ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด

Wat Sa Kaeo 

Nai Mueang Subdistrict, Mueang Roi Et District, Roi Et Province

ความเป็นมา 

วัดสระแก้ว เป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง  ติดกับกำแพงเมืองด้านใน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี  พ.ศ.  ๒๔๘๐ ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่  ๒๒๐  ถนนเทวาภิบาล   ตำบลในเมือง  อำเภอเมืองร้อยเอ็ด  จังหวัดร้อยเอ็ด  ตั้งเมื่อปี  พ.ศ.  ๒๓๙๐  โดยมีนายโคตรหลักคำ  ศรีมาดี  พร้อมด้วยชาวเมืองร้อยเอ็ด  ได้ร่วมใจกันสร้างขึ้น ปัจจุบันคนเหล่านั้นได้ล้มหายตายจากไปนานแล้ว ปู่ย่า ตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าสืบต่อกันมาถึงเรื่องสระแก้วว่า  เมื่อถึงวัดศีล (วันพระ)  เมื่อใด  เวลากลางคืนจะมีดวงแก้วรัศมีเป็นประกาย   งดงามระยับตา  ลอยอยู่บนอากาศหมุนไปรอบ ๆ สระน้ำและบริเวณวัด และน้ำในสระมีความใสสะอาดมาก   เมื่อกระทบกับแสงแดดจึงเกิดประกายแวววาวเหมือนแก้ว  ชาวบ้านทั้งหลายจึงเรียกว่าวัดสระแก้วเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

รายนามเจ้าอาวาส

๑. พระยาคูจูม พ.ศ. ๒๔๖๖
๒. พระปลัดไพร ธมฺมปาโล พ.ศ. ๒๔๗๗
๓. พระครูอดุลวิหารกิจ (สาย ติสฺโส) พ.ศ. ๒๔๘๔
๔. พระครูวีรธรรมาภรณ์ (เคน ติกฺขวีโร) พ.ศ. ๒๕๒๙
๕. พระครูปริยัติวัฒนโชติ,ดร. (สุภีร์ กิตฺติปญฺโญ/คำใจ) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

ด้านการปกครอง   

ปัจจุบันมี  พระครูปริยัติวัฒนโชติ   (สุภีร์   กิตฺติปญฺโญ)  เปรียญธรรม  ๔  ประโยค  ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริญญาโทศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (ศศ.ม) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เป็นเจ้าอาวาสวัดสระแก้ว และเป็นเจ้าคณะตำบลดงลาน   อำเภอเมือง   จังหวัดร้อยเอ็ด   ปัจจุบันปี พ.ศ.  ๒๕๕๔  มีพระภิกษุจำพรรษา  ๑๗  รูป  สามเณร  ๕  รูป  อารามิกชน  ๗  คน     

ด้านการศึกษา   มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมเปิดสอน   เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๘๑   แผนกบาลีเปิดสอนเมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๘๖  จนถึงปัจจุบัน  มีศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เปิดสอนเมื่อ   พ.ศ.  ๒๕๒๙ – ๒๕๓๗  

ปัจจุบันถาวรสถานต่าง ๆ  ภายในวัด  ได้ชำรุดทรุดโทรลงไปมาก  ตามกาลเวลาที่ผ่านมายาวนานจนถึงปัจจุบันนี้  ๑๖๔  ปีแล้ว  ทางวัดได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ปรับปรุงซ่อมแซมมาโดยตลอด  ตามกำลังทุนทรัพย์ที่พอจะทำได้  ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยศรัทธาจากสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย   เพื่อที่จะช่วยกันรักษาบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามซึ่งเป็ดมรดกทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย  ให้คงอยู่ไปจนถึงอนุชนคนรุ่นหลังสืบไป.