๑. เอกลักษณ์ จุดเด่นของท้องถิ่นที่สำคัญ คือ สิ่งสำคัญในท้องถิ่นหรือในชุมชน ที่ทางหน่วยงานต้องการนำเสนอให้เห็นว่า คือ สิ่งที่สำคัญที่เป็นที่รับรู้ สามารถต่อยอดและพัฒนาได้ เช่น สถานที่สำคัญ ประเพณีสำคัญ นวัตกรรมของดีประจำท้องถิ่นหรือจุดแลนด์มาร์กของท้องถิ่น เป็นต้น

คำขวัญตำบลตาลชุม

“งามล้ำพระประธาน พระวิหารล้านนา แหล่งปลาเศรษฐกิจ ใช้ชีวิตแบบพอเพียง สำเนียงหลายภาษา”

พระประธานวัดตาลชุม

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน ขนาดหน้าตัก กว้าง ๔๐ นิ้ว สูง ๑๔๐ นิ้ว ผิวพรรณสีชมพูอ่อน ห่มจีวรลงรักปิดทองอร่าม สวยงามด้วยพุทธลักษณศิลป์ ฝีมือช่างพื้นเมืองน่าน ช่างเชียงแสนและเชียงของในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพักตร์อิ่มเอิบ สดใส งดงาม เป็นที่ประทับใจแก่ผู้มาสักการะบูชา ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ประดับด้วยลายปูนปั้นสไตล์จีน ลายพื้นเมืองน่าน

พระวิหาร

รูปทรงล้านนา หน้าบัน เชิงชายพระวิหาร และหน้าบันพระวิหารพระเจ้าทันใจ เป็นพื้นแผ่นไม้ แกะสลักลวดลายโบราณบนไม้สัก ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ฐานชุกชีที่ประทับขององค์พระประธานประดับด้วยปูนปั้นโบราณ ซึ่งขุนอภิบาลตาลชุม หรือ เจ้าปู่มหาวัน จันต๊ะโมกข์และเจ้าหนานข่ายแก้ว จันต๊ะโมกข์ ได้ไปเที่ยวพม่าและลอกแบบมาประยุกต์ให้เข้ากับลายพื้นเมืองน่าน โดยเพิ่มเทคนิคการประดับด้วยกระจกว่าวทำให้สวยงามดูแปลกตา

ตำบลตาลชุมมีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน ๑ สาย คือ แม่น้ำน่าน ซึ่งไหลผ่านตลอดปี แหล่งน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ในตำบลตาลชุม คือ หนองน้ำครก มีจำนวน ๔ แห่ง ได้แก่ หนองน้ำครกบ้านตาลชุม หมู่ที่ ๑ หนองน้ำครกบ้านป่าสัก หมู่ที่ ๓ หนองน้ำครกบ้านครกคำ หมู่ที่ ๔ และหนองน้ำครกบ้านตาลชุม หมู่ที่ ๗ มีน้ำตลอดทั้งปี และอ่างเก็บน้ำบ้านนากอก

ประเพณีสู่ขวัญเรือและการแข่งขันเรือยาว

ประเพณีสู่ขวัญเรือเป็นพิธีกรรมที่ชาวน่านได้สืบทอดจากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน ก่อนที่จะนำเรือแข่งลงสนามทุกปี ชาวบ้านจะทำพิธีสู่ขวัญเรือก่อนเสมอเพื่อเป็นการปลุกเร้าจิตใจ ฝีพาย และเป็นการรวมพลังแห่งความรักความสามัคคีของชุมชน

ประเพณีแข่งเรือเมืองน่านเป็นประเพณีเก่าแก่สืบเนื่องมาแต่โบราณ แต่ก่อนได้กำหนดว่าให้มีการจัดการแข่งขันขึ้นทุกครั้งที่มีงานตานก๋วยสลาก (ถวายทานสลากภัต) หมู่บ้านใด วัดใด จัดให้มีงานตานก๋วยสลาก ก็ให้มีการเชื้อเชิญหมู่บ้านและวัดใกล้เคียงให้นำเรือมาแข่งขันกันเพื่อความสนุกสนานสมานสามัคคี

เรือแข่งเมืองน่านมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นแห่งเดียวในไทย หัวเรือเป็นพญานาค ท้ายเรือเป็นหางหงส์ นักท่องเที่ยวจึงให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

องค์การบริหารส่วนตำบลตาลชุม มีเรือขนาด ๑๒ ฝีพาย จำนวน ๗ ลำ และเรือไกรทองป่าสัก ได้มาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จากห้วยหลักลอ บ้านป่าทุ่ง ตำบลยาบหัวนา ประเภท : เรือใหญ่ สังกัด : บ้านป่าสัก อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ขนาด : ๑๖ วา ๒ ศอก ขุดจาก : ไม้ตะเคียน การขุดเรือ / การตกแต่ง โดยช่างเลิศ โพธิ์ธามาศ ช่างแกะหัว / หางวรรณ พระครูประสิทธิ์ วรคุณ

สวนครูดงตาลชุม

สวนพอเพียงของครูวาสนา เจดีย์กัน

๒. ความสำคัญบทบาทหน้าที่ วิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร

อำนาจหน้าที่ของนายก อบต.

๑. ก่อนเข้ารับหน้าที่ นายก อบต. ต้องแถลงนโยบายต่อสภา อบต. โดยไม่มีการลงมติ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งต่อสมาชิกสภา อบต. ทุกคน และจัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา อบต. เป็นประจำทุกปี (มาตรา ๕๘/๕)

๒. มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา ๕๙ ดังนี้

(๑) กำหนดนโยบายไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการของ อบต. ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนา อบต. ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ

(๒) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของ อบต.

(๓) แต่งตั้งและถอดถอนรองนายก อบต. และเลขานายก อบต.

(๔) วางระเบียบเพื่อให้งานของ อบต. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

(๕) รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ อบต.

(๖) ปฏิบัติตามหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และกฎหมายอื่น

๓. ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการของ อบต. ตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างของ อบต. (มาตรา ๖๐)

๔. นายก อบต. รองนายก อบต. หรือผู้ซึ่งนายก อบต. มอบหมายมีสิทธิเข้าประชุมสภา อบต. และมีสิทธิแถลงข้อเท็จจริงตลอดจนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตนต่อที่ประชุมแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน (มาตรา ๕๘/๖)

๕. กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภา อบต. หรือสภา อบต. ถูกยุบตามมาตรา ๕๓ หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของราชการหรือราษฎร นายก อบต. จะดำเนินการไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็นก็ได้ แต่เมื่อได้เลือกประธานสภา อบต. แล้วให้เรียกประชุมสภา อบต. เพื่อให้นายก อบต. แถลงนายก อบต. แถลงนโยบายโดยไม่มีการลงมติภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่มีการเลือกตั้งประธานสภา อบต. (มาตรา ๕๘/๕ วรรคสอง)

๖. กรณีนายก อบต. ปฏิบัติการที่อาจเสียหายแก่ อบต. หรือราชการ และนายอำเภอได้ชี้แจง แนะนำ ตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตาม ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนที่จะรอช้าไม่ได้ นายอำเภอมีอำนาจออกคำสั่งระงับการปฏิบัติราชการของนายก อบต. ไว้ตามที่เห็นสมควรได้ แล้วจึงรีบรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดภายใน ๑๕ วัน เพื่อวินิจฉัยตามที่เห็นสมควรโดยเร็ว : การกระทำของนายก อบต. ที่ฝ่าฝืนคำสั่งนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันกับ อบต. (มาตรา ๙๐)

๗. เป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติ อบต. (มาตรา ๗๑) ร่างข้อบัญญัติประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (มาตรา ๘๗)

๘. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ อบต. (มาตรา ๖๕)

๓. ความสำคัญด้านองค์กร การขับเคลื่อนโครงการสำคัญ แนวทางการพัฒนาด้านต่าง ๆ ขององค์กรต่อชุมชน หรือผลงานของแต่ละกองงาน

วิสัยทัศน์องค์การบริหารส่วนตำบลตาลชุม

ตำบลตาลชุมเป็นตำบลน่าอยู่ เชิดชูวัฒนธรรมประเพณี มีเศรษฐกิจพอเพียง เคียงคู่กับการบริหารจัดการที่ดี

โดยการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ชุมชนน่าอยู่มีดังนี้

๑. จัดให้มีการสร้างและบำรุงพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ชุมชนได้รับสาธารณูปโภค สาธารณูปการอย่างพอเพียง สะดวก รวดเร็ว เพื่อรองรับการพัฒนาและการขยายตัวของชุมชนในอนาคตได้

๒. อนุรักษ์ ฟื้นฟู บูรณะและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในตำบล ได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บูรณะและพัฒนา ตลอดจนการบริหารจัดหารอย่างมีประสิทธิภาพ

๓. พัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพอนามัย และแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีสุขอนามัยที่ดี มีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และร่วมกันไม่ให้ยาเสพติดแพร่ระบาดในพื้นที่

การดำเนินการตามวิสัยทัศน์เชิดชูวัฒนธรรมประเพณี ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น

การดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ มีเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการประกอบอาชีพของประชาชน ให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ พิชิตความยากจน สร้างชุมชนเข้มแข็งตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

การดำเนินการตามวิสัยทัศน์ เคียงคู่การบริหารจัดการที่ดี ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกหน่วยงานในพื้นที่ พัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการพัฒนาชุมชนให้มีการบริหารงานตามหลัก                 ธรรมาภิบาล และส่งเสริมให้ประชาชนและทุกหน่วยงานในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนให้มากขึ้น ทั้งนี้ โดยใช้หลักทางยุทธศาสตร์การพัฒนา แบ่งเป็น ๗ ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การพัฒนาแหล่งน้ำ

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การพัฒนาคนและความมั่นคงของชุมชน

ยุทธศาสตร์ที่ ๗ การพัฒนาการเมืองการบริหาร

องค์การบริหารส่วนตำบลตาลชุม เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดกลาง ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การปกครอง / การกระจายอำนาจทั่วถึง และเข้าถึงประชาชนจริง ๆ เป็นการทำงานในพื้นที่ระดับรากหญ้า                 เป็นองค์กรที่ให้ความร่วมมือ / การบูรณาการในการปฏิบัติงานกับส่วนราชการต่าง ๆ ตามความต้องการของประชาชนอย่างแม้จริงโดยมีหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ กลั่นกรอง / วิเคราะห์ / สังเคราะห์ / สรุปผลรายงานผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น สาธารณสุข เกษตรตำบล สำนักงานพัฒนาชุมชน สถานีตำรวจภูธรอำเภอ  และโรงเรียนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 

องค์การบริหารส่วนตำบลตาลชุม มีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา แผนพัฒนาสามปี และแผนดำเนินงาน ที่มีเงื่อนไขสอดคล้องกับแผนแม่บทชุมชน โดยยึดถือหลักการที่จะขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ อำเภอ จังหวัด และรัฐบาลอย่างเต็มที่ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ

องค์การบริหารส่วนตำบลตาลชุมมุ่งมั่นที่จะก้าวเป็นองค์กรที่จะพัฒนาท้องถิ่น เป็นที่พึ่งประชาชนให้ได้รับความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไป

๔. ความสำคัญด้านการท่องเที่ยว สถานที่ ประเพณี วัฒนธรรม สินค้า การเกษตร กิจกรรม ในพื้นที่ 

๕. อื่นๆ