วัดศรีสุพนอาราม
ตำบลหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
Wat Si Supon Aram
Nong Chang Yai Subdistrict, Muang Sam Sip District, Ubon Ratchathani Province
ความเป็นมา
บ้านหนองช้างน้อย ตำบลหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๖๕ โดยได้แยกตัวออกจากบ้านหนองช้างใหญ่ เนื่องจากอยู่ไกลที่ทำมาหากิน หลังจากตั้งหมู่บ้านเสร็จก็ได้ก่อตั้งวัดขึ้น ซึ่งที่แห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพวกข่าและขอมโบราณอาศัยอยู่ สังเกตุได้จากมีหมู่บ้านร้างของพวกข่าและขอมกระจายอยู่โดยทั่วไป เช่น ดงบ้านกรุง ดงบ้านสังข์ ดงบ้านทม ดงบ้านแขม ปัจจุบันเป็นที่สาธารณะประโยชน์ของตำบล ต่อมาเมื่อชาวบ้านซึ่งเป็นพวกลาวดั้งเดิมอพยพมาพร้อมกับการตั้งเมืองอุบลราชธานีได้เข้ามาอาศัยอยู่แทนหมู่บ้านเหล่านี้ ได้ขุดพบข้าวของเครื่องใช้ของพวกขอมโบราณมากมาย เช่น ไห 4 หู พระพุทธรูปโบราณ พระอาจารย์ฉลอง ธัมฺมิโก ซึ่งเป็นคนดั้งเดิม มีบรรพบุรุษอาศัยอยู่หมู่บ้านเหล่านี้ ได้เห็นความสำคัญวัตถุโบราณของเครื่องใช้มากมายโดยครั้งแรกได้จัดหาทรัพย์ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ต่อมาลูกหลานได้เห็นความสำคัญจึงได้ทอดผ้าป่าสมทบทุนก่อสร้างพิพิธภัณฑ์จนเสร็จเรียบร้อย
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีสุพนอาราม จึงถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งแรกของอำเภอม่วงสามสิบเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่งของคนในท้องถิ่นนี้ที่ได้แสดงออกถึงการอนุรักษ์และสืบทอดทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษและแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนเป็นอย่างยิ่ง
บันทึกการค้นพบเรือโบราณ เจ้าแม่ตะเคียนทอง อายุ ๒๐๐ ปี
เรือโบราณลำนี้ค้นพบในลำเซบก อยู่ระหว่างบ้านหนองช้างน้อย ตำบลหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และบ้านหนองหัวลิง ตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี โดยตัวเรือฝังจมอยู่ในน้ำลำเซบกอยู่ริมฝั่งบ้านหนองช้างน้อย ชื่อวังวัดท่า โดยหางเรือโผล่ขึ้นมาเหนือดินเล็กน้อย แต่จมอยู่ใต้น้ำ หัวเรือหันไปทางด้านต้นน้ำ คือ ลำเซบก มีต้นกำเนิดในเขตอำเภอเมือง และอำเภอลืออำนาจ (บ้านอำนาจน้อย) และอยู่ใกล้จากห้วยพระเหลาที่ไหลมาบรรจบลำเซบก ประมาณ ๑ กิโลเมตร โดยมีชาวบ้านหนองช้างใหญ่ คือ นายบุญเพ็ง รังทอง ไปหาปลาในเขตลำเซบก พบว่า มีขอนไม้ขนาดใหญ่จมอยู่ใต้น้ำ ด้วยความสงสัยจึงสำรวจดูใต้น้ำพบว่ามีลักษณะคล้ายเรือมาก จึงบอกนายประไพ เขียวสวัสดิ์ แล้วไปเล่าให้พระอาจารย์ฉลอง ธมฺมิโก วัดหนองช้างน้อยทราบ ซึ่งท่านมีความสนใจในการอนุรักษ์ของเก่าและเก็บรวบรวมวัตถุมีค่าไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีสุพนอาราม บ้านหนองช้างน้อย
ก่อนหน้านี้อาจจะมีคนค้นพบอยู่ก่อนแล้วแต่ไม่ได้สนใจและไม่คิดว่าจะเป็นเรือขนาดใหญ่ โดยหลังจากขุดแล้วพบว่า เรือมีความกว้าง ๑.๘๕ เมตร ยาว ๒๑.๖๐ เมตร และคาดว่าได้ขาดหายไปประมาณ ๓-๕ เมตร พระอาจารย์ฉลอง ธมฺมิโก จึงได้นำประชาชนชาวบ้านหนองช้างน้อย ชาวบ้านหนองช้างใหญ่ และชาวบ้านใกล้เคียงทำการขุดเรือขึ้นมาจากลำเซบก ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ ใช้เวลาขุดทั้งสิ้น ๒ วัน จนวันที่สามจึงได้นำรถแมคโฮร์มาขุด จึงสามารถนำเรือขึ้นมาจากน้ำได้ ระหว่างทำการขุดเรือทั้ง ๓ ปรากฏว่าฝนตกทั้ง ๓ วัน อากาศครึ้มสบายดีเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ ถึงวันที่ วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ จึงเคลื่อนตัวเรือจากลำเซบก ใช้เวลา ๘ ชั่วโมง ประมาณ ๒ ทุ่ม โดยใช้ปริมาณคน ๓๐๐ คน จึงสามารถเคลื่อนที่โดยการใช้คณะกลองยาวบ.หนองช้างน้อยและบ้านหนองช้างใหญ่ ร่วมแห่ขบวนเรือมา ในระหว่างการขุดพบเรือโบราณขนาดใหญ่ที่ลำเซบก ทำให้ประชาชนเดินทางมาเยี่ยมชมเรือโบราณอย่างมากมายและต่อเนื่องมาโดยตลอด