ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
Wat Fang Min 
Rimkok Subdistrict, Mueang District, Chiang Rai Province

ข่าวประชาสัมพันธ์

ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมเป็นเจ้าภาพ โครงการบรรพชา – อุปสมบท พระภิกษุสามเณร ภาคฤดูร้อนประจำปี ๒๕๖๕

ความเป็นมา
วัดฝั่งหมิ่น
ตั้งอยู่ในหมู่บ้านฝั่งหมิ่น เลขที่ ๓๐ หมู่ ๖ ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำแม่กก ด้านทิศตะวันออกของเทศบาลเมืองเชียงราย ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำกก ๑ กิโลเมตร การเดินทางไปวัดฝั่งหมิ่นสามารถไปได้ ๒ ทางคือทางน้ำโดยทางเรือ ไปตามลำน้ำกก ทางบกมีถนนไปวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงรายผ่านหน้าวัด

วัดฝั่งหมิ่น เป็นวัดที่ไม่ปรากฏชื่อของผู้สร้างวัดนี้เป็นที่แน่นอนหรือเด่นชัด แต่จากการตรวจสอบซากวัตถุที่มีอยู่เดิม และจากการสันนิษฐานของซากเศษอิฐ ชิ้นส่วนบางรายการของพระพุทธรูปหิน และวัสดุที่ค้นพบในบริเวณวัด รวมทั้งตำนานที่มีอยู่บางส่วน และคำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ ทำให้สันนิษฐานว่า เป็นวัดที่มีมาช้านาน แต่เนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำกก ทางเดินของน้ำได้ไหลเปลี่ยนทิศทาง เซาะตลิ่งจนถึงบริเวณวัดทำให้วัดล่มสลายลง แต่เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนักที่กระแสน้ำไม่ได้พัดพาเอาเศษอิฐ และวัสดุของใช้ภายในวัดแต่เดิมให้ไหลไปตามน้ำ ต่อมาทางน้ำได้ไหลเปลี่ยนทิศทางอีก ทำให้บริเวณวัดเดิมเกิดมูลดินทรายโผล่พ้นเป็นเกาะขึ้นมากลายเป็นวัดร้างปรากฏให้เห็นเฉพาะฐานรากพระวิหาร เศษวัสดุดั้งเดิมของวัด เช่น อิฐ ไม้ ซากพระพุทธรูปหินมากมาย ชาวบ้านจึงช่วยกันขุดค้นตกแต่งฐานพระวิหารแล้วทำการบูรณปฏิสังขรณ์ สร้างเป็นวัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณกว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว ขณะเดียวกันในช่วงที่วัดดั้งเดิมอยู่บริเวณฝั่งน้ำก่อนที่น้ำจะเซาะตลิ่ง และวัดล่มสลายนั้น บริเวณหน้าวัดเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่ เป็นที่จอดเรือค้าขายของชาวจีนและชาวลาวจากลานช้าง ที่ล่องเรือตามลำน้ำกกมาค้าขายกับชาวเชียงรายบ่อยครั้งและได้มีชาวจีนคณะหนึ่งนำเรือยาวประมาณ ๑๕ เมตร บรรทุกสินค้ารวมเครื่องราชบรรณาการจะมาถวายพ่อขุนเม็งราย เรือเกิดล่มจม ณ บริเวณวัด คาดว่าซากเรือพร้อมสินค้ารวมทั้งเครื่องราชบรรณาการที่มีค่ามหาศาลถูกฝังอยู่ ณ บริเวณวัดปัจจุบัน โดยไม่ทรายว่าเป็นจุดใด และยังไม่มีผู้ขุดค้นขึ้นมาได้ตราบจนทุกวันนี้ ชาวบ้านที่ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ได้เล่าขานต่อกันมา โดยเรียกวัดที่บูรณะแล้วว่า“วัดฝั่งหมิ่น” ปัจจุบันมีผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันสร้างถาวรวัตถุเพื่อพระพุทธศาสนาสืบต่อมา จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๗ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๒ จนถึงปัจจุบัน 

ประวัติเจ้าอาวาส

พระครูขันติพลาธร ฉายา ขนฺติพโล อายุ ๗๕ พรรษา ๕๕ วิทยฐานะ น.ธ.เอก, ปัจจุบัน สังกัดวัดฝั่งหมิ่น ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ปัจจุบัน มีพระภิกษุจำพรรษา ๑๔ รูป สามเณร ๕๙ รูป

รายนามเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดฝั่งหมิ่นตามหลักฐานที่ปรากฏมีรายนามดังต่อไปนี้

๑. พระกา

๒. พระครูบาอภัย พ.ศ. ๒๓๕๑

๓. พระกันทา

๔. พระว๊อก

๕. พระพรม

๖. พระเมืองใจ

๗. พระจันทร์ตา พ.ศ. ๒๔๖๖

๘. พระบุญปั๋น

๙. พระคำแปง จนฺทวงฺโส

๑๐. พระอุ่นเรือน พรหมฺสโร

๑๑. พระสมบูรณ์ สุปุญโญ

๑๒. พระสิงห์แก้ว ขนฺติพโล พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๔๙๙

๑๓. พระสาร

๑๔. พระยศ

๑๕. พระอินปั๋น ฐิตธมฺโม พ.ศ. ๒๕๐๑ – ๒๕๐๔

๑๖. พระสมบัติ ชนฺติพโล พ.ศ. ๒๕๐๕ – ๒๕๐๗

๑๗. เจ้าอธิการดวงทิพย์ ฐานจาโร พ.ศ. ๒๕๐๘ – ๒๕๒๐

๑๘. พระครูขันติพลาธร (บุญยวง ขนฺติพโล) ๑๒ เดือนพฤษภาคม
                  พ.ศ.๒๕๒๐ – ปัจจุบัน

เรื่องราวของประตูวัดฝั่งหมิ่น

(ทิศเหนือ) นวขันติธรรมไชยศรี  ประตูของผู้มีธรรมคือตบะ ๙ ประการสู่ชัยชนะอันประเสริฐ

อัญเชิญ = ครูบาอภัย คิดสิ่งใดสมใฝ่ปอง ความผาสุก ร่มเย็น ปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายสารพัด ทำอะไรที่ผิดพลาดไปจะได้รับการให้อภัยทาน มีชีวิตที่ราบรื่น  สุขทั้งกายสุขทั้งใจเหมือนน้ำเย็นหุ้มห่อไว้ตลอดเวลา มีลาภ ยศ อายุ สุขะ พละ

(ทิศตะวันตก) โมรีภิรมย์ทิศา เสริมเมตตามหานิยม 

อัญเชิญ = เจ้าแม่เทพอัปสร ดึงดูดโชคลาภ ผู้คนหลงใหล จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ความรักก็จะมั่นคงและราบรื่น มีคนหลงรัก ไปทางไหนทิศใดจะมีแต่คนคอยช่วยเหลืออุปถัมภ์ คนไม่มีคู่จะสมหวังดังหมายปอง

(ทิศตะวันออก) ไอยราปิยบงกช= เสริมขอโชคขอลาภ 

อัญเชิญ = ครูบาก๋ำ ลาภยศบริบูรณ์สมประสงค์ ทั้งจะอายุยืนยาว การค้าขายเจริญรุ่งเรือง สมดังปรารถนาทุกประการ

(ทิศใต้) มหรรณพสีหราชนันทา= เสริมอำนาจ วาสนา บารมี 

อัญเชิญ = ครูบาก๋า ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ ชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นเจ้าคนนายคน มีอำนาจบารมี มีผู้คนนับหน้าถือตา ทำการสิ่งใดไม่มีอุปสรรค การงานก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง ความแคล้วคลาดปลอดภัย

ความหมายของชื่อวัดฝั่งหมิ่น

ฝั่ง หมายถึง แผ่นดินที่อยู่ติดขอบ, ริมสุด หรือติดต่อกับ เช่น ฝั่งน้ำ, ฝั่งขวา เป็นต้น

หมิ่น หมายถึง ๑. สิ่งที่เกิดจากการเผาไหม้ มีสีดำเหมือนเขม่า

๒. เป็นลักษณะหรืออาการที่เกือบหลุด หรือหล่นไป เช่น หมิ่นเหม่

              ๓. เป็นภาษาท้องถิ่นของภาคเหนือ หมายถึง ใกล้ ชิด ติด ขอบ เกือบ จะหล่น เกือบจุหลุดหรือเกือบจะร่วงไปรวมทั้งเรียก เขม่า  ว่า  หมิ่น

สรุป คำว่าฝั่งหมิ่น หมายถึง แผ่นดินที่เกือบจะหลุด หรือจะพังลง วัดฝั่งหมิ่น จึงหมายถึง วัดที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ ที่ใกล้ชิดติดแม่น้ำและเกือบจะพังลง

เนื้อที่และเขตธรณีสงฆ์

วัดฝั่งหมิ่นมีเนื้อที่ตามหลักฐานทางราชการ (โฉนด) จำนวน ๖ ไร่ ๑ งานเขตธรณีสงฆ์ จำนวน ๑๐ ไร่ ๒งาน รวม จำนวนทั้งสิ้น ๑๖ ไร่ ๓ งาน

โดยรวม ด้วยวัดฝั่งหมิ่น ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย ปัจจุบันทางวัดได้มีการพัฒนาปรับปรุงเสนาสนะและถาวรวัตถุภายในวัดให้มีความเหมาะสมกับการเป็นพุทธสถาน สำหรับปฏิบัติศาสนกิจทางพระพุทธศาสนา ให้เหมาะสมกับกาลเวลาโดยการจัดทำซุ้มประตูพยานาค ๙ ตัว บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารสร้างขึ้นใหม่เป็นแบบทรงล้านนาลงภาพระบายสี หรือจิตรกรรมฝาผนังภายในเป็นตำนานและพุทธตำนาน เริ่มตั้งแต่ อดีตพระพุทธเจ้าที่มีมาแต่เก่าก่อน จนถึงพระพุทธรูป ๒๘ พระองค์ รวมถึงพระสาวกที่มีเอตทัคคะ เป็นเลิศทางด้านอิทธิฤทธิ์ควบคู่ไปกับพระสารีบุตรและพระภิกษุพระภิกษุณีผู้เผยแพร่พระธรรม ๑๐๘ พระองค์ ตลอดถึงประวัติตำนานอื่น ๆรวมทั้งพระพุทธเจ้าเสด็จเลียบโลก ซึ่งครั้งเสด็จถึงดินแดนสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยปัจจุบันมีการสร้างพระเจดีย์ ๙ จอม ไว้เป็นสัญลักษณ์ตามคติความเชื่อว่าพระพุทธองค์เคยเสด็จไปยังสถานที่แห่งนั้น นอกจากนั้นยังมีภาพ ประวัติเเมงสี่หูห้าตา และสถานที่ประทับรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าในพื้นที่เชียงรายอีก ๗ แห่งเป็นต้น นอกจากนี้ปัจจุบันทางวัดได้เปิดบริการให้สาธุชนเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาได้ทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐น. ถึง ๑๕.๓๐น. ในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวเหนือตั้งแต่โบราณ ณ ตึกพิพิธภัณฑ์ ๓ ชั้น โดยเฉพาะชั้นบนสุด จัดแสดงวัตถุโบราณล้ำค่าและพระพุทธรูปเก่าแก่ให้ผู้เข้าชมได้กลับไหว้สักการะบูชาอธิฐานจิตตามปรารถนา จากนั้นผู้เข้าชมวัดสามารถไปสักการะพระเจดีย์ประจำวันเกิดจำลองที่ตั้งอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ ขอพรเจ้าแม่อักษร พระสหายของเจ้าแม่นางนอนซึ่งจิตวิญญาณของพระองค์ท่านสถิตอยู่ ณ ที่ใต้ต้นไทรของวัด  ก่อนเดินทางกลับขอพรจากเทพทันใจเพื่อเดินทาง กลับโดยสวัสดีภาพ