ตำบลโพธิ์ศรีสว่าง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด

Wat That Uppmung

Pho Si Sawang Subdistrict, Phon Thong District, Roi Et Province

“วัดธาตุอุปมุง  ป่ายางสูงใหญ่ บุญบั้งไฟประจำปี  มีพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์”

ประวัติวัดธาตุอุปมุง

   วัดธาตุอุปมุง ตั้งอยู่เลขที่ ๖๔ บ้านสร้างบุ หมู่ ๓ ตำบลโพธิ์ศรีสว่าง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๙๔ ไร่ ๖๐ ตารางวา น.ส. ๓ เลขที่ ๑๑๓๙ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้ กำหนดเขตวัดเป็น โฉนดที่ดิน (น.ส.๔ จ) เลขที่ ๓๗๒๑๐ เนื้อที่ ๙๑ ไร่ ๒ งาน ๑๖ ตารางวา รอบแนวเขตวัดเป็นถนนสาธารณะ มีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง เนื้อที่ ๖ ไร่ ๒ งาน 

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย

            ๑. ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ 

            ๒. หอสวดมนต์ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐

            ๓. กุฎิสงฆ์ จำนวน ๕ หลัง เป็นอาคารไม้ ๑ หลัง เป็นครึ่งตึกไม้ถือปูน ๒ หลัง เป็นครึ่งเหล็กถือปูน ๒    หลัง ห้องน้ำ จำนวน ๒๕ ห้อง 

            ๔. หอไตร ๑ หลัง กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เป็นเรือนทำด้วยไม้สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ 

ปูชนียวัตถุ

             มีเจดีย์ธาตุอุปมุง ๑ องค์ พระพุทธรูป ๒ องค์

การบริหารการปกครอง มีเจ้าอาวาสที่ทราบนามดังนี้

              ๑. หลวงปู่สิงห์ทอง                 ๒. หลวงปู่ทองมา  ถาวโร

              ๓. หลวงปู่มาตย์                 ๔. หลวงปู่หู

              ๕. หลวงปู่ชาย                 ๖. หลวงปู่เอบ

         ๗. หลวงปู่ขั่ง                             ๘. หลวงปู่ชาย

         ๙. หลวงปู่สงวน                 ๑๐. หลวงปู่คำตา (ปู่หลง) สุริโย

         ๑๑. หลวงปู่ทอน(ปู่นู)                 ๑๒. หลวงปู่เคน

         ๑๓. พระทองแดง ชยธมฺโม (๒๕๕๐)  ๑๔. พระครูปริยัติธรรมากร (๒๕๕๕– ปัจจุบัน)

ตำนานพระธาตุอุปมุง

จากตำนานจารึกหลักฐานใบลานเป็นอักษรขอม โดยหลวงปู่ทองมา ถาวโร ซึ่งเคยมาจำพรรษาและสร้างพระธาตุต่อจากปู่สิงห์ทอง เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วได้ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนายังแคว้นต่าง ๆ ตลอดตามลุ่มแม่น้ำโขง จนเจริญรุ่งเรือง เมื่อพระองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระมหากัสสปะได้นำอุรังคธาตุมาบรรจุที่ภูกำพร้า (พระธาตุพนมปัจจุบัน) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๘ ระยะเวลาที่กำการก่อสร้างพระธาตุอยู่นั้นได้มีเจ้าเมืองจากหลายแห่งมาร่วมสร้างด้วย ยังมีพระยาแก้วกมทาเจ้าเมืองศรีลังกาได้ทราบข่าวดังนั้นจึงได้นำพระอังคาร (ฝุ่นเถ้าอัฐิ) ของพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์และชาวเมืองได้เดินทางมาเพื่อร่วมสร้างและบรรจุพระอังคารไว้ร่วมกับพระบรมสารีริกธาตุที่ภูกำพร้า เมื่อมาถึงบริเวณแห่งนี้ได้ทราบข่าวว่าพระธาตุสร้างเสร็จและปิดพระธาตุแล้ว จึงเห็นเนินดินแห่งนี้เป็นที่สูงและมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์จึงทำการก่อสร้างด้วยหินศิลาแลงเป็นรูปกระดองเต่าคว่ำแล้วนำพระอังคารประดิษฐานไว้แห่งนี้ ต่อมามีพระเถระได้ธุดงค์กรรมฐานมาพบและมาบำเพ็ญปฏิบัติมิได้ขาดบริเวณนี้จนมีพระเถระนามว่าหลวงปู่สิงห์ทองซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่ทองมา ถาวโร ท่านได้นำพาสร้างสถูปครอบเจดีย์องค์เก่าเป็นทรงสี่เหลี่ยมหลังคาตัดตรงกลางเป็นอุโมงค์ เข้าไปสักการะไหว้พระได้ แล้วท่านก็มรณภาพ จากนั้นหลวงปู่ทองมากลับจากธุดงค์กรรมฐานแล้วได้ดำเนินการต่อโดยพาชาวบ้านสร้างบุ บ้านป้อง นำดินจากหนองผำข้างวัดมาปั้นเป็นก้อนอิฐเผาเสร็จก็ทำการก่อพระธาตุให้สูงขึ้นไปอีกด้วยนำยางไม้บงมาเชื่อมประสานอิฐ แต่พอสร้างได้ถึงยอดยังไม่เสร็จพระธาตุก็มีการแตกร้าวเลยหยุดทำการก่อสร้างไว้เท่านี้ ต่อมาหลายปีด้วยน้ำฝนเซาะทำให้พระธาตุทรุดตัวลงอุโมงค์ก็ปิด ยอดพระธาตุก็พังลงมาจนเห็นเป็นซากดินที่ผุพังจนเท่าทุกวันนี้ยังไม่ได้มีการบูรณะแต่อย่างใด ยังความอาลัยแก่ผู้มาพบเห็นและกราบไหว้เป็นประจำ แต่ยังคงมีความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้มากราบขอพรขอบารมีอยู่เป็นนิตย์นิรันดร์

  ต่อมามีพระมาจำพรรษาและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจากรุ่นสู่รุ่นจนมารูปปัจจุบันคือพระครูปริยัติธรรมากร (พระมหาสุพรม ฐานวโร (ทิพมาลา)) ซึ่งเป็นพระมีถิ่นกำเนิดที่บ้านป้องห่างจากวัดธาตุอุปมุง ๑ กิโลเมตร ซึ่งบ้านป้องและบ้านสร้างบุเป็นบ้านพี่บ้านน้องกันโรงเรียนร่วมกันสายน้ำเดียวกัน ความผูกพันกับพระธาตุอุปมุงและเข้ามาทำบุญบูรณะร่วมกันอยู่ตลอดเวลาจึงได้มีการปรับปรุงเสนาสนะ สถานที่ต่างภายในวัดให้เหมาะสมแก่ผู้มาบำเพ็ญบุญและมาสักการะกราบไหว้พระธาตุอุปมุงให้สะดวกยิ่งขึ้น