วัดมหาธาตุ (พระอารามหลวง)

ตำบลในเมือง  อำเภอเมืองยโสธร  จังหวัดยโสธร

Wat Mahathat (Phra Aram Luang)

Nai Mueang Subdistrict, Mueang Yasothon District, Yasothon Province

หน้า 6 พระธาตุอานนท์ – พระธาตุอานนท์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๒๑๘ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระอานนท์ ซึ่งนำมาจากเทวนครประเทศอินเดีย มีแห่งเดียวในประเทศไทย

หน้า 7 พระพุทธบุษยรัตน์ หรือ พระแก้วหยดน้ำค้าง – พระบุษยรัตน์ หรือ พระแก้วหยดน้ำค้าง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยเชียงแสน ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๙นิ้ว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวยโสธร  โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๓ พระราชทานให้กับ พระสุนทรราชวงศา (พระครูหลักคำกุ)

ความเป็นมา

ด้วยวัดมหาธาตุ พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ มีประวัติความสำคัญ คือ จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ ลงจารึกไว้เมื่อ จุลศักราช  ๑๒๕๙  (พ.ศ.๒๔๔๐) ตรงกับวันที่  ๒๘ ร.ศ.๑๑๕ ความว่า พระวรวงศา (พระวอ) ตำแหน่งเสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทร์ผิดใจกันกับพระเจ้าสิริบุญสาร ผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) จึงพาพวกพ้องพงศ์พันธุ์มีท้าวก่ำ (บุตร) ท้าวฝ่ายหน้า (ต่อมาได้รับความดีความชอบ ความยกทัพไปปราบกบฏเชียงแก้วและฆ่ากบฏได้ รัชกาลที่ ๑ โปรดให้ตั้งท่านเป็น เจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศา) ท้าวคำผง และท้าวทิดพรม จะไปอาศัยอยู่กับเจ้าไชยกุมารผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ครั้นมาถึงดงสิงห์โคก สิงห์ท่า เห็นเป็นชัยภูมิที่ดี จึงพากันตั้งบ้าน พวกหนึ่งตั้งที่บ้านสิงห์โคก (บ้านสิงห์) อีกพวกหนึ่งไปสร้างเมืองที่บ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธร) ส่วนพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรม ท้าวก่ำ พากันไปอาศัยอยู่กับเจ้าไชยกุมารผู้ครองนครจำปาศักดิ์

ต่อมาเมื่อปีจุลศักราช ๑๑๔๐ (พ.ศ. ๒๓๒๐) ท้าวฝ่ายหน้าพร้อมด้วยไพร่พลขอแยกไปอยุ่ที่บ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธร) และต้องการที่จะสร้างบ้านสิงห์ท่าให้เจริญ จึงได้ปรับปรุงพัฒนาบ้าน จากนั้น ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำสิงห์ ท้าวคำผง พร้อมด้วยพี่น้อง พากันพร้อมใจกันสร้างวัดมหาธาตุนี้ขึ้น เมื่อพ.ศ.๒๓๒๑ (เดิมชื่อวัดทุ่ง  เพราะติดกับทุ่งนา) วัดนี้เป็นวัดแรกเป็นมิ่งขวัญของเมืองยโสธร เพราะสร้างขึ้นเป็นวัดแรก วัดมหาธาตุนี้ เป็นวัดที่มีเกียรติยศ เพราะเป็นวัดของเจ้าผู้ครองนครประเทศราช คือ เจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศา เป็นผู้สร้างขึ้น และวัดนี้ดำรงฐานะเป็นวัดเจ้าคณะเมือง และปัจจุบันก็เป็นวัดของเจ้าคณะจังหวัดยโสธรด้วยนับว่า เป็นวัดมิ่งขวัญเมืองอย่างศักดิ์สิทธิ์แท้จริง

โบราณสถาน / อาคารเสนาสนะที่สำคัญ

๑. พระอุโบสถ สร้างเมื่อ  พ.ศ. ๒๕๑๗

๒. พระธาตุพระอานนท์ สร้างเมื่อ  พ.ศ. ๑๒๑๘

๓. หอไตร สร้างเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๗๕

๔. ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๙๕

พระธาตุพระอานนท์  วัดมหาธาตุ (พระอารามหลวง) จังหวัดยโสธร

ข้าพเจ้านามกรชื่อว่า เจตตานุวิน  ผู้สร้างพระธาตุไว้  คือว่าพระธาตุนี้สร้างแล้ว เมื่อพุทธสังกาศล่วงแล้วได้พันสองฮ้อยสิบแปดปี  ได้พร้อมกันกับ จินดาชานุ ผู้เป็นน้อง  คือว่า  ท่านองค์นี้เป็นลูกน้องแม่ของตู  สร้างแปดเดือนกับซาวห้ามื้อจึงแล้วท่านเอย  ข้าพเจ้าเกิดอยู่เวียงจันทน์   ได้พากันออกบวชทำความเพียรนานนับว่าได้สามปีปลายซาวห้ามื้อ  เห็นว่าท้าวพระยาทั้งหลายนับถือดอนปู่ปาวเป็นบ่อนไหว้  เถิงปีเดือนก็ป่าวกันไปไหว้  ข้าพเจ้าจึงว่าที่นี่ตูจักไปเอาของศักดิ์สิทธิ์มาไว้  เพื่อว่าจักได้เป็นมงคลสืบต่อไปภายหน้า  จึงได้เดินกัมมัฎฐานไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ไปสืบไต่ตามทาง  นานประมาณว่าได้สองปีปลายสิ้นเดือนสิบเอ็ดวัน  จึงไปฮอดเมืองเทวทหนคร  ไปได้เถิงแล้ว  เห็นคนทั้งหลายก่อสร้างพระธาตุ  พร้อมทั้งเสนาท้าวพระยาน้อยใหญ่  ถือว่าบ่อนพระธาตุอันเก่าอยู่คับแคบในเมื่อเสนาไปไหว้  พระยาในเมืองเทวทหนครพากันสร้างเจ็ดเดือนจึงแล้วท่านเอย  ท้าวพระยาทั้งหลายจึงอัญเชิญพระธาตุแล้วไขปากตูเข้าไปได้สามชั้น  เห็นหีบเงินสามชั้น  ไขหีบเงินแล้วเห็นหีบคำเจ็ดชั้น  ไขหีบคำแล้วเห็นหีบแก้วไพรฑูรย์สองชั้น  ไขหีบแก้วไพรฑูรย์แล้วเห็นผ้ากะจ๋าคำห้าฮ้อยชั้น  จึงเห็นผ้าสีขาวอันอ่อนเหมือนดังสำลีหลายชั้น  จึงเห็นดูกแลฝุ่น  จึงถามเขาว่า  เป็นดูกพระอานนท์  ข้าพเจ้าจึงถามเขาอีกว่า  ธาตุองค์นี้เป็นมาดังลือจา  เขาบอกว่า  เป็นมาแต่ปู่บอกกล่าวกันมา  ตูข่าจึงนับถือจนบัดนี้  คือว่าพระอานนท์ได้อธิฐานกระดูกแตกออกเป็นสองเคิ่ง เคิ่งหนึ่งจึงได้แก่เมืองตูข่าทั้งหลาย  เมื่อได้ฟังดังนั้น  ข้าพเจ้าจึงอธิฐาน แล้วแต่งเครื่องบูชาด้วยของต่าง ๆ พระธาตุนั้นก็บังเกิดมีลมพัดผ้ากะจ๋าคำขึ้นไปบนอากาศ  แล้วข้าพเจ้าจึงอธิษฐานในใจ  ผ้าก็ตกลงมาทั้งห้าฮ้อยชั้น  นี่ก็เป็นอัศจรรย์อยู่  จึงได้ขอวิงวอนวานเทิงท้าวพระยาหลายวัน  จึงได้ผงธุลีประหมานท่อว่าได้เต็มเปลือกไข่นกกระเรียน  กับกระดูกเท่าดอกสังวาล  ได้นำมาเถิงเวียงจันทน์นานประหมานว่า  ได้ปีปลายสิบเอ็ดเดือนก็มาเถิงแล้ว  แลว่าจัดสร้างพระธาตุบรรจุอัฐิ  เกิดความติฉินนินทาว่า  ผิดฮีดบูฮาน  จึงได้ไล่ข้าพเจ้าหนีมาอยู่นำขอมนานว่าได้สามปี  จึงได้ชักชวนขอมชื่อว่า  เอียงเวธา  ผู้เป็นใหญ่มาสร้างไว้ในดงผีสิง ๆ นี้ไกลจากบ้านคน เจ็ดฮ้อยชั่วขาธนู  อูบหีบเป็นดังสิงห์ใส่เครื่องสร้างพระธาตุ  ฝังไว้ในทิศพายัพไกลฮ้อยเจ็ดชั่วขาธนู  แลสิ่งของในพระธาตุก็มีหลายสิ่ง  เมื่อคนทั้งหลายอยากฮู้แจ้งจงเบิ่งในประวัติเล่มใหญ่แลท่านเอย  อันหนึ่งเขียนใส่แผ่นทองแดงไว้แจพระธาตุทิศตะวันตกทางใต้  อันหนึ่งแผ่นทองคำธรรมชาติไว้ใต้พื้นพระธาตุ  เพื่ออยาก   จื่อแจ้งสิ่งของในพระธาตุให้ไปเบิ่งประวัติธาตุ  อยู่นำเอียงเวธาเจ้าบ้าน  แลเป็นผู้สร้างด้วยแล  พร้อมทั้งบ้านน้อยเมืองใหญ่  ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า  พระธาตุลูกนี้เป็นพระธาตุพระอานนท์แท้แล  เมื่อท่านทั้งหลายก่อสร้างขึ้นใหม่  อย่าให้สูงเกินพระธาตุทรวงอกของพระพุทธเจ้าจักบ่ออยู่สำบาย  เพราะว่าจักเกิดฟ้าผ่ามุ่นลงแลท่านเอย  เมื่อคนทั้งหลายเห็นประวัตินี้แล้ว  อย่าทำลายเป็นอันขาด  เผื่อว่าจักให้คนทั้งหลายได้เห็นจักได้สืบสร้างต่อกันไปหลายคนท่านเอย  ไผทำลายพระธาตุลูกนี้  มีบาปกล้าประมาณท่อภูเขาแลท่านเอยฯ

หอไตรกลางน้ำ

ตั้งอยู่กลางสระน้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุอานนท์ ภายในเป็นที่เก็บรักษาหนังสือใบลานพระ
ไตรปิฎก พร้อมหีบใส่พระไตรปิฎก เสลี่ยงชั้นวางคัมภีร์ และวัตถุโบราณต่าง ๆ ซึ่งนำมาจากเวียงจันทร์ หลังจากที่พระครูหลักคำกุ เรียนพระธรรมจนมีความรู้แตกฉานหวังนำพระคัมภีร์ธรรม และพระไตรปิฎกมาให้พระสงฆ์สามเณรได้ศึกษาเล่าเรียน ด้วยความศรัทธาของชาวเมืองยศสุนทร จึงได้ขุดสระและสร้างหอเก็บหนังสือขึ้น โดยช่างหลวงจากกรุงเทพฯ มาเขียนลายรดน้ำปิดทองอย่างงดงาม และเมื่อวันที่ ๕ ก.ค. ๒๕๕๑ ทางหน่วยอนุรักษ์ศิลปกรรม กรมศิลปกรที่ ๑๑ อุบลราชธานี ได้มาทำการบูรณะหอไตรใหม่