
วัดในพุทธศาสนา หมายถึง ศาสนสถานอันเป็นที่อยู่ของพระรัตนตรัย และเป็นสถานที่สำหรับพุทธศาสนิกชนเข้าไปประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็น ศาสนพิธี เช่น การฟังธรรม และ ไม่ใช่ศาสนพิธี เช่น การประชุมสัมมนาที่ใช้วัดเป็นสถานที่จัดงาน เพราะเห็นว่ามีสถานที่กว้างขวาง มีวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องครบพร้อม ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัย มหาวรรค ภาค ๑ ได้กล่าวถึง การเกิดขึ้นของวัดแห่งแรกในพุทธศาสนาว่า พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธ ทรงถวายพระราชอุทยานสวนไผ่ นอกกำแพงเมืองราชคฤห์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดี (ปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) แด่พระศาสดาให้เป็นวัดแรกในพุทธศาสนา ชื่อว่า วัดเวฬุวันมหาวิหาร หรือ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ก็ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ภิกษุรับถวายอาราม (วัด) ได้ด้วยเหตุนี้ ในพื้นที่ที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปถึงจึงมีพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาแรงกล้าร่วมกันสร้างวัดถวายไว้ในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก การสร้างวัดในครั้งโบราณกาล เมื่อประชาชนที่มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนา ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใดก็ตาม มักจะสร้างวัดขึ้นเพื่อให้เป็นที่ยึดเหนียวจิตใจและประกอบศาสนกิจตามความเชื่อประเพณีสืบต่อกันมา

น่าน เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีตคู่กับประวัติศาสตร์การสร้างเมืองน่าน ดังปรากฏในพงศาวดารนครน่าน กล่าวถึงพระยาครานเมือง เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๔ ได้ไปช่วยพระยาสุโขทัยสร้าง วัดหลวงอภัย ในปีจุลศักราช ๗๑๕ (พ.ศ.๑๘๙๖) ครั้นเสร็จแล้วพระยาสุโขทัยได้มอบพระบรมสารีริกธาตุ ๗ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ พระพิมพ์คำ ๒๐ องค์ ภายหลังได้สร้าง พระธาตุแช่แห้ง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมทั้งพระพิมพ์ที่ได้มานั้น การมีอยู่ของวัดในพุทธศาสนาของเมืองน่านก่อนหน้านี้ปรากฏหลักฐานว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ปี พ.ศ. ๑๕๓๘ มีการสร้าง วัดพญาวัด ซึ่งเป็นวัดในพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคแรกเริ่มความเป็นนครรัฐของน่าน ช่วงเวลาต่อจากนั้นมามีการสร้างวัดในพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นถึงความศรัทธาของชาวน่านและความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในพื้นที่จังหวัดน่าน ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (๒๕๕๙) พบว่ามีวัดในพื้นที่จังหวัดน่านทั้งหมดจำนวน ๔๓๔ วัด


วัดในพระพุทธศาสนาแห่งแรกของพื้นที่อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ คือ วัดพญาวัด สร้างในปี พ.ศ. ๑๕๓๘ การสร้างวัดของพื้นที่อำเภอเมืองน่านมีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึง ๒๑ มีจำนวนวัดที่สร้างรวมทั้งหมด ๘ วัด เว้นเฉพาะพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างวัดในพื้นที่ วัดที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับเมืองน่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ วัดพระธาตุช้างค้ำ และ วัดพญาภู ในฐานะวัดพระอารามหลวงและที่ตั้งของสำนักศาสนศึกษาประจำจังหวัดน่าน นอกจากนั้นยังพบว่าการสร้างวัดมีการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ตำบลในเวียง ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองเก่าน่าน และกระจายตัวไปตามการย้ายเมืองในช่วงพุทธศตวรรษ ๑๕ ถึง ๒๑ การสร้างวัดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึง ๒๕ ของพื้นที่อำเภอเมืองน่านมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ มีจำนวนถึง ๖๕ วัด วัดที่สร้างมีการกระจายตัวไปทางด้านทิศใต้ และทิศตะวันตกของตำบลในเวียงในช่วงของพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึง ๒๓ ตามด้วยการกระจายตัวของวัดไปยังพื้นที่ตำบลต่าง ๆ ของพื้นที่ด้านทิศตะวันตก และทิศเหนือในช่วงของพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึง ๒๕ วัดป่าปัญญาวุธาราม คือ วัดที่สร้างใหม่ล่าสุดของพื้นที่อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

ปัจจุบันวัดในพระพุทธศาสนานอกจากเป็นศาสนสถานที่ชาวพุทธเข้าไปทำกิจทางศาสนาแล้วยังเป็นศูนย์รวมที่เก็บรักษาและจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของชาติและท้องถิ่นเอาไว้ ดังนั้นจึงเป็นสถานที่คนทั่วไปสนใจเข้าไปเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้ วัดในจังหวัดน่านส่วนใหญ่จะมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองและเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมชุมชนโดยรอบจึงเป็นอีกสถานที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และนอกจากนั้นน่านยังได้รับยกย่องว่าเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต มีวิถีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ซึ่งปัจจุบันได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบงานด้านการท่องเที่ยว
