
วัดอัมพวัน
ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
Wat Amphawan Nai Mueang Subdistrict, Mueang Yasothon District, Yasothon Province

ความเป็นมา
วัดอัมพวัน ตั้งเมื่อ พศ. ๒๔๐๒ เดิมมีชื่อว่า วัดป่า โดยมีพระสุนทรราชวงศา และอุปฮาดเงาะพร้อมด้วยญาติพี่น้องได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๑๖ เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ รูปที่ ๑ พระต่อ รูปที่ ๒ พระจิตตโสธนาจารย์ รูปที่ ๓ พระใบฎีกาพุฒ รูปที่ ๔ พระชาลี รูปที่ ๕ พระมหาเขียน รูปที่ ๖ พระราชมงคล พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๕๔๙ โดยปัจจุบันมี พระเดชพระคุณ พระอุดมปัญญาภรณ์ (สัณหวัตร สณฺหวฑฺฒโน ป.ธ.๖) รองเจ้าคณะจังหวัดยโสธร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน
ปัจจุบันวัดอัมพวัน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๙ ถนนศรีบำรุง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

รอยพระพุทธบาท วัดอัมพวัน
วัดอัมพวันอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองยโสธร เพียง ๔๐๐ เมตร ลักษณะสภาพของวัดอัมพวันเป็นวัดเก่าแก่ ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อครั้งที่เมืองยโสธรมีเจ้าเมืองตามการปกครองหัวเมืองลาว มีอุโบสถและมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท ตัวรอยพระพุทธบาทสร้างขึ้นจากหินทรายสีแดง กว้างประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ยาว ๓ เมตร ตรงตัวรอยขุดเจาะหินเป็นรอยเท้า ส่วนขอบรอยมีลายสลัก ลักษณะหินเป็นลายคล้ายก้านขด ฐานด้านล่างเป็นรอย กลีบบัวซ้อนเหลื่อมกัน

มีประวัติจากพงศาวดารยโสธรว่า พระสุนทรราชวงศา (ศรีสุพรหม) ได้ยกทัพไปปราบฮ่อที่เมืองหนองคาย และรบชนะ พระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) จึงพระราชทานยศ “เจ้าอุปฮาด” (อุปราช) มีความปลื้มปิติจึงพาญาติพี่น้อง บ่าว ไพร่ ไปเลือกหินจากลำห้วยทวน ข้างบ้านสิงห์โคก มาสร้างเป็นรอยพระพุทธบาทและประดิษฐานบนแท่น ชาวบ้านเรียกว่า “หอพระบาท”


















