วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม พระอารามหลวง

ตำบลเมืองใต้  อำเภอเมืองศรีสะเกษ  จังหวัดศรีสะเกษ

 

Wat Chiang Ei Si Mongkol Wararam (Phra Aram Luang)

Mueang Tai Subdistrict, Mueang Sisaket District Sisaket Province

ความเป็นมา

วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ตั้งอยู่ในคุ้มบ้านเจียงอี ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ  จังหวัดศรีสะเกษ เหตุที่ได้นามว่า “วัดเจียงอี” เพราะตั้งอยู่ในคุ้มบ้านเจียงอี การตั้งชื่อบ้านชื่อวัดในสมัยก่อนนั้น  นิยมตั้งไปตามชื่อของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดเป็นนิมิตขึ้น  ได้ทราบว่าบ้านเจียงอีประชาชนผู้เป็นเจ้าของถิ่นเดิมเป็นชนชาติไทยเผ่าส่วย  ไทยเผ่านี้มีสำเนียงพูดแปร่งหรือเพี้ยนไปจากเผ่าอื่น ๆ  “เจียงอี”  เป็นภาษาพื้นบ้าน  แยกออกได้เป็นสองศัพท์  “เจียง”  แปลว่า  “ช้าง”  “อี” แปลว่า “ป่วย” รวมความว่า “เจียงอี” แปลว่า ช้างป่วย

ปูชนียวัตถุ

๑. พระประธานในอุโบสถ

๒. พระประธานในวิหารชั้นบน

๓. พระพุทธไสยาสน์

๔. พระแก้วศรีวิเศษ

๕. พระสังกัจจายน์ 

๖. พระสีวลี

ความเป็นมาของโครงการก่อสร้างพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีศรีสะเกษ

ในสมัยที่ พระเกษตรศีลาจารย์  (หนู อุสฺสาโห) เป็นเจ้าอาวาส วัดเจียงอีศรีมงคลวรารามได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านศาสนวัตถุ มีเสนาสนะสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้นมากมาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ผูกสีมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐  เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ยกเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นพระอารามหลวงซึ่งเป็นวัดแรกของจังหวัด      ศรีสะเกษ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔  หลังจากนั้นมา พระเกษตรศีลาจารย์ ได้ดำริก่อสร้างเจดีย์ เพื่อเป็นการสนองพระพุทธประสงค์ ถวายเป็นพุทธบูชา เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ โดยได้ดำเนินการเทรากฐานคอนกรีตไว้แล้ว แต่การก่อสร้างได้หยุดชะงักลง เนื่องจากท่านมรณภาพเสียก่อน

ปี ๒๕๓๒ พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระวิบูลธรรมวาที ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ได้พัฒนาบูรณปฎิสังขรณ์เสนาสนะวัตถุภายในวัดเจียงอีศรีมงคลวรารามขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น บูรณะพระวิหาร  สร้างหอประชุม  สร้างศาลาบำเพ็ญกุศล  ตลอดจนการศึกษาพระภิกษุสามเณร แต่ยังไม่ได้ทำก่อสร้างพระเจดีย์ 

ปี ๒๕๕๒ พระราชกิตติรังษี (บุญทัน สนฺตจิตฺโต)  ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม และย้ายมาครองวัดเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ จึงได้มีการปรับปรุงพัฒนาวัด  ทั้งในส่วนของการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ แทนหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา การบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร การก่อสร้างกุฎีสงฆ์และบูรณเสนาสนวัตถุ เสนาสนสถาน และศาสนสถาน ให้เกิดความเรียบร้อยและเหมาะสมกับฐานะของวัดที่เป็นพระอารามหลวง เป็นไปโดยเรียบร้อย  

การที่จะทำให้พระอารามหลวง ประจำจังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สถาปนาขึ้น มีความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านศาสนวัตถุ ศาสนสถาน และเป็นสัปปายะในกรณียะทางพระพุทธศาสนาทุกด้านนั้น หากได้ร่วมกันสร้างศูนย์รวมพลังศรัทธา รวมพลังจิตใจ รวมพลังศักดิ์สิทธิ์ ของชาวจังหวัดศรีสะเกษ ก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการก่อสร้างพระธาตุขึ้น เพื่อสนองพุทธประสงค์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา  ธรรมบูชา  สังฆบูชา และเพื่อสร้างสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ทางจิตใจและความดีงามของชาวจังหวัดศรีสะเกษ  พระธาตุฯที่จะดำเนินการก่อสร้าง ได้รับการประทานนามจาก เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย    ธมฺมธโช) วัดไตรมิตรวิทยาราม ว่า “พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีศรีสะเกษ” ซึ่งมีนามเช่นเดียวกับพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  พระธาตุฯที่จะสร้าง มีขนาดกว้าง ๒๖.๐๐ เมตร สูง ๓๙.๐๙ เมตร

การศาสนศึกษาและการศึกษาสงเคราะห์

การศึกษาภายในวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ดำเนินการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม  แผนกบาลี และแผนกสามัญ มาโดยตลอด เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙  ทางราชการได้อนุญาตให้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ชื่อ “โรงเรียนศรีเกษตรวิทยา” โดยความดำริของพระเกษตรศีลาจารย์ (หนู อุสฺสาโห) อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ และอดีตเจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ที่ว่า “พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาแล้วได้ศึกษาเฉพาะแต่การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เพียงอย่างเดียว อีกอย่างหนึ่ง การฟัง การอ่าน การพูด การเขียน ก็ไม่เก่งเท่าใดนัก จะเก่งเป็นบางรูปเท่านั้น และพระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาจำพรรษาส่วนมากจะเป็นลูกหลานชาวไร่ ชาวนา ขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษา ทั้งคดีโลกและคดีธรรม”  เริ่มต้นดำเนินการเปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ปัจจุบันเปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖