ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง

Wat Chong Kham Ban Huat Subdistrict, Ngao District, Lampang Province

ความเป็นมา

           ในอดีตวัดจองคำแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสง่างาม เป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วม ๑๐๐ ปี แต่ได้ถูกปล่อยให้รกร้างมาเป็นเวลานาน เนื่องจากขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคถึงขั้นวิกฤต จนกระทั่งได้มีการย้ายวัดมาสร้างในสถานที่ปัจจุบันและมีพระภิกษุมาจำพรรษาเป็นครั้งคราว  ผ่านกาลเวลามาหลายยุคหลายสมัย ทั้งรุ่งเรืองและทรุดโทรม ก่อนจะกลับมารุ่งเรือง อีกครั้งในยุคของ 

พระเดชพระคุณพระเทพปริยัติมงคล (โอภาส โอภาโส) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

ด้านประวัติศาสตร์ 

  วัดจองคำสร้างขึ้นเมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๔๔๖ ซึ่งเป็นสมัยของเจ้าบุญวาทย์  วงศ์มานิต 

 เจ้าผู้ปกครองนครลำปางองค์สุดท้าย โดยกลุ่มคหบดีชาวไทยใหญ่ที่ทำงานในบริษัทบอมเบย์ พราซ่า (Bombay Prasa Company) ซึ่งเป็นบริษัทของชาวอังกฤษที่เข้ามารับสัมปทานทำป่าไม้ในเขตอำเภองาว ซึ่งเป็นแหล่งที่มีไม้สักทองที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของภาคเหนือ เมื่อคนเหล่านั้นห่างไกลถิ่นฐานเดิมมานาน จึงต้องการที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงได้ร่วมมือกันสร้างวัดขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ทำบุญและยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ และได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดจองคำ จากนั้นจึงได้กราบอาราธนาท่านพระนันโท มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

    คำว่า จองคำ เป็นภาษาไทยใหญ่ มาจากคำสองคำคือ คำว่า จอง แปลว่า วัด,วิหาร,หรืออาราม, และคำว่า คำ แปลว่า ทอง (สุวรรณ) เมื่อรวมกันเข้าจึงแปลว่า  วัดทองคำ  (สุวรรณวิหาร,สุวรรณาราม) ซึ่งมีความหมายว่า วัดที่สง่างามรุ่งเรืองดุจทองคำ และผู้สร้างเป็นผู้มั่งคั่งร่ำรวยและ    มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ดุจทองคำแม้ผ่านกาลเวลาไปสีก็ไม่เศร้าหมอง ยังฉายรัศมีแวววาวดังเดิม 

               เนื่องจากบริเวณที่ตั้งเดิมของวัด เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๔๘ โดยการนำของพ่อเลี้ยงพะกะหม่อง หมอกเรืองใส และพ่อเลี้ยงญาณะ มาลาโยงพร้อมด้วยคณะกรรมการวัดและผู้มีจิตศรัทธาได้ประชุมตกลงย้ายวัดลงมาสร้างใหม่ ณ บริเวณใกล้ที่ตั้งสถานีอนามัยตำบลบ้านหวดในปัจจุบัน 

 ปีพุทธศักราช ๒๔๗๒ พ่อเลี้ยงพะกะหม่อง หมอกเรืองใส และพ่อเลี้ยงญาณะ มาลาโยง  พร้อมด้วยประชาชนผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันสร้างพระวิหารหลังใหญ่ ศิลปะแบบล้านนา มีมุขและปราสาท ๕ หลัง สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ ๓ ปี และได้จัดงานฉลองพระวิหารในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ในช่วงเวลาที่กำลังก่อสร้างพระวิหารอยู่นั้น ท่านพระนันโท เจ้าอาวาสรูปที่ ๑ ได้ลาสิกขาไป หลังจากที่ได้ก่อสร้างพระวิหารเสร็จแล้ว คณะศรัทธาจึงได้กราบอาราธนาท่านพระเญยยธัมโมมาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ หลังจากที่ท่านพระเญยยธัมโมมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ปีเศษ ท่านได้ถึงแก่มรณภาพลง 

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ พ่อเลี้ยงพรหมมินทร์ กาญจนวงศ์ พร้อมด้วยพ่อเลี้ยงองค์ไก่  กาญจนวงศ์บุตรชาย ได้สร้างถวายพระพุทธเจดีย์ขึ้น มีเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ตรงกลางฐาน และเจดีย์องค์เล็ก ๔ องค์อยู่ตามทิศทั้ง ๔ มุม ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ ๒ ปี และได้จัดงานฉลองในปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ โดยยกยอดฉัตรเจดีย์ทั้ง ๕ องค์ 

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ พ่อเลี้ยงองค์ไก่  กาญจนวงศ์ ได้สร้างถวายศาลาการเปรียญขึ้น ๑ หลัง และในปีเดียวกันนั้น ท่านพระเญยยธัมโม เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ได้ถึงแก่มรณภาพลง หลังจากนั้นคณะกรรมการวัดและทายกทายิกาจึงได้อาราธนาท่านพระคันธมา มาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๓  

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๗ พระวิหารหลังใหญ่ของวัดได้ถูกย้ายไปปลูกสร้างที่เมืองโบราณ บางปู สมุทรปราการ และต่อมาไม่นาน ท่านพระคันธมา เจ้าอาวาสก็ได้มรณภาพลง 

เมื่อท่านพระคันธมา เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ได้มรณภาพลงแล้ว หลังจากนั้นไม่มีพระภิกษุมาอยู่จำพรรษาเลย มีแต่พระภิกษุมาพำนักอยู่เป็นครั้งคราว ๑ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้างเท่านั้น จึงทำให้เสนาสนะภายในวัดทรุดโทรมลงตามลำดับ 

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ โดยทางคณะเจ้าภาพเมืองพระ พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดและทายกทายิกาได้กราบอาราธนาหลวงปู่โอภาส โอภาโส มาอยู่จำพรรษาและดูแลวัดเป็นลำดับมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อหลวงปู่โอภาส โอภาโสรับนิมนต์มาจำพรรษาที่วัดจองคำซึ่งมีสภาพเป็นวัดร้าง   ในขณะนั้น มีเนื้อที่เพียง ๓ ไร่ สภาพรกร้างมีแต่ตอไม้และหญ้าขึ้นปกคลุมบริเวณ พื้นที่เป็นลุ่ม เป็นดอนสิ่งปลูกสร้างเดิมมีสภาพปรักหักพัง ยกเว้นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนและสมัยสุโขทัยที่ประดิษฐานงดงามอยู่ ด้วยสภาพเช่นนั้นจึงยากที่พระสงฆ์ใหม่จะมาจำพรรษาอยู่ได้ แต่ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าและความมุ่งมั่นต่อการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นในวัดจองคำ หลวงพ่อจึงได้ลงมือแผ้วถางพื้นที่โดยรอบ พอทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว หลวงปู่จึงได้เริ่มต้นการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ขึ้นก่อนซึ่งเปรียบเหมือนหลักชัยของพระพุทธศาสนา แม้ว่ากุฏิเสนาสนะที่จำวัดจะผุพังลง  เพราะขาดศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนในละแวกนั้นที่จะให้การสนับสนุนเรื่องปัจจัย ๔ เนื่องจากปัญหาด้านภาษาซึ่งเป็นอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร อีกทั้งไม่มีลูกศิษย์ที่จะช่วยสนองงานด้านต่าง ๆ  ในเวลานั้นความยากลำบากจึงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ 

จากการบูรณะพัฒนาวัดอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้วัดจองคำได้รับการยกย่องจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นอุทยานการศึกษา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างมีผลงานดีเด่น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ และในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ได้รับการพิจารณายกฐานะจากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงตามลำดับ

ด้านภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อม 

ส่วนภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมวัดจองคำ (พระอารามหลวง) นั้นตั้งอยู่เลขที่ ๒๒๑ หมู่ที่ ๖ ถนนพหลโยธิน ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง รหัสไปรษณีย์ ๕๒๑๑๐ มีสถานะเป็นวัด พระอารามหลวง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐ มีเนื้อที่จำนวน ๒๗๔ ไร่ ๓ งาน ๕๐ ตารางวา แบ่งออกเป็น ๓ แปลง ได้แก่ แปลงที่ ๑ เป็นรูป ๑๐ เหลี่ยมเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์สิทธิชัยมงคล พระอุโบสถศาสนวิบูลการี พระวิหารชัยภูมิ ศาลาน้ำใจโสภณ เมตตานุการี หอสมุดอาทรปชากิจ และกุฏิสงฆ์ต่าง ๆ แปลงที่ ๒ เป็นรูป ๖ เหลี่ยม เป็นที่ตั้งของศาลานพมุตตมานุสรณ์ปริยัติสุนทรรังสฤษฎิ์ โรงเรียนพระปริยัติธรรมสาสนปชานุสนธิ์ อาคารเรียนเพิ่มเติม กุฏิปริยัติรังสีและบ่อน้ำบาดาล แปลงที่ ๓ เป็นรูป ๑๐ เหลี่ยมเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์พุทธคยา, พระวิหารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์,บ่อน้ำบาดาล และพระอุโบสถศาสโนทัย

สภาพรอบนอกของวัด เป็นเขตภูเขา มีภูเขาล้อมรอบซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกะทะ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธารและมีป่าไม้ล้อมรอบ มีลักษณะเป็นที่ราบ บางส่วนก็เป็นที่ดอย เพราะสภาพภูมิประเทศของวัดมีป่าไม้ล้อมรอบแล้วยังประกอบไปด้วยลำน้ำต่าง ๆ จึงทำให้มีอากาศค่อนข้าง    เย็นสบาย ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม มี ๓ ฤดูกาล ได้แก่  

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ย ๓๘-๓๙ องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด ๔๐.๑ องศาเซลเซียส 

ฤดูฝน    เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ระดับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ๑,๐๗๖.๘ มม./ปี 

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย ๑๓–๑๕ องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด ๘ องศาเซลเซียส 

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ               จรดสถานีอนามัยตำบลบ้านหวด และที่ดินของเอกชน 

ทิศใต้                  จรดที่ดินของเอกชน 

ทิศตะวันออก         จรดถนนพลโยธิน (สายเอเชีย) 

     ทิศตะวันตก           จรดติดที่ดินของเอกชน และทางสาธารณประโยชน์ 

ด้านการปกครอง 

ในสมัยก่อนวัดจองคำ (พระอารามหลวง) ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปางแห่งนี้   ยังไม่มีผู้นำที่เป็นทางการ โดยมีแต่พระภิกษุมาจำพรรษาเป็นครั้งคราวแล้วก็ไป จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ พระเดชพระคุณหลวงปู่พระเทพปริยัติมงคล ได้เที่ยวจาริกแสวงบุญมาจำพรรษาที่วัดจองคำ และได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นจากวัดร้างจนกระทั่งได้เป็นพระอารามหลวงและจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 

รายนามเจ้าอาวาส ดังนี้  

๑. พระนันโท             พ.ศ. ๒๔๔๖ – ๒๔๗๔ 

๒. พระเญยยธัมโม      พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๔๗๙ 

๓. พระคันธมา            พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๕๑๗ 

๔. พระเทพปริยัติมงคล (โอภาส โอภาโส)  พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึงปัจจุบัน 

ประวัติเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน 

               วัดจองคำจะเจริญรุ่งเรืองด้านภาษาบาลีไม่ได้ ถ้าขาดผู้นำที่ดี มีคุณภาพและมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการ หลวงปู่พระเทพปริยัติมงคล (โอภาส โอภาโส) เป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีประสบการณ์ด้านภาษาบาลีและเสียสละมีศรัทธาต่อพระศาสนาเป็นอย่างมาก ท่านหวังให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นอยู่ยั่งยืนจึงได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีขึ้นที่วัดจองคำเพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้มีโอกาสทางการศึกษา และต้องการให้พระภิกษุสามเณรเป็นผู้รักษาพระธรรมวินัยไม่ให้คลาดเคลื่อน หรือสูญหาย ต้องการให้เป็นผู้มความรู้ด้านพระศาสนา

๑. ชื่อ  พระเทพปริยัติมงคล (โอภาส โอภาโส อายุ ๙๐ พรรษา ๗๐ วิทยฐานะ นักธรรมเอก, ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์, พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์, วัดจองคำ ตำบลบ้านหวดอำเภองาว จังหวัดลำปาง ๕๒๑๑๐ 

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง 

๑. เจ้าอาวาสวัดจองคำ พระอารามหลวง

๒. ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖

๓. ผู้อำนวยการโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดลำปาง แห่งที่ ๑  วัดจองคำ 

๔. ผู้อำนวยการศูนย์พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดจองคำ 

๕. ประธานมูลนิธิอาทรปชากิจอุปถัมภ์ 

๒. สถานะเดิม  

ชื่อ โอภาส นามสกุล หงส์ เกิดวัน ๑๑๕ฯ  ๓ ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ ๕ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ บิดาชื่อ นายหว่า หรือ ต๊ะ นามสกุล หงส์ มารดาชื่อ นางสองจ่า นามสกุล หงส์ ณ บ้านเลขที่ ๓๔ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา 

๓. อุปสมบท  

วัน ๗ ๑๕ ๖ ตรงกับวันเสาร์ที่ ๓ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ณ วัดหลวง ตำบลหลวงเหนือ อำเภองาว จังหวัดลำปาง  

พระอุปัชฌาย์ พระครูวิทิตธรรมคุณ วัดหลวง ตำบลหลวงเหนือ อำเภองาว จังหวัดลำปาง 

พระกรรมวาจาจารย์ พระครูสิทธิญาณโสภณ วัดปงคก ตำบลหลวงเหนือ อำเภองาว จังหวัดลำปาง 

พระอนุสาวนาจารย์ พระครูสารพิพัฒน์ วัดปงคก ตำบลหลวงเหนือ อำเภองาว จังหวัดลำปาง 

๔. วิทยฐานะ  

พ.ศ. ๒๔๙๓ สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนงาวภาณุนิยม อำเภองาว จังหวัดลำปาง  

พ.ศ. ๒๕๓๗ สอบได้นักธรรมเอก สำนักศาสนศึกษาวัดจองคำ  

พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้รับปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขา บริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 

พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขา บริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขา บริหารการศึกษา        จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 

การศึกษาพิเศษ มีความรู้พิเศษทางภาษาอังกฤษ มีความชำนาญทางด้านการก่อสร้าง ออกแบบแผนผังพระอุโบสถ วิหาร และมีความชำนาญในด้านการอนุรักษ์วัตถุโบราณ 

๕. สมณศักดิ์ 

พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ในราชทินนาม “พระครูอาทรปชากิจ” 

พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาส      วัดราษฎร์ ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม 

พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระปริยัติสุนทร” 

พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชปริยัตโยดม” 

พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ “พระเทพปริยัติมงคล” 

๖. เกียรติคุณที่ได้รับ  

พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดจองคำ 

พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นประธาน อ.บ.ต. บ้านหวด 

พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นเจ้าคณะตำบลหลวงเหนือ – แม่ตีบ 

พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ 

พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดลำปาง 

พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดจองคำ พระอารามหลวง

        การปกครองภายในวัดจอง คำเนื่องจากเริ่มแรกมีการขยายอาณาเขตของวัดใหญ่มากขึ้น จึงได้แบ่งการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พี่ปกครองน้องด้วยการให้มีอาจารย์ประจำกุฏิแต่ละแห่งดูแลสามเณรที่อาศัยอยู่ในกุฏิของตนทุกชั้นประโยคเพื่อประโยชน์ในการปกครองสามเณรได้ง่ายและทั่วถึง อาจารย์ผู้ดูแลแต่ละที่จะทำหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ คอยประสานงาน ปรึกษากัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาวัดและคอยประสานงานกับคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของวัด จนกระทั่งในปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ มีสามเณรมาศึกษาเล่าเรียนเพิ่มมากขึ้น ทำให้กุฏิที่พักไม่เพียงพอ ทางวัดจึงได้สร้างอาคารที่พักหลังใหม่ขึ้นโดยชื่อว่า อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นอาคาร ๒ ชั้น มี ๙๐ ห้องนอน ซึ่งเพียงพอต่อจำนวนสามเณรและง่ายในการปกครองดูแล