ตำบลขวัญเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
Wat Selaphum Wanaram Khwan Mueang Subdistrict, Selaphum District, Roi Et Province

ความเป็นมา
วัดเสลภูมิวานาราม ตั้งอยู่คุ้มบ้านคำหมากเว หมู่ที่ ๑ ตำบลขวัญเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัด มีเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๓ งาน วัดก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ชาวบ้านเรียกว่า วัดวิปัสสนา เพราะอยู่ในเขตอำเภอเสลภูมิ เป็นศูนย์รวมของแต่ละตำบลในอำเภอเสลภูมิ จำนวน ๙ ตำบล ได้มาประชุมและสอบนักธรรมพร้อมมีการจัดอบรมวิปัสสนาธุระอยู่เสมอ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ในครั้งนั้น พระครูเสโลประษะคุณ เจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ พระครูสารธรรมนิเทศ (หลวงปู่มา ญาณวิโร) ได้ปรึกษาหารือในการตั้งวัดใหม่ จึงตั้งชื่อว่า วัดเสลภูมิวนาราม

อาณาเขต
ทิศเหนือ จรดทางป่าสาธารณะประโยชน์
ทิศใต้ จรดทางถนนแจ้งสนิทเลขที่ ๓๖
ทิศตะวันออก จรดสำนักงานสาธารณสุข
ทิศตะวันตก ติดศูนย์เพาะชำกล้าไม้

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย
๑. อุโบสถ ๑ หลัง กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒
๒. ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง กุฎิสงฆ์ ๑๗ หลัง

ปูชนียวัตถุ
๑. พระพุทธรูป จำนวน ๑ องค์ หน้าตัก ๕๙ นิ้ว สูง ๗๑ นิ้ว
๒. พระนาคปกพระประจำสี่มุมเมืองเสลภูมิ สูง ๓.๒๙ เมตร กว้าง ๒.๑๙ เมตร

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม ดังนี้
รูปที่ ๑ พระปลัดธารี ธมฺมธุโร
รูปที่ ๒ พระครูพิพัฒธรรมากรณ์ (รองเจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ)
รูปที่ ๓ พระสมุห์สนอง
รูปที่ ๔ พระครูวิชิตเสลคุณ (เจ้าคณะตำบลขวัญเมือง) และเป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเป็นต้นมา

ประวัติพระพุทธปัจฉิมเทวาภิทักเขต (พระนาคปรกกรุเมืองไพร)
พระพิมพ์นาคปรกเนื้อดิน กรุเมืองไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ยุคทวารวดี แตกกรุครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๑๗ ที่บ้านเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ มีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่มีสภาพไม่สมบูรณ์ พระกรุเมืองไพรเป็นพระกรุที่มีอายุการสร้างประมาณ ๑๒๐๐ – ๑๔๐๐ ปี ยุคเดียวกับ กรุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม กรุฟ้าแดดสูงยาง อำเภอกมลาไส จังหวัดกาฬสินธุ์ และ กรุกันทรวิชัย อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นศิลปะยุคทวารวดี “พระนาคปรกเมืองไพร” เมื่อได้นำขึ้นมาจากกรุใต้ดินหลังบ้าน นางทองม้วน พบว่ามีจำนวนทั้งหมดประมา ๓,๐๐๐ องค์ แต่ก็มีพระที่ชำรุดหักเสียถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นพระเครื่องเนื้อดิน มีทั้งละเอียด หยาบ และเป็นพระพิมพ์ นาคปรกทั้งหมดทั้งในเวลาต่อมาพระเครื่องพิมพ์นี้ก็ได้ขนานนามว่า “พระกรุเมืองไพร” พระนาคปรกกรุเมืองไพรนี้ เป็นพระเครื่องที่ค่อนข้างมีขนาด ๓ – ๖.๘ ชม. บางองค์ติดลึกคมชัด บางองค์ตื้น บางองค์ปีกกว้าง ส่วนใหญ่มีสองสีคือ แดงกับเหลือง สีออกเขียวก็มีแต่น้อยพระบางองค์ก็จะมีฝ้ากรุราดำเป็นดวงหุ้มอยู่แน่นหนา

พระพุทธรูปประจำอำเภอเสลภูมิ
ทางอำเภอเสลภูมิจึงมีการดำเนินการสร้างพระพุทธรูปประจำทิศทั้งสี่โดยการปรารภของพระมงคลญาณเถระ (หลวงปู่มา ญาณวโร) โดยได้ดำเนินการในสมัย นายอำเภอกฤษ ธนะรัตน์ และได้สำเร็จในสมัยท่านนายอำเภออภัย วุฒิโสภากร โดยประดิษฐานไว้ประจำทั้ง ๔ ทิศ โดยนำเอาพระกรุเมืองไพรเป็นแบบพิมพ์
๑. ด้านทิศตะวันออก ประดิษฐาน ณ วัดป่าบ้านโนนสว่าง ตำบลบึงเกลือ
๒. ด้านทิศใต้ ประดิษฐาน ณ วัดสำราญรมย์ ตำบลนางาม
๓. ด้านทิศตะตก ประดิษฐาน ณ วัดป่าเสลภูมิวนาราม ตำบลขวัญเมือง
๔. ด้านทิศเหนือ ประดิษฐาน ณ วัดบ้านหนองเรือ ตำบลหนองหลวง