ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

Wat Chiang Yuen
Wiang Subdistrict, Mueang District, Chiang Rai

ประวัติพระเจ้าสะเปาคำ

พระเจ้าสะเปาคำ เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๑๔ นิ้ว มีความสูงจากฐานองค์พระ ถึงยอดโมลี ๓๑ นิ้วครึ่ง พระเจ้าสะเปาคำ เป็นพระพุทธรูปศิลปะยูนานที่มีความงดงามองค์หนึ่ง

ผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวชุมชนสันโค้งหลวงได้บอกเล่าสืบต่อกันมาถึงความเป็นมาของพระเจ้าสเปาคำ ว่า พระเจ้าสะเปาคำ องค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยช่างจากเมืองเชียงรุ่ง หรือเมืองสิบสองปันนา มลฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้สร้าง ซึ่งชาวเชียงรุ่งมีความเชื่อว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาถึงเมืองสิบสองปันนา เวลารุ่งสว่างพอดี จึงตั้งชื่อ พระพุทธรูปองค์นี้ตามความเชื่อว่า พระเชียงรุ่ง

ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้มีผู้นำพระเจ้าสะเปาคำมาถวายให้กับพระสงฆ์วัดเชียงยืนและเรียกชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระเจ้าสะเปาคำ ตามลักษณะของฐานพระที่คล้ายกับเรือสำเภานั่นเอง

ความเป็นมา

วัดเชียงยืน เป็นวัดที่เก่าแก่เป็นวัดมงคลนามประจำทิศใต้ ของเทศบาลนครเชียงราย เป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่เลขที่ ๗๙ หมู่ ๑๔ ถนนสันโค้งหลวง ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย วัดเชียงยืน มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๑ แปลงเนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๖๙ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๐๘

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ    จรดที่ดินเลขที่ ๑๑ และ ๑๕ ถนนสันโค้งหลวง

ทิศใต้        จรดที่ดินที่มีการครอบครอง

ทิศตะวันออก   จรดที่ดินที่มีการครอบครอง

ทิศตะวันตก          จรดถนนสันโค้งหลวง

วัดเชียงยืน (สังกัดมหานิกาย) เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ตรงกับ จ.ศ. ๑๒๒๙ โดยครูบาจันต๊ะ และได้รับอนุญาตให้เป็นวัดที่ถูกต้อง เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙  

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญแห่งล้านนา ได้เดินทางกลับจากการไปบูรณปฏิสังขรณ์ พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง ได้มาพักที่วัดเชียงยืน และได้บรรพชาให้แก่ เด็กชายคำหล้า – สุภายศ  ต่อมาสามเณรคำหล้า ได้เริ่มสร้างถาวรวัตถุโดยชักชวนชาวบ้านสร้างเจดีย์ ขึ้น ๑ องค์ ไว้ที่หลังพระวิหาร วัดเชียงยืนเป็นองค์แรก และได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระครูบาศรีวิชัย ได้ทำการบูรณะวัดต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือ จึงมีชาวบ้านศรัทธา และได้ยกให้เป็นครูบา มีชื่อเรียกว่า   พระครูบาคำหล้า  สํวโร เป็นต้นบุญแห่งเมืองเชียงราย

วัดเชียงยืน มีเอกลักษณ์เป็นวัดสีแดงมี พระเจ้าสะเปาคำ เป็นพระพุทธรูปคู่วัดคู่บ้านสันโค้งหลวง และวัดเชียงยืน เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวไทเขิน วัตถุเครื่องเขิน ผ้าต้องลาย ตุงนักษัตร  สัปทนล้านนา ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔  และได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้เป็น อุทยานการศึกษาในวัด ปีพุทธศักราช ๒๕๖๓  ปัจจุบันมีพระครูประพัฒน์รัตนพงศ์ เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒๑

ประวัติพระเจ้าสะเปาคำ

              พระเจ้าสะเปาคำ เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๑๔ นิ้ว มีความสูงจากฐานองค์พระถึงยอดโมลี ๓๑ นิ้วครึ่ง พระสะเปา เป็นพระพุทธรูปศิลปะยูนานที่มีความงดงามองค์หนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวชุมชนสันโค้งหลวงได้บอกเล่าสืบต่อกันมาถึงความเป็นมาของพระ สเปา ว่า พระสะเปาองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่นำมาจากเมืองเชียงรุ่ง หรือเมืองสิบสองปันนา มลฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งชาวเชียงรุ่งมีความเชื่อว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาถึงเมืองสิบสองปันนา เวลารุ่งสว่างพอดี จึงตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ตามความเชื่อว่า พระเชียงรุ่ง    ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้มีผู้นำพระพุทธรูปสะเปามาถวายให้กับพระสงฆ์วัดเชียงยืนและเรียกชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระเจ้าสะเปาคำ ตามลักษณะของฐานพระที่คล้ายกับเรือสำเภานั่นเอง

ประวัติบ้านไทเขิน

             สร้างแบบศิลปะร่วมสมัย แบบชาวไทยเขิน(ไตเขิน) ซึ่งเป็นชาวไทยที่อยู่ในอาณาจักรล้านนาโบราณ ได้รับอิทธิพลด้านต่างๆ ของอาณาจักรล้านนาในสมัยนั้นได้แผ่ขยายไปถึงเมืองเชียงตุง และเมืองสิบสองปันนา ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของพม่าและจีนบางส่วน ชาวไทเขินเป็นชุมชนที่รักสงบ มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านศิลปะที่โดดเด่นเฉพาะตัว ลุ่มลึกในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ทำให้ชาวไทเขินในยุคนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ชาติใดในดินแดนแถบนี้

 ในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ จึงได้พร้อมใจกันสร้างวัดเชียงยืน(สันโค้งหลวง) แห่งนี้ขึ้น นอกจากจะเป็นศาสนสถานที่ประกอบพิธีทำบุญทางพระพุทธศาสนา แล้วยังเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความสมัครสมานสามัคคีเป็นปึกแผ่นความเจริญของชุมชนสันโค้งหลวง และประการสำคัญ คือเป็นสัญลักษณ์แห่งการตั้งใจมั่นที่มาตั้งหลักปักฐาน ณ สถานที่แห่งนี้ให้ยั่งยืนทางศิลปะวัฒนธรรมสมกับมงคลนามของวัดว่า  เชียงยืน

ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔

โลกเทวดา หรือ สวรรค์ มี ๖ ชั้น ได้แก่ชั้น จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวดี ชั้นแรกคือ จาตุมหาราชิกา เป็นภูมิที่มีอารมณ์เป็นเลิศ เป็นภูมิที่ดีมีแต่สิ่งสวยงามให้แต่สิ่งที่เป็นเลิศเป็นของทิพย์ ทำให้ผู้ไปเกิดมีแต่ความสุข ความสบาย เสวยแต่ทิพย์สมบัติ ในสวรรค์ชั้นนี้มีเทพผู้ยิ่งใหญ่ปกครองดูแลเหล่าเทวดา คือ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ นาค ยักษ์ นามของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง ๔ คือ

            ๑. ท้าวธตรฐ (ปกครองทิศตะวันออก) 

            ๒. ท้าววิรุฬหก (ปกครองทิศใต้)    

            ๓. ท้าววิรูปักข์ (ปกครองทิศตะวันตก) 

            ๔. ท้าวกุเวร หรือ เวสววัณ (ปกครองครองทิศเหนือ) คอยปกปักรักษาเหล่าเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาให้อยู่เป็นสุข ปลอดภัย

              ท้าวจตุโลกบาล มีความเกี่ยวข้องกับคนไทยทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ที่เรียกว่า ล้านนานั้น มีความเชื่อเคารพนับถือต่อท้าวจตุโลกบาล จนเกิดเป็นวิถีชีวิตในการอยู่ การกิน การอยู่คือก่อนจะอยู่บ้านหลังใหม่ชาวล้านนา จะต้องทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่มาเป็นผู้ปกป้องรักษาคุ้มครองให้บ้านเรือนที่สร้างใหม่ ได้อยู่ดีมีสุข เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย โชคดี การกินคือ ก่อนจะกินจะทำบุญถวายทาน นั้นก็ต้องมีการเวนตานหรือรายงานท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ อัญเชิญให้มารับรู้รับ ทราบอนุโมทนาบุญ ปกปักรักษาเป็นสักขีพยานจดจำบันทึกชื่อไว้ ท้าวจตุ โลกบาลทำให้เกิดพิธีกรรมอีกหลายอย่าง การใช้ภาษา การแต่งดาเครื่องพิธี พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามบ่งบอกถึงวิถีความเชื่อศรัทธาในเทพเทวดาที่ถูกต้องด้วยองค์ความรู้ วิธีการ หลักการในการปฏิบัติจนเกิดเป็นความสุขในชีวิต เป็นรูปแบบระเบียบในการปฏิบัติ