ตำบลโพนทราย อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด
Wat Waree Kudaram
Phon Sai Subdistrict, Phon Sai District, Roi Et Province
ประวัติวัด
ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๘ บ้านโพนทราย หมู่ที่ ๑ ตำบลโพนทราย อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๖ ไร่ ๒งาน วัตถุมงคลประจำวัด คือ พระพุทธรูป “พระพุทธวารีรักษ์” ธาตุญาครูจันดีเจดีย์ และเรือยาว อายุ เกือบร้อยปี ๑ ลำ
กิจกรรมเด่นของวัด มีดังนี้
บรรพชาสามเณรเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทุกปี ปฏิบัติธรรมเทิดพระเกียรติฯ ประกวดสารภัญญะเทิดพระเกียรติฯ อบรมเข้าค่ายเยาวชน สถานีวิทยุกระจายเสียงพระพุทธวารีรักษ์ เป็นต้น ปัจจุบันมีพระภิกษุอยู่ประจำ ๑๔ รูป สามเณร ๒๕ รูป
รายนามเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม
รูปที่ ๑ พระอธิการเฒ่า พ.ศ. ๒๔๑๐ – ๒๔๒๖
รูปที่ ๒ พระอธิการศิลา พ.ศ. ๒๔๒๖ – ๒๔๔๗
รูปที่ ๓ พระอธิการจันดี พ.ศ. ๒๔๔๗ – ๒๔๙๘
รูปที่ ๔ พระอธิการจันทร์ พ.ศ. ๒๕๙๘ – ๒๕๑๘
รูปที่ ๕ เจ้าอธิการสมัย ขนฺติโก พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๒๓
รูปที่ ๖ พระอุปัชฌาย์ลา กิตฺติธมฺโม พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๔๑
รูปที่ ๗ พระครูสุนทรวารีรักษ์ (ปุ่น สุจิตฺโต) พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๕๗
รูปที่ ๘ พระครูบวรวารีพิทักษ์ (ณรงศักดิ์ อริยวํโส) พ.ศ. ๒๕๕๗ – ปัจจุบัน
พระครูบวรวารีพิทักษ์
ประวัติบ้านโพนทราย
บ้านโพนทราย ตำบลโพนทราย อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด อาณาเขต ทิศเหนือ จรดลำน้ำเสียว (หนองฮี) ทิศใต้ จรดดงกู่ ทิศตะวันออก จรดอำเภอศิลาลาด ทิศตะวันตก จรดบ้านหนองครก บ้านหนองบัวและบ้านหนองบัวดอนต้อน ระยะทางถึงอำเภอ ๑ กิโลเมตร บ้านโพนทรายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบันได้แยกออกเป็น ๕ หมู่บ้าน เพื่อสะดวกในการปกครอง คือ หมู่ที่ ๑ หมู่ ๒ หมู่ ๙ หมู่ ๑๒ หมู่ ๑๔ มีทั้งหมด ๘๕๐ ครัวเรือน มีประชากรประมาณ ๒,๓๒๘ คน สภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพหมู่บ้านเป็นเนินดินร่วนปนทรายที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดปี ส่วนที่นาเป็นที่ราบลุ่มมีลำน้ำเสียวไหลผ่าน สภาพอากาศ เป็นแบบร้อนชื้น มีฝนตกชุกในฤดูฝน แห้งแล้งในฤดูแล้ง อาชีพประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ค้าขาย รับราชการ ทำสวน ประกอบอาชีพรับจ้าง ตามลำดับ บ้านโพนทรายตั้งอยู่ที่เนินสูง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า โพน
แล้วมีพื้นที่เป็นดินทราย ชาวบ้านเข้ามาอยู่จึงตั้งชื่อว่า บ้านโพนทราย ตามทำเลที่ตั้ง บ้านโพนทรายเดิมอยู่ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จากคำบอกเล่าคนเฒ่าคนแก่คือ พ่อใหญ่ธรรมตัน พลขีดขีน อายุ๙๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๔๐) ได้บอกว่าชาวบ้านกลุ่มแรกประมาณ ๒ – ๓ ครัวเรือน ได้อพยพเดินทางด้วยเท้ามาจากบ้านโพนสูง อำเภอสุวรรณภูมิ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากทางเวียงจันทร์ ราวปี พ.ศ. ๒๒๕๖ โดยอาจารย์แก้ว ซึ่งได้อพยพลงมาพร้อมขบวนพระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) และชาวบ้าน ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งบ้านเมืองอยู่นครจำปาสัก และได้มาอยู่เมืองท่ง ย้ายมาอยู่เขตตำบลดงเท้าสาร (อำเภอสุวรรณภูมิ) ต่อมาได้โปรดเกล้าให้เป็นเมืองสุวรรณภูมิราชบุรีประเทศราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๕ (สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี) อยู่กันเรื่อยมา จนกระทั่งในราวปลายสมัยรัชกาลที่ ๗ ชาวบ้านซึ่งนำด้วยพ่อใหญ่พิมพ์ มะโทน และพ่อใหญ่หรั่ง สาเหตุที่ย้ายมาเนื่องด้วยบ้านเรือนมากขึ้น การทำมาหากินไม่เพียงพอจึงย้ายมาที่ใหม่ จึงเดินทางมาจับจองที่และได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นที่ดอนกกยาง (ปัจจุบันยังเหลือต้นยางอายุประมาณ ๒๐๐ ปี หลายต้น) และชาวบ้านที่อพยพมาก็ได้ทำมาหากินที่ในบริเวณนี้ จนจำนวนครอบครัวมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เนื่องจากต่อมาเกิดไฟไหม้บ้านขึ้นทุกปี ชาวบ้านจึงได้ย้ายบ้านออกจากดอนกกยางมาทางทิศตะวันตก ซึ่งก็คือบ้านโพนทรายในปัจจุบัน