วัดไหล่หินหลวง หรือ วัดเสลารัตนปัพพตาราม วัดสำคัญเก่าแก่ของจังหวัดลำปางที่มีอายุหลายร้อยปี จากหลักฐานทางด้านโบราณ จารึกและตำนานต่าง ๆ ได้กล่าวถึงวัดไหล่หินในอดีตว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญทางศาสนา มีหลักฐานว่าในปี พ.ศ.2181 วัดไหล่หินสมัยนั้นยังเป็นอารามเล็ก ๆ มีพระภิกษุสามเณรมาอาศัยบวชเรียนเป็นจำนวนมาก ในตำนานการสร้างวัดได้กล่าวอ้างถึง “พระมหาป่า” หลายรูปซึ่งเป็นเจ้าอาวาสที่ถือธุดงควัตรเป็นหลักปฏิบัติในการสืบทอดพระศาสนา แต่มีพระมหาป่ารูปหนึ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาคือ “พระมหาป่าเกสร ปัญโญ” (ครูบาศีลธรรมเจ้า) จากคำบอกเล่าที่ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือประวัติวัดไหล่หินหลวงที่ทางวัดได้จัดพิมพ์ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ท่านพระมหาเกสรปัญโญเป็นพระนักปฏิบัติ นักศึกษาศาสนธรรมคำสั่งสอนอันยืงยง ท่านมีความรู้แตกฉานสามารถเขียนและแต่งธรรมได้วันละมากๆ เล่ากันว่าจารวันหนึ่งได้มูลเหล็กจารเต็มกะลามะพร้าว ซึ่งหาใครเสมอเหมือนมิได้เลย นอกจากนี้ท่านได้ประพฤติปฏิบัติสมณธรรมอย่างจริงจัง โดยปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำฮางฮุ้งจนจิตเป็นสมาธิได้ญาณสมาบัติอภินิหารเป็นอัจฉริยะ..”
ด้วยจริยวัตรของท่านจึงทำให้มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธา ไม่เพียงแต่คนในท้องถิ่นแต่ได้เลื่องลือไปถึงถิ่นอื่นๆจนถึงเมืองเชียงตุง ซึ่งตามประวัติกล่าวว่าเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงได้มาสร้างวิหารที่วัดไหล่หินหลวง ต่อมาภายหลังเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ได้มาสร้างโบสถ์รวมทั้งผู้คนจากในชุมชนและที่อื่น ๆ ได้เข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดไหล่หินให้มีสภาพสมบูรณ์

ความสำคัญของวัดไหล่หินนอกเหนือจากเป็นวัดสำคัญเก่าแก่ของจังหวัดลำปางแล้วนั้น ยังเป็นสถานที่เก็บคัมภีร์โบราณที่ผู้คนทั้งในและนอกชุมชนเข้ามาศึกษาและคัดลอกกัน ปัจจุบันคัมภีร์ส่วนหนึ่งที่ชำรุดเสียหายไป แต่ยังมีบางส่วนที่คงสภาพดีและได้เก็บรักษาไว้ในโรงธรรมของวัด คัมภีร์โบราณของวัดเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนาที่แสดงให้เห็นความสำคัญของวัดไหล่หินในฐานะที่เป็นแหล่งศึกษาพระธรรมในสมัยโบราณ พบว่ามีเอกสารโบราณที่มีอายุเก่ากว่า 700 ปีเศษ จารเป็นภาษาบาลี ตัวอักษรล้านนา ซึ่งจารไว้เมื่อปี จ.ศ.601 (พ.ศ.1782 ชื่อคัมภีร์ “สกาวกณณี” มีทั้งสิ้น 7 ผูก จำนวน 364 หน้า)
ในวัดไหล่หินยังมีโบราณสำคัญต่าง ๆ มากมาย อาทิ วิหารโถง โบสถ์ เจดีย์ ซุ้มประตูโขงและโรงธรรม ซึ่งนับเป็นโบราณสถานสำคัญทั้งในด้านความเก่าแก่และมีคุณค่าทางด้านศิลปะที่แสดงออกถึงความสามารถในเชิงช่าง การสร้างสรรค์ความงามในด้านโครงสร้างสถาปัตยกรรมและการประดับตกแต่งตามคติความเชื่อและการใช้ประโยชน์ของชุมชน
วิหารโถง เป็นวิหารแบบล้านนาขนาดเล็ก ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 9 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน การประดับตกแต่งวิหารมีการประดับทั้งภายในและภายนอกเป็นภาพและลวดลายต่าง ๆ เช่น ภาพเขียนสี เป็นภาพเขียนด้วยสีฝุ่นบนแผ่นไม้ที่บริเวณส่วนบนของโครงสร้างหลังคาเป็นภาพพระพุทธรูปประทับยืน ภาพลายคำ เป็นภาพที่ทำด้วยเทคนิคการพิมพ์เป็นลวดลายลงบนพื้นสีทอง ลายประดับบนวิหารนี้ทำเป็นลายพันธุ์พฤกษา ลายเครือเถา ลายช่อดอกไม้ ลายดอกบัวและกลีบบัว นอกจากนั้นก็มีภาพบุคคลเช่น ภาพพระพุทธเจ้า ภาพเทวดา นางฟ้า และภาพสัตว์หลากหลายชนิด ตามประวัติการสร้างวิหารหลังนี้มีบันทึกไว้บนแผ่นไม้ที่ท้องขื่อในวิหารกล่าวว่า ในปี จ.ศ.1045 (พ.ศ.2226) พระมหาป่าเกสร ปัญโญ เป็นประธานพร้อมด้วยเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงและศิษยานุศิษย์ได้สร้างวิหารนี้ขึ้นในปีกดไก๊ เดือน 5 เป็งไทยเต่าสง้า จากรูปทรงสันนิษฐานว่าคงมีการปฏิสังขรณ์ให้คงอยู่ในสภาพเดิมมาหลายยุคหลายสมัย เนื่องจากชาวบ้านสมัยนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับข้อห้ามในการรื้อถอนอาคารสิ่งก่อสร้างทางศาสนา หากผู้ใดละเมิดจะพบกับความหายนะ จึงทำให้วิหารหลังนี้ได้รับการอนุรักษ์ตลอดมา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานวิหารหลังนี้ไว้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2523

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : https://www.chiangmainews.co.th/