ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
Wat Pa Kho Wang
Du Tai Subdistrict, Mueang Nan District, Nan Province
ความเป็นมา
ตั้งอยู่ที่ บ้านคอวัง เลขที่ ๘๒ หมู่ที่ ๙ ถนนยันตรกิจโกศล ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๘๔ ตารางวา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ พระครูปทุมภาวนาวิกรม (หลวงพ่อประสพไชย กนฺตสีโล) ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณพระโพธิญาณเถร(ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินธุดงค์มายังจังหวัดน่าน เพื่อโปรดครอบครัวที่อาศัยอยู่ ณ จังหวัดน่าน โดยคณะศิษยานุศิษย์ตั้งใจที่จะจัดหาที่ดินเพื่อจัดสร้างเสนาสนะสำหรับเป็นที่ภาวนา โดยเรื่องการจัดหาที่ดินสำหรับจัดสร้างเสนาสนะดังกล่าวนั้นได้ทราบถึง พระเดชพระคุณพระเทพนันทาจารย์(บุญชู ธมฺมสารมหาเถร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดน่าน อดีตเจ้าอาวาสวัดพญาภู พระอารามหลวง ในครั้นที่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชนันทาจารย์ ได้เมตตาแนะนำให้มาสำรวจดูบริเวณหมู่บ้านคอวัง เนื่องจากยังไม่มีวัดวาอารามใดๆทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อประสพไชย ได้เดินทางมาดูและร่วมพูดคุยกับชาวบ้านคอวังโดยมี ผู้แทนอาวุโสของหมู่บ้าน คือ คุณเฉลียว ศิริมาตย์, คุณสมนึก ลัมยศ (ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น) และคุณสุวรรณ ดวงตา เล็งเห็นพื้นที่ที่เป็นป่าช้าของหมู่บ้าน ซึ่งทุกคนได้เห็นพร้องและยินดีที่จะสร้างวัดในหมู่บ้านคอวัง โดยในระยะแรกเริ่มได้จัดสร้างศาลามุงจาก และกุฏิสำหรับพระภิกษุ จำนวน ๖ หลัง เพื่อให้ทันต่อการอยู่จำพรรษา และในช่วงเข้าพรรษา พ.ศ. ๒๕๒๘ นั้นได้มีพระภิกษุมาอยู่จำพรรษา จำนวน ๖ รูป โดยมีพื้นที่ใช้สอยแรกเริ่มประมาณ ๘ ไร่ และได้ตั้งชื่อว่า สำนักปฏิบัติธรรมวังวิโมกข์ ซึ่งถือว่าเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่มีพระถือธุดงควัตร แห่งแรกของจังหวัดน่าน
จนในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ คุณอนันต์ ธุวะนุติ รับมอบหมายจากครอบครัวร้านศรีคำ ครอบครัวธุวะนุติ ตลอดจนคณะศรัทธาบ้านคอวัง ให้ดำเนินการจัดตั้งวัดวังวิโมกข์ แต่ได้รับการประสานเพื่อขอให้แก้ไขเนื่องจากชื่อวัดต้องเป็นไปตามนโยบายของมหาเถรสมาคม จึงได้ชื่อว่า วัดคอวัง โดยจัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๐ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๕ และในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ ท่านพระครูปทุมภาวนาวิกรม (หลวงพ่อประสพไชย กนฺตสีโล) ได้เดินทางกลับไปดูแลวัดปทุมภาวนาราม(วัดฟ้าคราม) จังหวัดปทุมธานี จึงได้มอบหมายแต่งตั้งให้ พระครูสุนทรวรนาถ (นเรศ สุรนาโถ) เป็นเจ้าอาวาสเพื่อรับเป็นธุระในการดูแลและปฏิบัติศาสนกิจต่างๆตลอดมา โดยได้พัฒนาเสนาสนะจากพื้นที่ ๘ ไร่ เป็นพื้นที่ประมาณ ๑๗๖ ไร่ในปัจจุบัน และได้จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่เปิดให้พุทธศาสนิกชนได้เข้ามาฝึกปฏิบัติ ตลอดจนให้กุลบุตรลูกหลานได้เข้ามาเรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติของพระกรรมฐาน และในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อวัด เป็น วัดป่าคอวัง เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของวัดที่เป็นป่าร่มรื่น และข้อวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์วัดป่าคอวัง
อาณาเขตวัด
ทิศเหนือ จรดป่า
ทิศใต้ จรดทางเดิน
ทิศตะวันออก จรดป่า
ทิศตะวันตก จรดป่า
ที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๑๑แปลง มีเนื้อที่รวม ๓๒ ไร่ ๓๘๔ ตารางวา
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย
๑. อุโบสถ กว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๓ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
๒. ศาลาการเปรียญ กว้าง ๓๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นอาคาร คอนกรีตเสริมเหล็ก
๓. หอสวดมนต์
๔. วิหาร
๕. ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง ๕ เมตร ยาว ๔๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
๖. ศาลาบำเพ็ญกุศล กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นอาคารไม้
๗. กุฏิสงฆ์ จำนวน ๒๓ หลัง
๘. อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน ๕ หลัง
๙. อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน ๘ หลัง อาคารไม้ จำนวน ๑๐ หลัง
นอกจากนี้มีอาคารเสนาสนะต่างๆ ดังนี้
๑. ฌาปนสถาน จำนวน ๑ หลัง
๒. หอระฆัง จำนวน ๑ หลัง
๓. หอกลอง
๔. โรงครัว จำนวน ๑ หลัง
๕. เรือนเก็บพัสดุ จำนวน ๒ หลัง
๖. เรือนรับรอง ๓ หลัง
๗. เรือนไฟ (ชันตาฆรวัตร), เรือนย้อมผ้า (ที่สำหรับซักย้อมผ้าของพระภิกษุ)
๘. ห้องสุขา
ปูชนียวัตถุ
– พระประธานประจำอุโบสถ ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๕๙ เมตร สูง ๓ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓
– พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางห้ามญาติ ขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๙ เมตร สูง ๓ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๗ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
– เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด
– เป็นหน่วยอบรมประจำตำบล (อ.ป.ต.)
– ผลงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา (เช่น เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น วัดที่ขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านศีล ๕ ดีเด่น/อ.ป.ต. ดีเด่น หรืออื่น ๆ)
การบริหารและการปกครอง
มีเจ้าอาวาสมาแล้ว ๒ รูป ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
ลำดับที่ ๑ พระประสพไชย กนฺตสีโล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๔
ลำดับที่ ๒ พระครูสุนทรวรนาถ (นเรศ สุรนาโถ) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงปัจจุบัน
พระแก้วสมใจนึก
The Emerald Buddha Statue
พระแก้วสมใจนึก องค์พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ทรงเครื่องฤดูร้อน แกะสลักด้วยหินเขียวจากประเทศอิตาลีสลักลายพรรณดอกไม้ลอยนูน ประดับอัญมณีหลากสี ฝังลูกปัดงามตระการตา หน้าตัก ๑.๕๙ เมตร สูงจากฐานถึงเกศบัวตูม ๓ เมตรน้ำหนัก ๖ ตัน สร้างเมื่อวันที่ ๑๙ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ผีมือแกะสลัก โดยกลุ่มช่าง เวียงพางคำ จังหวัดเชียงรายพระอัครสาวก พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ งานศิลปะแกะด้วยหินเขียวอิตาลี ซึ่งเป็นก้อนเดียวกับที่ใช้แกะสลักพระแก้วสมใจนึกฐานกว้าง ๐.๗ เมตร สูง ๑.๒๕ เมตร น้ำหนัก ๒ ตัน โดยกลุ่มช่างเวียงพางคำเช่นกันซุ้มแท่นพระพุทธรูปด้านหลัง ซุ้มแท่นพระตั้งอยู่บนฐานซีเมนต์บุไม้สองชั้น เป็นงานศิลปะพม่า แกะสลักไม้สักฉลุลงรักปิดทองคำเปลวพร้อมประดับกระจกสี และอัญมณีที่วิจิตร ด้วยลักษณะของแท่นปิดทองจะมีแสงสว่างเปล่งประกายประหนึ่งฉัพพรรณรังสี ให้พระแก้วสมใจนึกดูสดใสสง่างาม