ความเป็นมา

วัดเชียงเพ็ง  ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐  ผู้นำในการสร้างหมู่บ้านและวัดนี้คือ  เชียงเพ็ง  หรือนายเพ็ง  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อวันที่  ๑๓  กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๓๖  เขตวิสุงคามสีมา  กว้าง  ๑๘  เมตร  ยาว  ๔๐  เมตร 

วัดเชียงเพ็ง  ตั้งอยู่เลขที่  ๕๓  บ้านเชียงเพ็ง  หมู่  ๗  ตำบลเชียงเพ็ง  อำเภอป่าติ้ว  จังหวัดยโสธร  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่  ๑๐  ไร่  ๗๕  ตารางวา อาณาเขต  ดังนี้

ทิศเหนือประมาณ  ๓  เส้นจดทางสาธารณประโยชน์  

ทิศใต้ประมาณ  ๒  เส้น ๑ วา  จดทางสาธารณประโยชน์  

ทิศตะวันออกประมาณ  ๓  เส้น  ๒  วา  ๒ ศอก  จดทางสาธารณประโยชน์  

ทิศตะวันตกประมาณ  ๓  เส้น  ๑๕  วา  จดทางสาธารณประโยชน์  

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย  

  – อุโบสถ

  – ศาลาการเปรียญ

  – กุฎีสงฆ์จำนวน  ๔  หลัง 

ปูชนียวัตถุมี  

– พระประธานปูนปั้น ในอุโบสถ ขนาดหน้าตักกว้าง  ๑.๖๐  เมตร  สูง  ๒.๔๓  เมตร  สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๕๑  มีพระนามว่า “หลวงพ่อชัยอินทร์ประสิทธิ์”  

– พระพุทธรูปปูนปั้น  ประดิษฐานใต้ต้นโพธิ์  ขนาดหน้าตัก  ๓.๒๙ เมตร สูง ๕ เมตร  สร้างเมื่อเดือนกรกฎาคม  ๒๕๕๙  มีพระนามว่า พระพุทธเศวตสุวรรณ (หลวงพ่อขาว)  

การบริหารและการปกครอง  มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ  

รูปที่ ๑  พระสอน พ.ศ. ๒๔๓๐ – ๒๔๖๐

รูปที่ ๒  พระดำ พ.ศ. ๒๔๖๐ – ๒๔๗๐

รูปที่ ๓  พระตา พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๔๘๑

รูปที่  ๔  พระสา พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๔๙๐

รูปที่  ๕  พระมี พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๖

รูปที่  ๖  พระบุญนาค พ.ศ. ๒๔๙๖ – ๒๕๐๐

รูปที่  ๗  พระกอง พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๕๐๓

รูปที่  ๘  พระบุญยัง  ชาคโร พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๐๖

รูปที่  ๙  พระสา  สุวณฺโณ พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๑๔

รูปที่  ๑๐  พระสมบูรณ์  ปภสฺสโร พ.ศ. ๒๕๑๔ – ๒๕๓๕

รูปที่  ๑๑  พระปิ่ง  ปริปุณฺโณ พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๔๒

รูปที่  ๑๒  พระครูกิตติสาการ พ.ศ. ๒๕๔๒ – ๒๕๔๘

รูปที่  ๑๓  พระครูสุกิจธรรมากร พ.ศ. ๒๕๔๘ – ปัจจุบัน

พระครูสุกิจธรรมากร   ฉายา  กตธมฺโม  อายุ  ๔๙ พรรษา ๒๑  วิทยฐานะ น.ธ.เอก,  

ศน.บ.,ร.ม. วัดเชียงเพ็ง    ตำบลเชียงเพ็ง   อำเภอป่าติ้ว   จังหวัดยโสธร

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  

๑) เจ้าคณะตำบลกระจาย 

๒) เจ้าอาวาสวัดเชียงเพ็ง

๓) เป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอป่าติ้ว

เรือโบราณ

เรือโบราณมีขนาดยาว  ๒๗.๕๐  เมตร  กว้าง  ๓.๕๐  เมตร  สูง  ๑.๕๐  เมตร  และมีกระดูกงูจำนวน  ๖๘  ข้อ  จัดอยู่ในประเภทเรือกระแซง  หรือเรือหมากกระแซง  คล้ายกับเรือเอี้ยมจุ๊นในภาคกลาง  แต่มีขนาดยาวกว่าเรือเอี้ยมจุ๊นสามเท่า  รูปร่างของเรือเรียวแคบบริเวณหัวท้าย  และกว้างออกบริเวณกลางลำ  บริเวณท้ายเรือมีการปูกระดานกว้างประมาณ  ๒  เมตร  เทคนิคการต่อเรือเป็นแบบข้างกระดานมักพบในอีสาน  โดยจะวางกระดูกงูจากนั้นจะเอาไม้กระดานมาต่อเป็นตัวยึดเรือด้วยตะปูไม้และตะปูเหล็ก  ระหว่างรอยต่อของกระดานจะอุดด้วยฝ้ายหรือด้าย หรือเชือกชุบน้ำมันยางเพื่อไม่ให้น้ำเข้าและเอาชันยาเรือทับอีกชั้นหนึ่ง  ความสมบูรณ์ของเรือที่พบประมาณ  ๘๐ %  และยังมีสภาพแข็งแรง