นธรรมชาติ และมีหนองซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งเรียกตามภาษาเขมร ของท้องถิ่นว่า ตะเปียงตากก และตะเปียงตึกเขมา ส่วนตะเปียงตากก ในสมัยนั้นมีนกกระยางขาว มาอยู่ในหนองตากกนี้มาก และในช่วงเข้าพรรษาจะมีแต่นกกระยางมาจำพรรษาอยู่ในสถานที่แถวบริเวณหนองตากก หรือตะเปียงตากก (หนอง เขมรเรียกว่า ตะเปียง ตา เขมรเรียกว่า ตา หรือเรียกว่าคุณตา หรือเป็นชื่อคน และกก เขมรเรียกว่า นกกระยาง หรือ กก เรียกอีกอย่างว่าต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งชอบเอามาสารเป็นเสื่อ จึงเรียกว่า หนองตากก และตะเปียงตากก) (ตะเปียงตึกเขมา ภาษาไทยเรียกว่าหนองน้ำดำ ตะเปียง เรียกว่า หนอง และตึก เรียกว่า น้ำ และเขมา เรียกว่า ดำ จึงเรียกว่าตะเปียงตึกเขมา และหนองน้ำดำ) เรียกว่าหนองตากก และติดหนองน้ำดำ ซึ่งมีน้ำดำมากและดินก็ดำมากจึงได้เรียกว่าหนองน้ำดำ เพราะเหตุนี้มีน้ำอยู่ล้อมรอบและมีแหล่งน้ำไหลออกมาซึมซับ พื้นดินทำให้ชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา จึงได้ตั้งชื่อวัดว่าวัดบ้านน้ำยืน และก็ตั้งชื่อวัดตามหมู่บ้านที่เรียกขานกันติดปากว่าวัดบ้านน้ำยืนถึงปัจจุบัน


บุคคลสำคัญที่มาสร้างวัดเท่าที่จำได้อย่างนี้
เริ่มแรกโดย นายประเทศ พะวงค์ และนายสา ต่อมาก็ไม่ทราบประวัติอีกเลยตามที่เล่าให้ฟังมาอย่างนี้ จากพ่อจิน จะโรจร เป็นคนเล่าให้ฟัง อาจจะผิดพลาดบ้าง มีเจ้าอาวาสชื่อ พระอ่อน พะวงค์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๕ และท่านก็ได้ลาสึกออกไป และก็มี พระโส สาริก เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๔๘๒ และท่านก็ได้ลาสึกออกไป จนกระทั่งเวลาต่อมาวัดบ้านน้ำยืน ก็เป็นวัดร้างไปไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาอีกเลย เนื่องจากสาเหตุในสมัยนั้น จำจากผู้เล่าให้ฟังว่า มีกำนันหอม อบชา ซึ่งเป็นกำนันตำบลโซง ได้มีความคิดใหม่ให้รวมหมู่บ้าน ๒ หมู่ บ้าน คือหมู่บ้านน้ำยืน กับหมู่บ้านโซง ให้เป็นวัดเดียวกัน ให้อยู่จุดศูนย์กลาง ที่ทุ่งนา คือวัดบ้านโซง ปัจจุบัน ในสมัยนั้น หลังจากนั้นมาวัดบ้านน้ำยืน ก็ไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาอีกเลยแม้แต่รูปเดียว เพราะกำนันหอม อบชา ได้ไล่พระภิกษุสงฆ์ให้ไปอยู่ที่วัดบ้านโซง จึงเป็นสาเหตุทำให้วัดบ้านน้ำยืนต้องร้าง และตั้งแต่นั้นมาเป็นเวลานานประมาณ ๓๔ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๖ จึงได้มีพระภิกษุสงฆ์ อีกครั้ง โดยการนำของผู้ใหญ่บ้านน้ำยืน พ่อจิน จะโรจร ซึ่งในสมัยนั้นท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านน้ำยืน และท่านได้อุปถัมภ์วัดบ้านน้ำยืน เรื่อยมา
พ่อจิน จะโรจร ผู้ใหญ่บ้านน้ำยืน ได้ปรึกษาหารือกันกับนายสมสักดิ์ ถนอมวงศ์ และได้พากันริเริ่มการก่อตั้งสร้างวัดขึ้นอีกครั้ง จึงได้พากันไปกราบเรียนปรึกษากับหลวงพ่อ พระครูสารธรรมโกวิท (จันดี โกวิโท) อดีตเจ้าคณะอำเภอน้ำยืน หลวงพ่อก็ได้หาพระภิกษุสงฆ์ให้โดยแนะนำให้ พ่อจิน จะโรจร ได้พากันไปนิมนต์พระจากวัดบ้านตลาด อำเภอเดชอุดม มา ๘ รูป มาจำพรรษาอยู่ประมาณ ๑ พรรษา พอออกพรรษาแล้วพระภิกษุสงฆ์ก็ได้ลาญาติโยมกลับไปยังวัดเดิมของท่าน และในช่วงนั้นต่อมาผู้ใหญ่จิน จะโรจร ก็ได้ปรึกษากันไปนิมนต์พระเฮา จากวัดบ้านหมากแหน่ง ตำบลตาเกา กิ่งอำเภอน้ำขุ่น (ปัจจุบันเป็นอำเภอน้ำขุ่น) จังหวัดอุบลราชธานี มาอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านน้ำยืน และญาติโยมก็ได้หาโยมในหมู่บ้านให้บวชอยู่ด้วยหลายรูป มีพระสิน ติภาโร และสามเณรอาจ ในพรรษานั้นเท่าที่จำได้และญาติโยมก็ได้ทำกลองเพล ขึ้นหนึ่งอันในพรรษานี้ และพระเฮา ได้อบรมสั่งสอนพระภิกษุสงฆ์ สามเณรในพรรษา ให้เรียนสวดมนต์ไหว้พระจนชำนาญพอสวดมนต์ได้ด้วยตนเองในพรรษา พอหลังออกพรรษาพระเฮา ก็ได้บอกลาญาติโยมกลับวัดบ้านหมากแหน่ง ซึ่งมีพระสิน ติภาโร อยู่ต่อในช่วงนั้น พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๑๗ อยู่เป็นประธานสงฆ์ในช่วงนั้นมา พ่อผู้ใหญ่จิน จะโรจร กับคณะกรรมการทายกทายิกาวัด ได้พากันไปหาหลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอน้ำยืน พระครูสารธรรมโกวิท (จันดี โกวิโท) (อดีตเจ้าคณะอำเภอน้ำยืน) ปรึกษากับหลวงพ่ออีกครั้ง หลวงพ่อได้บอกกับญาติโยมว่า โยมเอ๋ย อยากได้พระแบบไหน โยมอยากได้พระดี ๆ และก็คงกับวัดกับวาครับหลวงพ่อ เออถ้าอย่างนั้นโยมไปนิมนต์พระที่วัดดอนโมกข์ มานะท่านชื่อพระบุญเรือน สุจิตฺโต นะ ครับหลวงพ่อ และญาติโยมก็ได้ไปนิมนต์ พระบุญเรือน สุจิตฺโต (พระครูสถิตชลธาร) มาจากวัดดอนโมกข์ ตำบลขี้เหล็ก กิ่งอำเภอน้ำขุ่น (ปัจจุบันเป็นอำเภอน้ำขุ่น) จังหวัดอุบลราชธานี มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านน้ำยืน ต่อแต่นั้นมาวัดบ้านน้ำยืน ก็ไม่เคยขาดพระภิกษุสงฆ์สามเณรอีกเลย จนถึงปัจจุบันนี้ วัดมีอายุได้ประมาณ ๒๐๕ ปี นับว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ ในพระพุทธศาสนา วัดน้ำยืนเคยได้รับให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๑ เดือน กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๙



รายนามประธานวัดน้ำยืน เท่าที่ทราบมา มีดังนี้
๑. พระอ่อน พะวงค์ เป็นประธานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๕ รวม ๗ ปี
๒. พระโส สาริก เป็นประธานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๔๘๒ รวม ๗ ปี
๓. พระสิน ติภาโร เป็นประธานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๑๗ รวม ๒ ปี
รายนามเจ้าอาวาสวัดน้ำยืน ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการคณะสงฆ์
๑. พระครูสถิตชลธาร (บุญเรือน สุจิตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดน้ำยืน ได้รับการแต่งตั้งเมื่อ
วันที่ ๑๓ เดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๕๕ รวม ๓๖ ปี
๒. พระครูวีรกิจชลธาร (สุรินทร์ กนฺตวีโร (รัตนวัน) เจ้าอาวาสวัดน้ำยืน เมื่อวันที่ ๑ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ และเป็น (รองเจ้าคณะอำเภอน้ำยืน)



วัฒนธรรมประเพณีของชุมชมหมู่บ้านน้ำยืน มีดังนี้
๑.เข้าพรรษา
๒.ออกพรรษา
๓.ทอดกฐิน
๔.ลอยกระทง
๕.ปีใหม่
๖.สงกรานต์
๗.แสนโดนตา (วันสารท วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐)
๘.แสนตา ประจำทุก ๆ ปี ๆ ละครั้ง (ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกๆ ปี)
๙.เล่นแม่มด ประจำทุก ๆ ปี ๆ ละครั้ง (เริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ไปสิ้นสุด แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุก ๆ ปี)















ภาพอุโบสถ/ภายในอุโบสถ ในอดีตวัดน้ำยืน







ภาพภายในศาลาการเปรียญในอดีต






