ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

Wat Pho Sa Pathum

 Kusakorn Subdistrict, Trakan Phuet Phon District, Ubon Ratchathani Province

การประกาศรวมวัดโพธิ์กับวัดสระ

               เมื่อวันที่ ๑๗ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘ ได้มีประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง รวมวัด โดยที่เห็นสมควรรวม วัดโพธิ์ ตั้งอยู่บ้านกุศกร หมู่ที่ ๙ ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี กับ วัดสระ ตั้งอยู่บ้านกุศกร หมู่ที่ ๙ ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประโยชน์แก่การทำนุบำรุงให้เจริญยิ่งขึ้น มีนามว่า “วัดโพธิ์สระปทุม” มีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ 

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ             จรดหมู่บ้าน

 ทิศใต้                จรดทางสาธารณะ 

ทิศตะวันออก     จรดถนนสาธารณะ  

ทิศตะวันตก       จรดหมู่บ้าน

ลำดับเจ้าอาวาส 

               รูปที่ ๑ พระครูโพธิคุณโสภิต (สีบู ถิรสีโล)  พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๖

               รูปที่ ๒ พระพลหาญ ฐานิสสฺโร ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส  พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๙

               รูปที่ ๓ พระครูวินัยธรฉัตรชัย สุรปญฺโญ (อภัย) ดร.  พ.ศ.๒๕๕๙ ถึงปัจจุบัน

อาคารเสนาสนะภายในวัด

วัดโพธิ์สระปทุมมีอาคารเสนาสนะ ดังต่อไปนี้

               ๑. อุโบสถ กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๗ เมตร ข้างในมีพระประธานประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักด้วยไม้กันเกรา(ไม้มันปลา) ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้ก่ออิฐถือปูนทับอีกรอบจนกลายเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ต่อมาในวันที่ ๒๘ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่เนื่องจากองค์พระพักตร์ของพระพุทธรูปมีการแตกร้าวโดยการลงรักปิดทองใหม่ทั้งองค์  ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จาก คุณสมพงษ์-คุณอโณทัย บูรณวัฒนาโชค พร้อมบุตร จากกรุงเทพมหานครมาเป็นเจ้าภาพต่อมาในวันที่ ๑๑ เดือนกรกฏาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ได้รับประทานพระนามจากพระเดชพระคุณพระราชธีราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีพระนามว่า  “พระพุทธอุบลบันดาลสุข” (หลวงพ่อสมปรารถนา)

               ๒. ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๒๑ เมตร ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองขัดเงา

               ๓. วิหาร กว้าง ๓ เมตร ยาว ๖ เมตรภายในประดิษฐานรูปเหมือน พระครูโสภิตพิริยคุณ (พ่อถ่านฤทธิ์)

               ๔. กุฏิสงฆ์ ๙ หลัง

               ๕. ห้องน้ำ ๖ หลัง

               ๖. เมรุ ๑ หลัง

               ๗. ศาลาคู่เมรุ ๑ หลัง

               ๘. เจดีย์บรรจุอัฐิหลวงปู่พระครูโสภิตพิริยคุณ (พ่อถ่านฤทธิ์) อดีตเจ้าอาวาส

               ๙. เจดีย์บรรจุอัฐิหลวงปู่พระครูโพธิคุณโสภิต อดีตเจ้าอาวาส

              ๑๐. เจดีย์บรรจุอัฐิพระพลหาญ ฐานิสสฺโร อดีตผู้รักษาการเจ้าอาวาส

              ๑๑. ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด ๑ แห่ง

              ๑๒. ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในวัดโพธิ์สระปทุม ๑ แห่ง

              ๑๓. อาคารรับรองอาคันตุกะ ๑ หลัง

การปกครองภายในวัดปัจจุบัน

วัดโพธิ์สระปทุม มี พระภิกษุ ๕ รูป สามเณร ๕ รูป รวมทั้งหมด ๑๐ รูป

ประวัติเจ้าอาวาส

พระครูวินัยธรฉัตรชัย  สุรปญฺโญ ดร. (ฉัตรชัย  อภัย) “เจ้าคณะตำบลกุศกร เขต ๑” อายุ ๓๓ ปี พรรษา ๑๔ เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๓ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๐ ตรงกับวัน แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีเถาะ ที่บ้านเลขที่ ๔๙ หมู่ ๔ บ้านเล้า ตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ นายอุดร  อภัย และ มารดาชื่อ  นางสุกัญญา  บุญมล     

บรรพชา

                เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนมีนาคม ๒๕๔๙ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเวฬุวนาราม ตำบลเกษม โดยมีพระครูเขมกิจโสภิต   เจ้าคณะตำบลเกษม เขต ๒ (ในสมัยนั้น) ปัจจุบันท่านเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลเกษม – กุดยาลวน เขต ๒  เทียบเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท

               เมื่อวันที่ ๒๘  เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๐ อายุครบ ๒๐ ปี ได้เข้าอุปสมบท ที่พัทธสีมา วัดมะลิวัลย์ บ้านเล้า ตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืช จังหวัดอุบลราชธานี

พระประธานในอุโบสถ(สิม)

“พระพุทธอุบลบันดาลสุข”(หลวงพ่อสมปรารถนา)

                เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักด้วยไม้กันเกรา (ไม้มันปลา) ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๒๐ เมตร สูง ๒.๕๐ เมตร สร้างขึ้นมาครั้งแรกตั้งแต่ปีไหนไม่ทราบที่มาแน่ชัดทราบจากคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่เล่าสืบๆกันมาว่าอายุน่าจะไม่ต่ำกว่า ๓๕๐ ปี  

ประวัติพระครูโสภิตพิริยคุณ (หลวงปู่ญาถ่านฤทธิ์   โสภิโต)

                พระครูโสภิตพิริยคุณ หรือ หลวงปู่ญาท่านฤทธิ์ โสภิโต วัดสระกุศกร  ศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาโดยตรงพระอาจารย์ใหญ่สำเร็จลุน หลวงปู่ญาท่านฤทธิ์เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกันกับศิษย์ผู้พี่หลวงปู่กัมมัฏฐานแพงและหลวงปู่ญาท่านตู๋ หลวงปู่ญาท่านฤทธิ์ จึงถือว่า เป็นทั้งศิษย์ผู้น้องและศิษย์ของหลวงปู่กัมมัฏฐานแพงและหลวงปู่ญาท่านตู๋ หลวงปู่ญาท่านฤทธิ์หลวงปู่ญาท่านฤทธิ์ท่านเป็นศิษย์ผู้พี่ของญาท่านสวน วัดนาอุดม อำเภอตาลสุม หลวงปู่ญาท่านฤทธิ์เป็นผู้สืบวิชาสายสำเร็จลุน วิชาเอกของท่านคือ “พระโมคคัลลาน์ประสานกาย หรือ หนุมานประสานกระดูก” ขนาดที่ว่าแพทย์ในสมัยก่อนยังบอกให้ไปหาญาท่านฤทธิ์ไม่งั้นก็ต้องตัดขาค ท่านยังเชี่ยวชาญการรักษาคนช่วย ไล่ผี ในสมัยอดีต เดินไม่เปียกฝนและย่อระยะทางเคร่งครัดในสัจจะปฏิญาณ ไม่มองเหลียวหลัง ไม่เคี้ยวกระดูก ไม่กลับทางเดิม ไม่รอดราวตากผ้าไม่ฉันภัตตาหารในงานศพ มักปรีกวิเวกเข้าป่าฝึกวิชา ผู้ติดตามจะหาไม่เจอ วัดที่ท่านเคยจำพรรษาอยู่คือ วัดสระกุศกร   หรืออีกชื่อหนึ่งคือวัดโพธิ์สระปทุม

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์โบราณ ๓ องค์

๑.  หลวงพ่อสุข
๒.  หลวงพ่อประทานพร
๓.  หลวงพ่อสัมฤทธิ์สิทธิผล