ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

Wat Pho Tak

Phibun Subdistrict, Phibun Mangsahan District, Ubon Ratchathani Province

ประวัติและความเป็นมา

                วัดโพธิ์ตาก หรือ วัดโพธิ์ เดิมพื้นที่มีลักษณะเป็นป่ารกชัฏติดกับแม่น้ำมูล ซึ่งบริเวณนี้มี ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปีอยู่หนึ่งต้น

ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ได้สร้างวัดขึ้น โดยการนำของ พระอาจารย์อินทร์ อินฺทสาโร พร้อมด้วยญาติพี่น้อง ซึ่งได้อพยพมาจากบ้านขี้เหล็กหัวเรือ เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช ย้ายมาตั้งบ้านเรือนที่ เมืองพิมูลมังษาหาร ในขณะนั้น ต่อมาได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดโพธิ์ตาก และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโพธิ์ตาก ซึ่งตั้งชื่อตามลักษณะของภูมิสถานบริเวณที่ตั้งวัดและหมู่บ้านที่มี ต้นโพธิ์ ขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปีอยู่หนึ่งต้น

               สังกัดนิกายเถรวาท คณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ โดยมี พระอาจารย์อินทร์ อินฺทสาโร เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และมีพระเถระที่มีชื่อเสียงคือ พระครูญาณวิสุทธิคุณ (กอง) หรือ พระอุปัชฌาย์กอง อดีตเจ้าอาวาส ซึ่ง วัดโพธิ์ตาก ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

ที่ตั้ง

             แม่น้ำมูล ณ ท่าน้ำวัดโพธิ์ตาก วัดโพธิ์ตาก เลขที่ ๑๗๘ ถนนราชมนตรี ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ๓๔๑๑๐ สังกัดนิกายเถรวาท คณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินของวัดมีเนื้อที่ ๑๘ ไร่

              ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา มีสถานะเป็นวัดตามกฎหมาย ซึ่งมีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๘๐ เมตร ยาว ๑๒๐ เมตร

              ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้ตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น ณ วัดโพธิ์ตากปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้สร้าง ศาลาการเปรียญ ขึ้น เป็นอาคารไม้ทั้งหลัง ซึ่งมีขนาด กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยยกพื้นสูงขึ้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ ชั้นบนยังคงสภาพศาลาการเปรียญไม้แบบศิลปะอีสานโบราณไว้ตามเดิม

              ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญขึ้น ณ วัดโพธิ์ตาก

ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้สร้าง พระอุโบสถ ขึ้นใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีขนาด กว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๗ เมตร เพื่อใช้เป็นสถานที่สังฆกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์

              ในกาลต่อมาได้มีการสร้างอาคารเสนาสนะเพิ่มขึ้น อาทิ พระวิหาร ศาลาบำเพ็ญกุศล หอระฆัง กุฏิ เมรุ พระอุโบสถวัดโพธิ์ตาก ฃ

ปูชนียวัตถุสำคัญ คือ พระโพธิราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก กว้าง ๑๒ นิ้ว ศิลปวัตถุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จำนวน ๑ องค์

อาณาเขต

           ทิศเหนือ ติดกับ แม่น้ำมูล

           ทิศใต้ ติดกับ ถนนวิพากย์

           ทิศตะวันออก ติดกับ ลำห้วยนอก

           ทิศตะวันตก ติดกับ ถนนราชมนตรี

มีเจ้าอาวาสดังรายนามต่อไปนี้

             ๑. พระอาจารย์อินทร์ อินฺทสาโร พ.ศ. ๒๔๓๐ –  ๒๔๕๐ 

             ๒. พระครูญาณวิสุทธิคุณ (กอง นนฺทิโย) พ.ศ. ๒๔๕๐ – ๒๔๙๒ 

             ๓. พระครูพิศาลโพธิวัฒน์ (ดำ สุวโจ) พ.ศ. ๒๔๙๒ 

             ๔. พระอาจารย์ทอง -ไม่ทราบฉายา

             ๕. พระอาจารย์มหา -ไม่ทราบฉายา

             ๖. พระครูพิศาลโพธานุวัตร (ทัน ปคุโน) พ.ศ. ๒๕๒๕ เจ้าอาวาสในปัจจุบัน